เปิดพลังหญิงแกร่ง Girls Power กับ 140 ผู้นำหญิงแกร่ง ที่เคยคุมรัฐ-รัฐบาล นำโดย อังเกล่า แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนีสุดแกร่ง ตามด้วย จาซินดา อาร์เดิร์น จากนิวซีแลนด์ ไทยติดโผ อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
จากกรณี นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของสวีเดน "แม็กดาเลนา แอนเดอร์สัน" (Magdalena Andersson) ลาออกหลังจากได้รับเลือกเพียงไม่กี่ชั่วโมง แล้วนอกจากสวีเดนแล้วที่นายกรัฐมนตรีหญิง มีประเทศไหนอีกบ้างที่มีนายกฯหญิง
แน่นอนว่าประเทศไทยต้องติดอยู่ในลิสต์นี้ เนื่องจากประเทศไทยเคยมีนายกรัฐมนตรีผู้หญิงมาแล้ว อย่าง อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2554 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทย
ผู้นำหญิงคนแรกของโลก
สตรีแกร่งที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าของรัฐบาลคนแรกในโลก ได้แก่ "เคียร์เชค คันทิมาโตกา" (Khertek Anchimaa-Toka) ในฐานะประธานรัฐสภาของคุรุลน้อย (Chairperson of the Presidium of the Little Khural) ของ สาธารณรัฐประชาชนตูวัน (The Tuvan People's Republic) หรือที่เรียกว่าประเทศตันนู ตาวา (Tannu Tuva) ซึ่งในภายหลังได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
Khertek Anchimaa-Toka ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2483 ถึงวันที่ 11 ต.ค. 2487 รวมแล้ว 4 ปี กับอีก 188 วัน เธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2551 รวมอายุ 96 ปี
นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก
ทว่าผู้นำหญิงคนแรกที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล คือ "ศิริมาโว บันดารานัยเก" (Sirimavo Bandaranaike) นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของศรีลังกา เธอได้เข้ารับตำแหน่งสองช่วงด้วยกัน โดยช่วงแรกเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2503 ถึงวันที่ 27 มี.ค. 2508 รวม 4 ปีกับอีก 249 วัน และในช่วงที่สองเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2513 ถึงวันที่ 23 ก.ค. 2520 รวม 7 ปี 55 วัน หากนับรวมทั้งสองช่วงเข้าด้วยกันเธอจะดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 11 ปี กับอีก 304 วัน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของโลก
และผู้นำหญิงที่เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของโลก ได้แก่ "อิซาเบล มาร์ติเนซ เด เปรอน" (Isabel Martínez de Perón) ประธานาธิบดีของอาร์เจนตินา ภรรยาคนที่ 3 ของ "ฮวน เปรอน" (Juan Perón) ประธานาธิบดี 3 สมัยของอาร์เจนตินา
ฮวน เปรอน เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งทำให้ อิซาเบล มาร์ติเนซ เด เปรอน ที่นั่งเก้าอี้รองประธานาธิบดีได้รับสืบทอดตำแหน่ง เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2517 ก่อนที่จะถูกทหารยืดอำนาจในวันที่ 24 มี.ค. 2519 ถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจของอิซาเบล มาร์ติเนซ เด เปรอน รวม 1 ปี กับอีก 267 วัน
ผู้นำหญิงที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในโลก
หากไม่นับแม็กดาเลนา แอนเดอร์สันว่าเป็นผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลที่อายุงานสั้นที่สุดแล้ว เนื่องจากได้ลาออกหลังถูกโหวตรับเลือก ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว คงหนีไม่พ้น "คาร์เมน เปเรรา" (Carmen Pereira) ประธานาธิบดีจากประเทศกินี-บิสเซา (Guinea-Bissau) ประเทศเล็ก ๆ ทางแอฟริกาตะวันตกที่ปัจจุบันเป็นสาธารณรัฐกินี-บิสเซา
คาร์เมน เปเรรา เป็นประธานาธิบดีได้เพียงแค่ 2 วันเท่านั้นจาก 14 พ.ค. 2527 ถึง 16 พ.ค. 2527
ผู้นำหญิงที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดในโลก
เมื่อพูดถึงผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งหน้ารัฐบาลที่อายุงานสั้นที่สุดแล้ว ต่อไปคงต้องพูดถึงผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดกันบ้าง ซึ่งดำรงตำแหน่งถึง 17 ปี 357 วัน อย่าง "ชีค ฮาสินา" (Sheikh Hasina) นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. 2539 ถึงวันที่ 15 ก.ค. 2544 รวม 5 ปี 33 วัน
และขณะนี้ ชีค ฮาสินา ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สองตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. 2552 จวบจนถึงปัจจุบัน (26 พ.ย. 2564) ซึ่งยาวนานกว่า 12 ปี และ 324 วัน
แต่สตรีแกร่งที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำโลกอีกคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้จากทั้งความสามารถ และการที่นั่งเก้าอี้นานต่อเนื่องมากที่สุดได้แก่ "อังเกล่า แมร์เคิล" (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีหญิงสุดแกร่งของเยอรมนี ที่ตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ในภาษาอังกฤษไม่ได้ใช้คำว่า "Prime Minister" หากแต่เป็น "Chancellor"
อังเกล่า แมร์เคิล เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2548 จนถึงปัจจุบัน (26 พ.ย. 2564) นับรวมได้ 16 ปี 4 วัน ถือเป็นนายกฯหญิงที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก
ฟอร์บ ได้จัดให้ อังเกล่า แมร์เคิล เป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของโลกติดต่อกันยาวนานถึง 10 ปี นอกจากนี้อังเกล่า แมร์เคิล ยังได้รับการขนานนามว่า "Europe's Most Influential Leader" ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า "ผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่สุดของยุโรป" โดย "แมตต์ ควอร์ทรัป" (Mads Qvortrup) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคเวนทรี (Coventry University)
แมตต์ ควอร์ทรัป ชี้ว่า อังเกล่า แมร์เคิล ได้พาเยอรมนีหนีออกจากวิกฤติทางการเงินในปี 2551 และการรับมือกับการค้าเสรีนิยมระหว่างประเทศในยุคสมัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หรือการเปิดพรมแดนประเทศให้ผู้ลี้ภัยซึ่งเยอรมนีสามารถทำได้ดี
นอกจากนี้ อังเกล่า แมร์เคิล ถือเป็นผู้นำโลกที่เป็นหัวสมัยใหม่ เปิดรับการแต่งงานเพศเดียวกัน การเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ ทว่าก็ถูกโจมตีว่าเป็นผู้นำที่ขาดวิสัยทัศน์ จากการที่มีนโยบายยุคดิจิทัลที่ล้าหลัง
อังเกล่า แมร์เคิล ถือเป็นนายกฯหญิงที่มีบทบาทที่โดดเด่นอย่างมากในระดับเวทีโลก แต่นอกจากสตรีแกร่งอย่างอังเกล่า แมร์เคิล แล้วยังมี "จาซินดา อาร์เดิร์น" (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีของประเทศนิวซีแลนด์ ที่เฉิดฉายไม่แพ้กัน
แม้จาซินดา อาร์เดิร์น อาจมีบทบาทบนเวทีโลกไม่ทัดเทียม แต่ชื่อนี้เป็นที่คุ้นหูอย่างมากแน่นอนจากการที่พานิวซีแลนด์พ้นมหันตภัยร้ายอย่างโควิด-19 จนถือเป็นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีมาตรการรับมือโควิด-19 ดีที่สุดในโลก จนแม้แต่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ยังยกเป็นโมเดลให้ศึกษา