ในช่วงที่น้ำมันขึ้นราคาจนอยากจะจอดรถทิ้งไว้ที่บ้าน SPRiNG ชวนคนกรุงมาดูกันว่า ถ้าเราจอดรถทิ้งไว้ที่บ้านแล้วใช้ขนส่งสาธารณะจะเป็นอย่างไร ? คุ้มไหม ? แล้วต้องแลกกับอะไร ?
หลังจาก ปตท. ปรับราคาน้ำมันเบนซินตามราคาน้ำมันโลกไปแตะที่ 50 บาท/ลิตร ทำให้หลายคนอยากที่จะจอดรถทิ้งไว้กับบ้านเฉย ๆ รอจนกว่าน้ำมันจะถูก แต่ในเมื่อเรายังต้องเข้าออฟฟิศ การใช้ขนส่งสาธารณะจะเป็นทางออกให้คนทำงานไหม ?
สมมุติว่าบ้านเราอยู่เตาปูนแล้วต้องมาทำงานที่บางนา ซึ่งระยะทางหากวัดเป็นเส้นตรง ห่างกันราว 20 กิโลเมตร ค่าใช้จ่ายต่างจะต่างกันแค่ไหน ถ้าต้องมาถึงก่อนเวลา 08.45 น. เพื่อเข้างานให้ทัน 09.00 น.
ถ้าขับรถ เราจะใช้เวลาประมาณ 40 นาที(คำนวณจาก Google Map) ระยะทางราว 28 กิโลเมตร โดยผ่านทางด่วน 1 ด่าน แบ่งเป็นค่าน้ำมันและค่าทางด่วน คิดแบบง่าย ๆ เฉลี่ยค่าน้ำมัน ที่ 10 กิโลเมตรต่อ 1 ลิตร นั่นแปลว่าเราจะใช้น้ำมันเกือบ 3 ลิตร ในการขับรถไปทำงานอย่างเดียว ถ้าเราใช้ แก๊สโซฮอล์ 95 ที่ราคา 40 บาท/ลิตร ค่าน้ำมันจะอยู่ที่ 120 บาท ประกอบกับค่าทางด่วน 50 บาท เท่ากับว่าการเดินทางมาทำงานจะใช้เงินราว 170 บาท เฉพาะขามา ส่วนถ้าคำนวณขากลับด้วยจะอยู่ที่ 340 บาท/วัน
อ่าน : น้ำมันแพง!!! เทคนิคขับรถแบบนี้ช่วยให้ประหยัดน้ำมันได้
ถ้าหากเราเดินทางออกจากบ้านในซอย ต้องต่อรถจักรยานยนต์ ค่าโดยสาร 20 บาทออกจากซอยเพื่อมารถไฟฟ้า ใช้ประมาณ 10 นาที แล้วจึงนั่ง MRT สถานีเตาปูนมายัง สถานี BTS หมอชิต ค่าโดยสาร 21 บาท จะใช้เวลาราว 15 นาที(ยังไม่รวมรถไฟแออัดจนต้องรอขบวนถัดไป) จากนั้นจึงนั่งจากสถานีหมอชิต มายังสถานีอุดมสุข ค่าโดยสาร 59 บาท(ค่าโดยสารสายสีเขียวเดิม 44 บาท + ค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 15 บาท) ใช้เวลา 40 นาที จากนั้นจึงนั่งรถประจำทางปรับอากาศ 20 บาท ใช้เวลาอีก 15 นาที เพื่อมายังออฟฟิศ
โดยต้องใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง 20 นาที ค่าเดินทางรวม 120 บาท/เที่ยว ถ้าไป-กลับ 1 วันจะอยู่ที่ 240 บาท/วัน
ขณะที่หากเราใช้บริการเรียกรถโดยสาร จะมีค่าเดินทาง 285 บาท(โดยประมาณ) และ ค่าทางด่วน 50 บาท ดังนั้นค่าใช้จ่ายรวมถ้าเรียกรถจะอยู่ที่ 335 บาท/เที่ยว ถ้าไป-กลับ จะอยู่ที่ 670 บาท/วัน
อ่านเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สรุปมันคุ้มไหม ถ้าจอดรถทิ้งไว้แล้วนั่งรถไฟฟ้า
จากที่เราคำนวณการมาทำงานคร่าว ๆ จะเห็นได้ว่าการชับรถจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 340 บาท/วัน และใช้เวลาประมาณ 40 นาที ส่วนนั่งขนส่งสาธารณะจะมีค่าใช้จ่ายราว 240 บาท/วัน และใช้เวลา 1 ชั่วโมง 20 นาที
ค่าใช้จ่ายห่างกัน 100 บาทแลกกับความสะดวกสบายและเวลา ที่เพิ่มขึ้นจากการขับรถถึง 40 นาที ซึ่งราคาทำเปรียบเทียบนี้นี้ยังไม่รวมค่าบำรุงรักษารถ ค่าประกันภัย ค่าที่จอดรถทั้งที่ออฟฟิศและที่คอนโด ดังนั้นหากเรายังเป็นมนุษย์เงินเดือน ค่าใช้จ่ายยังไม่สามารถครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายของรถยนต์ การใช้ขนส่งสาธารณะยังคงเป็นทางเลือกที่ประหยัดกว่าและมั่นคงกว่า
ทั้งนี้หากเราซื้อรถเพื่อแลกกับความสะดวกสบายเพียงอย่างเดียวแต่ต้องเป็นหนี้บัตรเครดิต-ธนาคาร ก็อาจไม่คุ้มกับแรงและเวลาที่เสียไปกับการใช้หนี้ ดังนั้นเราจึงควรนำปัจจัยอื่น ๆ ของตนเองมาพิจารณาด้วย แต่สำหรับใครที่มีรถอยู่แล้วการลดค่าใช้จ่ายอาจเป็นตัวเลือกที่สำคัญ โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำมันยังไม่มีวี่แววที่จะลดลง
อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงการเปรียบเทียบเพียง 1 พื้นที่เท่านั้น หากมองไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ที่รถไฟฟ้าและระบบขนส่งมวลชนยังไม่สะดวกสบาย เช่น หากบ้านเราอยู่บางใหญ่ แล้วต้องไปทำงานย่านสายไหม การใช้ขนส่งสาธารณะอาจไม่ใช่ทางเลือกที่น่าเลือกมากนัก
ซึ่งการทำให้ขนส่งมวลชนเข้าถึงทุกพื้นที่ ลดการใช้ลด สร้างการประหยัดพลังงานและอำนวยความสะดวกสบายให้ประชาชนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะ เป็นเรื่องที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุน เช่น การปรับปรุงรถประจำทางให้ทันสมัย ได้มาตรฐาน ลดราคาค่าโดยสาร ซึ่งหากภาครัฐทำได้ จะทำให้สามารถแก้ปัญหารถติด ปัญหาฝุ่นควันรถ และเพิ่มเงินเก็บให้ประชาชนได้