กกพ. ชี้แจง 4 ปัจจัย ที่ต้องปรับเพิ่มค่าเอฟทีอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีทั้งสิ้น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ดันค่าไฟงวด ก.ย. – ธ.ค. 2565 เพิ่มเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย
เมื่อวานนี้ สำนักคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ได้ชี้แจงถึงสาเหตุที่ต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้า จากมติที่ประชุมของ กกพ. เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 โดยให้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 ให้สะท้อนต้นทุนประมาณการในรอบการคิดค่าเอฟทีดังกล่าวเท่านั้น
โดยยังไม่พิจารณาจ่ายคืนภาระทางการเงินของ กฟผ. ที่แบกรับต้นทุนกว่า 100,000 ล้านบาท (ในปัจจุบัน) ตามข้อเสนอของ กฟผ. ในหนังสือ กฟผ. S21300/45560 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ที่ต้องการแบ่งเบาภาระประชาชนในช่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะทำให้เอฟทีปรับเพิ่มขึ้นอีก 68.66 สตางค์ ต่อหน่วย ดังนั้นค่าเอฟทีเรียกเก็บในรอบเดือนกันยายน - ธันวาคม 2565 จะเท่ากับ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าไฟ 4.72 บาทต่อหน่วย
โดย กกพ. ได้ชี้แจงว่า การขึ้นค่าเอฟทีในช่วงปี 2565-2566 นี้มีสาเหตุหลักๆ มาจากสัดส่วนการใช้ Spot LNG ที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและพม่าที่ปริมาณลดลง รวมทั้งความผันผวนของ Spot LNG ในตลาดโลก ซึ่งสรุปสาเหตุต่างๆ ได้ 4 ข้อ ดังนี้
บทความที่น่าสนใจ
ส.ค.นี้ เสี่ยงไฟดับบางพื้นที่ เหตุสำรองเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าต่ำกว่าเกณฑ์
สุดารัตน์ค้านขึ้นค่าไฟ 5 บาท เผย กำไรสะสม “3 การไฟฟ้า” รวยอื้อ 6.6 แสนล้านบาท
MEA แจ้งผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รีบลงทะเบียนมาตรการช่วยเหลือค่าไฟ 1 ปี
4 เหตุผลที่ต้องขึ้นค่าไฟฟ้า
1. ปริมาณก๊าซในประเทศที่ลดลง จากเดิมสามารถจ่ายก๊าซได้ 2,800 – 3,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต ต่อวัน (MMSCFD) ลดลงเหลือราว 2,100 – 2,500 MMSCFD ทำให้ต้องนำเข้า Spot LNG เข้ามาเสริมหรือเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ามันเพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ขาดแต่ในช่วงสงครามรัสเซีย - ยูเครน
ส่งผลให้ ราคา Spot LNG มีราคาแพงและผันผวนในช่วงประมาณ 25-50 USD/MMBTU เทียบกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาประมาณ 6-7 USD/MMBTU ดังนั้นการทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย LNG หรือใช้น้ำมัน จะส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
2. การผลิตก๊าซจากพม่าที่ไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตเดิม และมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565 และต้นปี 2566 ซึ่งอาจทำให้มีความต้องการนำเข้า LNG มากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม
3. สถานการณ์ผู้ผลิต LNG ชะลอการลงทุน อันเนื่องมาจากมีความต้องการใช้พลังงานน้อยในช่วงโควิด-19 ในปลายปี 2564 หลังจากที่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากโควิด ทำให้ความต้องการใช้ LNG มีมากกว่ากำลังการผลิตในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อราคาและการเจรจาสัญญาซื้อขาย LNG โดยเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2564 และต่อเนื่องตลอดปี 2565 และคาดว่าจะต่อเนื่องไปในปี 2566
4. สภาวะสงครามรัสเซีย - ยูเครน ทำให้รัสเซียลดหรือตัดการจ่ายก๊าซธรรมชาติทางท่อไปยังยุโรป ส่งผลให้ความต้องการ LNG เพิ่มขึ้นอย่างมากในยุโรป และส่งผลกระทบทางอ้อมต่อราคา LNG ในตลาดเอเชีย
กกพ. แจง จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านพลังงาน
ความไม่แน่นอนของแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศและในพม่า รวมทั้งสภาวะตลาดที่ไม่เอื้อต่อการเจรจาสัญญา LNG ทำให้ กกพ. ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อใช้เชื้อเพลิงสำรอง เช่น น้ามันเตา น้ามันดีเซล หรือเชื้อเพลิง ประเภทอื่น เช่น ถ่านหิน พลังน้ำ และพลังงานทดแทน เพื่อรองรับสถาณการณ์ขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ
ซึ่งจะเป็นสถานการณ์ต่อเนื่องจากปลายปี 2565 และต่อเนื่องไปตลอดปี 2566 ตามแนวทางการบริหารเชื้อเพลิงในสภาวะวิกฤตที่ได้เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไปแล้ว
กกพ. จึงขอให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดเพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ลดการนำเข้า Spot LNG และเพิ่มความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว
เผย กฟผ. รับภาระต้นทุนแทนผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 83,010 ล้านบาท
สำหรับสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อการคำนวณค่าเอฟทีงวด ก.ย. - ธ.ค. 2565 มาจากค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่ทะยานเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 เป็นต้นมา ส่งผลให้ต้นทุนจริงและราคาประมาณการล่วงหน้าในการคิดค่าเอฟทีช่วงเดือน ก.ย. ถึง ธ.ค. 2565 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 236.97 สตางค์ต่อหน่วย
โดยแบ่งเป็นการประมาณต้นทุนล่วงหน้าในการผลิตไฟฟ้าเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 เท่ากับ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งยังไม่รวมภาระส่วนต่างค่าซื้อไฟฟ้าและเชื้อเพลิงสะสมตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 ถึง เม.ย. 2565 ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระต้นทุนแทนผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 83,010 ล้านบาท หรือคิดเป็นต้นทุนที่ กฟผ. แบกรับไว้ประมาณ 143.54 สตางค์ต่อหน่วย
ยันเป็นการปรับค่าไฟฟ้า ให้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ที่เพิ่มขึ้นเท่าที่จำเป็น
กกพ. ยืนยันว่าในการพิจารณาปรับเพิ่มค่าเอฟทีในงวดเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2565 กกพ. ได้บริหารจัดการบนพื้นฐานของการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน โดยไม่กระทบต่อศักยภาพการให้บริการพลังงานของผู้ให้บริการหรือ กฟผ. ซึ่งเป็นการปรับให้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเท่าที่จาเป็น
ทั้งนี้ กกพ. ยังยึดมั่นในการรักษาความมั่นคง และมีเสถียรภาพทางพลังงานของประเทศเป็นสำคัญสำหรับปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 ตามผลการคำนวณของ กฟผ. มีดังต่อไปนี้
ปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565
(1) ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 เท่ากับประมาณ 64,091 ล้านหน่วย ลดลงจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน พ.ค. – ส.ค. 2565) ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 68,731 หน่วย หรือลดลงร้อยละ 6.75
(2) สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 53.14 ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวมร้อยละ 19.23 และ ลิกไนต์ของ กฟผ. ร้อยละ 9.28 เชื้อเพลิงถ่านหินนาเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน ร้อยละ 9.04 พลังน้ำของ กฟผ. ร้อยละ 2.59 น้ำมันเตา (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 0.01 น้ำมันดีเซล (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 0.00 และอื่นๆ อีกร้อยละ 6.70
(3) ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน พ.ค.– ส.ค. 2565 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และราคาถ่านหินนาเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมากจากรอบเดือน พ.ค.– ส.ค. 2565 โดยที่เชื้อเพลิงอื่นๆ มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่
(4) อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (1 – 31 พฤษภาคม 2565) เท่ากับ 34.40 บาท ต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลงจากประมาณการในงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 33.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
เชิญชวนให้ประชาชนประหยัดพลังงาน
ในช่วงวิกฤตราคาพลังงานขาขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง จะส่งผลต่อต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในระดับที่สูงขึ้นในช่วง 1 - 2 ปีนี้ สำนักงาน กกพ. ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้ใช้ไฟร่วมกันประหยัดการใช้พลังงาน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า 4 ป. ได้แก่
ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ
ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน
ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา
เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 จะสามารถช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาแพง ซึ่งจะเป็นการลดภาระค่าครองชีพสำหรับตัวท่านเอง และยังจะเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันลดภาระโดยรวมให้กับประเทศชาติอีกทางหนึ่งด้วย
ที่มา : คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน