งานวิจัยใหม่ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เผยว่า ละอองน้ำที่มี "เกลือทะเล" ปนอยู่ สามารถลดพลังงานในเมฆที่ทำให้เกิด "พายุฝนฟ้าคะนอง" เหนือท้องมหาสมุทรได้
วารสารเนเจอร์ คอมมูนิเคชันส์ (Nature Communications Journal) วารสารวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ ร่วมกับเซี่ยงไฮ้ ได้เผยแพร่ผลงานศึกษาร่วมฉบับหนึ่งที่ระบุว่า เกลือทะเล (Sea Salt) อาจทำให้พลังงานของเมฆอ่อนลง และลดปริมาณพายุฝนฟ้าคะนองเหนือท่องมหาสมุทรได้
เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "เทอร์โมไดนามิกส์" (Thermodynamics) และ "ละอองลอย" (Aerosols) สามารถอธิบายการเกิดพายุฝนฟ้าคะนองบนบกได้เป็นอย่างดี ทว่าสาเหตุของการเกิดพายุฝนฟ้าคะนองเหนือท้องมหาสมุทรเขตร้อนนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้น้อยกว่า และไม่สามารถทำความเข้าใจอย่างละเอียดได้ในปัจจุบัน
Thermodynamics มีชื่อเรียกภาษาไทย ว่า "อุณหพลศาสตร์" คือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความร้อน อุณหภูมิ และพลังงาน กฎของ Thermodynamics อธิบายว่า พลังงานในระบบเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และระบบสามารถทำงานที่เป็นประโยชน์ในสภาพแวดล้อมโดยรอบได้หรือไม่
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
ทีมนักวิจัยนานาชาติจากมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น (Wuhan University) และมหาวิทยาลัยหนานจิง (Nanjing University) ของประเทศจีน ทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเล็ม (The Hebrew University of Jerusalem) ของประเทศอิสราเอล ทำการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ ละอองลอย และการเกิดพายุฝนฟ้าคะนองทั่วแอฟริกาและมหาสมุทรที่อยู่ติดกันระหว่างปี 2013-2017
นักวิจัย พบว่า ละอองลอยเพิ่มความหนาแน่นของสายฟ้า ทั้งบริเวณมหาสมุทรและบนบกอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกันเกลือทะเลหยาบในละอองจากน้ำทะเลจะทำให้พลังงานของเมฆอ่อนลง และลดปริมาณฟ้าผ่าเหนือมหาสมุทรถึง 90%
ผลการศึกษา เสริมว่า การค้นพบดังกล่าวสามารถช่วยทำให้เข้าใจการกระจายตัวของฟ้าผ่าที่แตกต่างกันบนบกและเหนือมหาสมุทร รวมถึงผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศของพายุฝนฟ้าคะนองได้อีกด้วย