เหรียญย่อมมี 2 ด้าน ไม่ว่าเรื่องใดๆ ย่อมมีมุมสะท้อนและมุมตกกระทบอย่างน้อย 2 ขั้วเสมอ ดี-ร้าย ไม่เว้นแม้แต่เรื่อง "ลอยกระทง" หรือ "เลิกลอยกระทง" แล้วคุณละ เห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ ? ไปต่อหรือพอแค่นี้ ถ้าไปต่อ ต้องปรับตัวอะไรบ้าง ในวันที่โลกมุ่งหน้าสู่การ keep the World
ในช่วงเวลาใกล้ๆ วันเพ็ญเดือน 12 หรือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ซึ่งปีนี้ ปี 2022 จะตรงกับ วันอังคารที่ 8 พ.ย. 2565 มักจะมีประเด็นชวนให้ขบคิดตามมาเสมอว่า "ลอยกระทง" มันขัดแย้งกับเทรนด์รักษ์โลก ที่มันกำลังดำเนินไปหรือไม่ ? เพราะหาก "ถอดปัจจัย" ทุกอย่างออกทั้งหมด แล้วพิจารณาดูอย่างถี่ถ้วน ถึงการกระทำจริงๆ "ลอยกระทง" คือการ นำวัสดุ หรือเพิ่มเข้าไปใน "แหล่งน้ำ" ... หากคำตอบคือสิ่งนี้ เรื่องนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการ เพิ่มขยะ ลงไปในแหล่งน้ำ ...แล้วมันคือการ กรีดแทงธรรมชาติให้เป็นแผลเพิ่มขึ้นหรือไม่ ? คำตอบของเรื่องนี้ คงอยู่ในใจทุกคนแตกต่างกันไป
ทั้งนี้ เพจ Facebook ด้านสิ่งแวดล้อม ขยะมรสุม Monsoongarbage Thailand แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ ข้อความตอนหนึ่งว่า "มนุษย์เป็นสปีชี่ส์ที่แปลกมากๆ เราบูชาสิ่งที่มองไม่เห็นแต่กลับทำลายสิ่งแวดล้อมที่เห็นอยู่ตำตา กระทงที่ลอยไป สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศทุกๆปี กระทงขนมปังมากเกินไปกินไม่หมดปลาก็ตายน้ำก็เสีย ตอนลอยนั้นง่าย ตอนเก็บไม่ง่ายเลย นี่คือการลอยในแหล่งน้ำปิด ทำให้สามารถจัดเก็บได้เกือบ100%"
จะเห็นได้ว่า ข้อความดังกล่าว มีการกระตุ้นให้ผู้คนหยุดคิด หยุดเฉลียวใจ พิจารณาดูว่า การลอยกระทงนั้น เป็นการสืบสานสิ่งที่ทำกันอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนานมาก็จริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันก็ทำลายทำร้าย "สิ่งแวดล้อม" ที่เห็นอยู่ตรงหน้าเช่นกัน
ส่วนประเด็น เรื่องการสืบสาน "ประเพณี" ที่อ้างต่อๆกันมาล่ะ ? ลอยกระทง มีมานานแล้ว จริงหรือไม่ ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
10 ประเทศทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเลปริมาณมากที่สุด ไทยรั้งอันดับ 5
ลอยกระทง 2565 ที่ไหนดี เช็กสถานที่จัดงาน “กทม.-ททท.-เอกชน” มีกิจกรรมเพียบ
• ประวัติ วันลอยกระทง
หนังสือเรื่องลอยกระทง ที่จัดพิมพ์โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า ลอยกระทงเป็นพิธีเพื่อขอขมาต่อธรรมชาติ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับ "ผี" โดยไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนว่าเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อไร เพราะเมื่อชีวิตผู้คนต่างอยู่รอดโดยพึ่งพาน้ำและดินมาแต่อดีต ดังนั้นผีน้ำและผีดิน ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า "แม่พระคงคา"และ "แม่พระธรณี" จึงได้รับการจัดพิธีขอขมาจากชาวบ้านที่อาจล่วงเกินไปเมื่อใกล้สิ้นสุดปีนั้น ๆ ทำให้วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 12 ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุด และถือเป็นการสิ้นสุดปีนักษัตรเก่า ถูกเลือกเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด
ต่อมาเมื่อดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มรับอิทธิพลของศาสนาพุทธ-พราหณ์จากอินเดียเมื่อราว 2,000 ปีก่อน เอกกสารของลาลูแบร์ จึงมีการบันทึกไว้ถึงความหมายที่เปลี่ยนไปของการลอยกระทงที่เกิดขึ้นในราชสำนักของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งให้ความหมายถึงการบูชาพระพุทธเจ้าและเทวดา แต่สำหรับชาวบ้านนั้นก็ยังคงปฏิบัติเช่นเดิม
ขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์ เคยแสดงความคิดเห็นในบทความ "ลอยกระทง ประเพณีประดิษฐ์เพิ่งมีในวัฒนธรรมป๊อป" ระบุว่า “ลอยกระทง” ชื่อนี้พบครั้งแรกในเอกสารสมัย ร.3 กรุงรัตนโกสินทร์ ไม่เคยพบในจารึกสมัยกรุงสุโขทัย , นางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นหนังสือนิทาน (ใช้ฉากกรุงสุโขทัย) แต่งสมัย ร.3 ดังนั้น ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงจึงไม่เคยมีประเพณีลอยกระทง , ส่วน ตระพัง คือ สระน้ำในเมืองสุโขทัย ไม่ได้เก็บน้ำไว้ลอยกระทง แต่กักเก็บน้ำใช้ในวัดกับในวัง ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะสุโขทัยตั้งบนที่ดอนเชิงเขา เป็นเมืองแล้งน้ำ
ดังนั้น จากหลักฐานเท่าที่มี จะพบว่า "ลอยกระทง" ไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำกันมายาวนานในไทย ถึงหลัก 1,000 ปี ...โดยย้อนไปไกลสุดที่เจอหลักฐานก็คือนยุคต้นรัตนโกสินทร์ (ส่วนจะย้อนไปได้ไกลกว่านั้นหรือไม่ คงต้องรอหลักฐานที่พิสูจน์ได้)
ในช่วงเวลาที่เข็มนาฬิกาทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ ประเพณีใหญ่ของไทยมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด ตามเงื่อนไขและบริบทในช่วงเวลานั้น ประเพณีลอยกระทงที่หลายคนอาจไม่ได้ให้ความสำคัญในแก่นของมัน เพราะผู้คนในไทย ไม่ได้ยึดโยงกับความเชื่อเรื่องพระแม่คงคา อีกหลายคนเลือกที่จะไม่ลอยกระทงเพราะไม่อยากเพิ่มขยะในแม่น้ำลำคลอง
ขณะที่ ฝั่งที่สนับสนุนให้มีการ "ลอยกระทง" ต่อไป อาจจะมองว่า "ลอยกระทง"นั้น เป็นอีเวนต์ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยเงินนอกบ้าน แม้ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ถือเป็นอีเวนท์ที่ทำเงินให้กับแหล่งชุมชนต่างๆทั่วประเทศไม่น้อยเลย
• ขยะกระทง มีแนวโน้มลดลง
ระยะหลัง ที่เทรนด์รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม กำลังได้รับความสนใจ ในช่วงประเพณีลอยกระทง มีการ พูดถึง จำนวนกระทงในทุกๆพื้นที่ โดยเฉพาะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดเก็บได้ในเช้าวันรุ่งขึ้น มาหลายปีแล้ว
กทม. เปิดเผยปริมาณกระทงที่ถูกจัดเก็บภายหลังงานประเพณีย้อนหลังช่วง 8 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีปริมาณลดลงตามลำดับ จากเหตุที่ประชาชนมีความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบกระทงที่ทำจากโฟมลดลงเหลือไม่ถึง 20,000 ใบ
ส่วนในปีที่แล้ว 2564 , กทม.สรุปสถิติยอดจัดเก็บกระทงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 403,235 ใบ ลดลงจากปีที่แล้วกว่า 80,000 ใบ กระทงส่วนใหญ่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ พบเขตจตุจักรมีปริมาณกระทงมากที่สุด 12,595 ใบ หลังคัดแยกกระทงแล้วจะส่งไปยังโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ต่อไป
• ลอยกระทง 2565 แบบไหนในยุคสิ่งแวดล้อม ถาโถมซัดกระหน่ำเป็นพายุ
ไอเดียสร้างสรรค์ในการลอยกระทงทางเลือกที่มีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งลดปริมาณขยะจากวัสดุทำกระทงและลดการสร้างมลพิษในแหล่งน้ำ ล้วนเป็นความคิดที่น่าสนใจ และอาจนับได้ว่าเป็นความกล้าได้ด้วย เพราะในอีกมุมหนึ่งนี่คือการปรับเปลี่ยนประเพณีและวิถีที่ปฏิบัติกันมายาวนานให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เทรนด์รักษ์โลกคือสิ่งที่ผู้คนทั้งโลกกำลังจะเดินไป ดังนั้น หากยังอยากลอยกระทงอยู่ แต่ก็มีอีกใจ ที่อยากอนุรักษ์ อาจจะลองเลือกวิธี ดังนี้
- กระทงข้าวโพดอาหารปลา-กระทงกรวยไอศกรีม
- กระทงน้ำแข็ง
- มาด้วยกัน ลอยด้วยกัน เพื่อลดปริมาณกระทง
- ลอยกระทงออนไลน์