ประเทศกลุ่มสหภาพโซเวียตเก่าทั้ง 15 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย เบลารุส ยูเครน มอลโดวา จอร์เจีย อาเมเนีย อาเซอร์ไบจาน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน รวมไปถึงอลาสก้า มีน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติและแร่โลหะมูลค่ามหาศาล
ตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 เกิดเป็น 15 ประเทศ รวมกับที่ขายอลาสก้าให้เป็นอีก 1 รัฐของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1867 กลุ่มประเทศสหภาพโซเวียตเหล่านี้มีดีอะไรกันบ้าง
อย่างที่ทุกคนตอนนี้ทราบกันดีว่า สหพันธรัฐรัสเซีย ที่อยู่ภายใต้การนำของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เปิดฉากปฏิบัติการทางทหารพิเศษในแคว้นดอนบาส (Donbas) เข้ายึดพื้นที่ขัดแย้งอย่างภูมิภาคโดเนตสก์ (Donetsk) และฮูลานสก์ (Luhansk) คืนจากยูเครน เพื่อให้สองภูมิภาคนี้สามารถประกาศตัวเป็นอิสระจากยูเครนได้ จนทำให้สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ทั้งการตัดกลุ่มธนาคารรัสเซียออกจาก SWIFT หรือกลุ่มบริษัทบิ๊กเทคยกเลิกการให้บริการในรัสเซีย รวมไปถึงการที่สหรัฐฯ ประกาศแบนน้ำมันจากรัสเซีย จนทำราคาน้ำมันแพงพุ่งไปไกลถึงขนาดแก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละครึ่งร้อย
เหตุที่เป็นเช่นนั้น เป็นเพราะว่า รัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 รองจากซาอุดิอาระเบีย แต่นอกจากน้ำมันแล้วยังส่งออกก๊าซธรรมชาติให้กับยุโรปอีกด้วย ซึ่งส่งออกมากถึง 43% ตามข้อมูลของ Statista ในปี 2020 นอกจากนั้นรัสเซียยังเป็นแหล่งแร่โลหะ จึงทำให้ประเทศรัสเซียสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการแปรรูปแล้วจากทั้งปิโตรเลียม เป็นเคมีภัณฑ์ทั้งหลาย และโลหะ เป็นจำพวกเครื่องจักรต่าง ๆ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
สำหรับประเทศที่เป็นคู่กรณีในครั้งนี้อย่าง ยูเครน เป็นหนึ่งในแหล่งแร่ที่สำคัญของโลกโดยเฉพาะแร่เหล็ก ผลพวงจึงเป็นเครื่องจักรเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยูเครนยังเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานใหญ่ของยุโรป เพราะมีทั้ง น้ำมัน ถ่านหิน จึงได้ผลิตแปรรูปจากปิโตรเลียมเป็นเคมีภัณฑ์อื่น ๆ อีกด้วย รวมไปถึงธัญพืชต่าง ๆ อาทิ ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ และข้าวสาลี ทว่าคู่ค้าใหญ่สุดของยูเครนกลับเป็นรัสเซียกับเบลารุส
เพื่อนบ้านของยูเครนทางตอนเหนืออย่างประเทศเบลารุส มีสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของเบลารุสเป็นสินค้าทางด้านการบริโภคอาทิ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม รวมไปถึงแร่โลหะต่าง ๆ และอุตสาหกรรมรถยนต์ ผลิตทั้ง รถยนต์ รถบรรทุก รถแทรกเตอร์ หรือยางรถยนต์ นอกจากนี้เบลารุสยังมีเคมีภัณฑ์เป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกหลักอีกด้วย
เอสโตเนีย ประเทศทางตอนเหนือสุดหลังจากสหภาพโซเวียตแตก ปัจจุบันถือเป็นสมาร์ทซิตี้ พลเมืองดิจิทัลมากที่สุดในโลกด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาปรับปรุงประเทศ ทว่าสินค้าส่งออกหลักของเอสโตเนียกลับเป็น ไม้ซุง สิ่งทอ และโลหะ แม้จะมีการพยายามนำโลหะมาแปรรูปเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์บ้างก็ยังน้อยกว่าการเป็นเหล็กกล้า นอกจากนี้ยังมีการส่งออกอาหารแปรรูปอีกเล็กน้อย
ถัดลงมาจากเอสโตเนีย ได้แก่ลัตเวีย สินค้าส่งออกไม่แตกต่างจากเอสโตเนียสักเท่าไหร่ เป็น ผลิตภัณฑ์จากไม้ แร่เหล็ก รวมถึงเครื่องจักร สิ่งทอ และอาหาร
ไล่ลงมาเป็นลิทัวเนีย มีน้ำมันที่ผ่านการกลั่นแล้วเป็นสินค้าส่งออกหลัก นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ผ่านการแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์แล้ว รวมถึงข้าวสาลี ยาสูบแบบม้วน และโพลีอะซีทัล
ประเทศสุดท้ายจากกลุ่มสหภาพโซเวียตที่ตั้งอยู่ในยุโรปได้แก่ มอลโดวา ประเทศเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของยูเครน มีอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเกษตร และเครื่องนุ่งห่ม เป็นสินค้าส่งออกหลัก
จากนั้นข้ามทะเลดำ (Black Sea) ไปก็จะกลุ่มประเทศที่ถูกขนาบด้วยแหล่งน้ำทั้งสองข้าง เริ่มต้นด้วยประเทศจอร์เจีย สินค้าส่งออกหลักของจอร์เจียได้แก่ ทองแดง ที่ส่งออกมากเป็นลำดับที่ 15 ของโลก นอกจากนี้ยังมีน้ำแร่ และไวน์เป็นสินค้าหลัก รวมถึงเป็นสถานที่ตั้งของโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์
ต่อด้วยอาเมเนีย ประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดจากกลุ่มสหภาพโซเวียตตั้งอยู่ตอนใต้ของจอร์เจีย ด้วยอาเมเนียเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กและไม่ได้ติดแหล่งน้ำขนาดใหญ่เหมือนจอร์เจียหรืออาเซอร์ไบจาน จึงไม่ค่อยมีความหลากหลายของสินค้าที่ส่งออกมากเท่าใดนัก แต่กลับเป็นเหมืองแร่ของโลก พร้อมเต็มไปด้วย เพชรพลอยและโลหะที่ซ่อนอยู่ใต้ดิน ในขณะที่มีการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มเล็กน้อย
อาเซอร์ไบจานประเทศที่ติดกันกับทะเลสาบแคสเปียน ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในโลก สินค้าหลักของประเทศนี้เป็นขุมทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาลอย่าง น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 95% ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดของอาเซอร์ไบจาน
เมื่อพ้นทะเลสาบแคสเปียนมาจะเป็นกลุ่มประเทศที่ลงด้วย "สถาน ๆ" ทั้งหลายแหล่ เปิดด้วยประเทศที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพโซเวียตรองจากรัสเซีย นั่นคือ คาซัคสถาน ซึ่งเศรษฐกิจที่นี้เดินด้วยกลุ่มพลังงาน จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงเคมีภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปน้ำมันดิบ คิดเป็น 80% ของมูลค่าการส่งออกเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งแร่ที่อุดมไปด้วย เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม สังกะสี และยูเรเนียม
อุซเบกิสถาน เป็นหนึ่งในประเทศที่ดูหรูหราที่สุดของโลก เพราะที่นี่คือแหล่งเหมืองทองโลก ทองคำ ที่อุซเบกิสถานส่งออกในแต่ละปีมีมูลค่าถึง 5.25 พันล้านดอลลาร์ (1.7 แสนล้านบาท) กันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีบ่อก๊าซปิโตรเลียมที่ส่งออกถึงปีละ 2.3 พันล้านดอลลาร์ (7.6 หมื่นล้านบาท) และมีการส่งออกเส้นด้ายฝ้ายบริสุทธิ์ที่จะส่งไปยังโรงงานผลิตเสื้อผ้าในอีกหลายประเทศ
ประเทศเติร์กเมนิสถานเป็นหนึ่งในผู้นำด้านพลังงานของโลก โดยส่งออกก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับที่ 4 ของโลก นอกนั้นยังส่งออก น้ำมัน ผลิตภัณฑ์สำคัญจากการแปรรูปอย่างเม็ดพลาสติก (โพลีเมอร์) ในขณะที่มีการส่งออก ผ้าฝ้าย สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นการเล็กน้อย
สินค้าส่งออกที่สำคัญของคีร์กีซสถาน ได้แก่ ทอง ผ้าฝ้าย ขนสัตว์ เสื้อผ้า เนื้อสัตว์ ปรอท ยูเรเนียม ไฟฟ้า เครื่องจักร และรองเท้า
และประเทศสุดท้ายในกลุ่มสหภาพโซเวียต ได้แก่ ทาจิกิสถาน ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศนี้ขึ้นอยู่กับเกษตรกรรมและบริการ รวมถึงการส่งออกผ้าฝ้ายและอลูมิเนียม
แต่นอกเหนือจากกลุ่มประเทศที่แตกออกหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายแล้วนั้น ยังมีอีกหนึ่งดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตด้วย นั่นคือ อลาสก้า หนึ่งในห้าสิบรัฐของสหรัฐอเมริกาที่ได้ถูกซื้อมาตั้งแต่สมัยปี 1867 ในมูลค่าที่ต้องบอกว่าถูกมาก เพียง 7.2 ล้านดอลลาร์ด้วยทองคำ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 136 ล้านดอลลาร์ (4.5 พันล้านบาท) แม้มองเป็นตัวเลขอาจจะไม่น้อยแต่เทียบกับความสวยงามของธรรมชาติที่มีเหนือที่ขนาด 1.5 ล้านตารางกิโลเมตรแล้ว ถือได้ว่าถูกมาก ซึ่งใหญ่กว่าประเทศไทยถึง 3 เท่า เพราะนอกจากความสวยงามทางธรรมชาติแล้ว ยังเป็นแหล่งขุมทรัพย์อีกด้วย เศรษฐกิจหลักอลาสก้าคือธุรกิจน้ำมัน เพราะสามารถส่งออกน้ำมันได้ถึงวันละ 4 แสนบาร์เรล และทำให้ครั้งหนึ่งเป็นยุคตื่นทองในสหรัฐฯ อีกด้วย