อิหร่านประกาศจะไม่ปฏิบัติตามข้อจำกัดของข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำไว้เมื่อปี 2015 อีกต่อไป หลังสถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดขึ้น สหรัฐฯสั่งเพิ่มกำลังทหารและพร้อมตอบโต้อิหร่าน หลังอิหร่านประกาศล้างแค้นให้นายพลคนสำคัญที่ถูกสหรัฐฯสังหารในอิรัก
อิหร่านประกาศ จะไม่ปฏิบัติตามข้อจำกัดของข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ที่ไม่ให้เพิ่มวัตถุดิบ หรือศึกษาวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ หลังคณะรัฐมนตรีอิหร่านมีมติในกรุงเตหะรานวานนี้
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า สถานทูตสหรัฐฯในกรุงแบกแดดของอิรักกำลังตกเป็นเป้าโจมตีอีก มีการโจมตีเพิ่ม แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ
ด้านรัฐบาลอิรัก ได้ผ่านมาตรการเรียกร้องให้ทหารต่างชาติออกจากประเทศ หลังสถานการณ์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯตึงเครียดสูง ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯอยู่ในอิรักราว 5,000 นาย เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายไอเอส แต่ปฏิบัติการต้องหยุดชะงักก่อนสภาราษฎรอิรักลงมติวานนี้
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯเอง ได้โพสข้อความบนทวิตเตอร์ ระบุว่าเป็นข้อความถึงสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ว่าหากอิหร่านโจมตีคนหรือเป้าหมายสหรัฐฯ สหรัฐฯจะโจมตีกลับอย่างรวดเร็วและหนักหน่วงกว่า
These Media Posts will serve as notification to the United States Congress that should Iran strike any U.S. person or target, the United States will quickly & fully strike back, & perhaps in a disproportionate manner. Such legal notice is not required, but is given nevertheless!
— Donald J. Trump (@realDonaldTrump) January 5, 2020
บทวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมของสำนักข่าวบีบีซี
โจนาธาน มาร์คัส ผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหม ระบุว่าข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 กับอิหร่าน ง่อนแง่นตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศถอนตัวในเดือนพฤษภาคมปี 2018 พร้อมกลับมาคว่ำบาตรอิหร่าน และดูเหมือนว่าข้อตกลงจะใกล้จบลงแล้ว
ข้อตกลงที่รู้จักกันในนาม JCPOA (แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม - Joint Comprehensive Plan of Action) เป็นข้อตกลงที่กำหนดขีดจำกัดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ก่อนหน้าข้อตกลงจะเกิดขึ้น ทั่วโลกมีความกังวลกับความสามารถด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน และความเป็นไปได้ที่อิสราเอลจะโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน
แต่ตั้งแต่สหรัฐฯประกาศถอนตัว อิหร่านได้เริ่มฝ่าฝืนข้อตกลงสำคัญบางส่วน และตอนนี้ หลังการประกาศล่าสุด ดูเหมือนจะละทิ้งข้อจำกัดทั้งหมดเลยด้วยซ้ำ มาร์คัสระบุว่า สิ่งสำคัญตอนนี้คืออิหร่านจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป จะเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเพิ่มอีกแค่ไหน ซึ่งมีผลโดยตรงต่อระยะเวลาที่อิหร่านจะใช้ในการสร้างระเบิด และยังเป็นคำถามว่าอิหร่านจะยังยอมให้นานาชาติตรวจสอบหรือไม่
สถานการณ์ตอนนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลทรัมป์คาดหวังไว้เมื่อครั้งประกาศถอนตัวในปี 2018 แต่ประเทศอื่นๆ ต่างช็อกกับการที่ทรัมป์ตัดสินใจสังหารนายพลคนสำคัญของอิหร่าน แม้ว่าจะไม่พอใจที่อิหร่านละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ก็ตาม
ปฏิกิริยาจากประชาคมโลก
ประเทศอื่นๆที่ลงนามในข้อตกลงนิวเคลียร์ นอกเหนือจากสหรัฐฯและอิหร่าน คือ สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, จีน และรัสเซีย ที่ผ่านมาพยายามที่จะยังรักษาข้อตกลงแม้สหรัฐฯประกาศถอนตัว
วานนี้ ผู้นำเยอรมนี แองเกลา มาเคิล, ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส, นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้อิหร่านหยุดมาตรการที่จะละเมิดข้อตกลง ระบุว่าพร้อมที่จะยังคงเจรจากับทุกฝ่าย เพื่อจะลดคามตึงเครียด และนำเสถียรภาพกลับมาสู่ภูมิถาค
ขณะที่หัวหน้านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป โจเซฟ บอเรลล์ ได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านมากรุงบรัสเซลส์ เพื่อหารือเรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์ และจะจัดการกับวิกฤติเรื่องการสังหารนายพลโซเลมานีอย่างไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้นำสูงสุดอิหร่านประกาศล้างแค้นสหรัฐฯ
สหรัฐฯสั่งโจมตีอีก พร้อมเตรียมส่งทหารไปตะวันออกกลางเพิ่ม
อิหร่าน ชักธงรบสีเลือด ประกาศเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ!
เตือนคนไทย ยกเว้นการเดินทางไปอิรัก และหลีกเลี่ยงเข้าใกล้สถานที่ชุมนุม