SPRiNG สัมภาษณ์ ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ที่วันนี้เขาถึงจับตาในฐานะผู้บุกเบิกเงินดิจิทัลในเมืองไทย แต่กว่าจะถึงวันนี้ ชีวิตของเขาก็ต้องพบกับจุดเปลี่ยนที่หนักหนาสาหัสมากมาย นับครั้งไม่ถ้วน
ในวันนี้ ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ไม่ได้ถูกจดจำในฐานะเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ต-อัพ ในระดับยูนิคอร์นเท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับในระดับผู้บุกเบิกธุรกิจซื้อขาย Bitcoin ในเมืองไทยเมื่อ 8 ปีก่อน แม้ต้องเจอะเจอบททดสอบสุดหฤโหดมากมาย แต่หลายจุดเปลี่ยนไม่ว่าจะดีหรือร้าย ก็ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เสริมสร้างสกิลต่าง ๆ ให้กับชีวิต โดยเขาเริ่มต้นเล่าถึงจุดเปลี่ยนแรก ดังนี้
“เมื่อก่อนผมเป็นเด็กค่อนข้างจะเป็นเด็กเกเร และเป็นเด็กเล่นกีฬา เป็นเด็กเล่นกีฬาเป็นหลัก ไม่ค่อยตั้งใจเรียน ไม่เคยอ่านหนังสือสอบเลย พอโตขึ้นหน่อยก็เริ่มชกต่อยกับเพื่อน ก็เริ่มเกเร
“มีช่วงหนึ่งที่ถือว่าหนักที่สุดสำหรับวัยเด็ก คือชกต่อยกับเพื่อนแล้วทำเพื่อนแขนหัก ถูกอาจารย์ใหญ่เรียกเข้าไป เรียกผู้ปกครองเข้าไปด้วย ตอนนั้นเกือบจะโดนไล่ออกจากโรงเรียน ตอนนั้นก็หนักมาก ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องกัดฟันส่งไปเรียนที่นิวซีแลนด์”
บทความอื่นๆ จากรายการ Turning Point
ประภาส ทองสุข : ทุกจุดเปลี่ยนที่โหดร้าย จะทำให้เราเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
“หรั่ง พระนคร” อดีตนักโทษชั้นเลวมาก ที่เปลี่ยนชีวิตได้ เพราะ “การให้”
แกเร็ธ เพย์น : “วันที่สูญเสียขา ผมเป็นคนใหม่ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม”
ชีวิตที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์
การไปเรียนที่นิวซีแลนด์ เป็นการเปลี่ยนแปลงแค่ภายนอก เปลี่ยนที่อยู่อาศัย สถานที่เรียน แต่ท๊อปก็ยังคงใช้ชีวิตเหมือนที่แล้ว ๆ มา จนกระทั่งเขาจบ High School ด้วยเกรดเฉลี่ยที่ไม่สู้ดีนัก เมื่อกลับมาเมืองไทย ก็ไม่สามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ที่ตัวเองต้องการได้ จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เป็นปมในใจ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน ที่ทำให้เขามุ่งมั่นพัฒนาตัวเองเพื่อเป็นคนใหม่
ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา เล่าว่า “ปีแรกเลยครับ ปี 1 เลย คือเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เดินเข้าห้องสมุด เพิ่งรู้ว่าห้องสมุดหน้าตาเป็นอย่างไรก็มหาวิทยาลัยปี 1 แล้วก็เริ่มที่จะอ่านหนังสือ ตอนนั้นเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
“พอเราประสบปุ๊บ เรามีปมในใจ อยากจะแก้ปมในใจ เราตั้งเป้าหมายเราต้องเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ให้ได้ พอเป้าหมายเปลี่ยน จากอยากจะเป็นนักฟุตบอล ก็กลายเป็นเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ให้ได้ เปลี่ยนหมดเลยครับ
“ทุกการตัดสินใจในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่คบ ก็จะเป็นเด็กเรียนทั้งหมดเลย ความสนใจเรื่องอื่น กิจกรรมต่าง ๆ ก็กลายเป็นเข้าห้องสมุด ตั้งใจทำการบ้าน เข้าห้องเรียนตลอด ทุก Lecture เข้าหมด
“วันหยุดก็ไม่กลับบ้าน ฮอลิเดย์ คริสต์มาส ก็นั่งอ่านหนังสือ 7 วันต่อสัปดาห์ วันละ 12 – 14 ชั่วโมงทุกวัน จนสุดท้ายก็จบมา จนได้เกียรตินิยมเหรียญทอง แล้วเข้าไปเรียนต่อที่อ๊อกซฟอร์ดได้”
“วิชาชีวิต” ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด
ขณะที่ศึกษาระดับปริญญาโทที่ อ๊อกซฟอร์ด ในด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นช่วงที่หนักหนาสาหัสเป็นอย่างมาก เพราะแม้ว่าท๊อปได้ทุ่มเทให้กับศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่ กลับจบออกมาในแบบที่เรียกว่า เส้นยาแดงผ่าแปดแต่เมื่อมองย้อนกลับไป เขากลับพบสิ่งที่ล้ำค่า ที่เปรียบได้ดังวิชาแห่งชีวิต ที่เป็นสกิลติดตัวเขามาจนถึงทุกวันนี้
“ที่จบมาเนี่ย ผมไม่ได้ใช้ความรู้ในมหาวิทยาลัย เพราะว่าโลกมันเปลี่ยนเร็วมาก ๆ สิ่งที่ผมเรียนมันก็แอดวานซ์เกินไป มันเป็นทฤษฎีเป็นหลัก มันคืนคุณครูหมดแล้ว แต่สิ่งที่ได้จริง ๆ คือสกิล สกิลแรกก็คือ ความอดทน ต้องอดทนกว่าคนทั่วไป เพราะว่า 5 ปี อยู่ในห้องสมุด 7 วัน อ่านหนังสือ 12 – 14 ทุกวัน คริสต์มาสก็ไม่กลับไปเจอครอบครัว ช่วงที่อบอุ่นที่สุดของปี ก็ไม่ได้กลับไปเจอ เราเลือกที่จะอดทน
“สกิลที่ 2 ก็คือ เสียสละ เสียสละสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญในยุคนั้น ตอนนั้นก็แตกหนุ่มน่ะครับ เราก็คิดว่าอยากจะมีแฟนกับเขาบ้าง อยากจะไปปาร์ตี้เหมือนวัยรุ่นทั่วไป แต่เราก็เลือกที่จะรู้ว่าอันไหนสำคัญ อันไหนไม่สำคัญ พอเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน เราก็จะเสียสละสิ่งที่หลายคนคิดว่าสำคัญในยุคนั้น เพื่อให้ได้เป้าหมายที่เราวางไว้
“และสกิลที่ 3 ที่ผมได้ที่อังกฤษก็คือ วิธีการเรียนการสอนของเขา คือการเรียนการสอนที่สอนให้เด็กค้นคว้าสอนตัวเองให้เป็น ไม่ใช่ระบบ spoon-fed ไม่ใช่ไปบอกว่า ไปอ่านหน้านี้มาทำสอบได้แน่นอน ไม่ใช่ระบบความจำด้วยที่อ๊อกซฟอร์ด ข้อสอบไม่เคยซ้ำ 20 ปีติดต่อกัน ดังนั้นคุณต้องเข้าใจลึกซึ้งจริง ๆ แล้วแอพพลายด์กับเคสซีนาริโอต่าง ๆ ได้
“ข้อเสียคือเราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองทั้งหมดเลย แต่พอมองระยะยาว พอจบมามันเป็นข้อดี เพราะเราอยู่ในโลกที่ที่สิ่งที่อยู่ในมหาวิทยาลัย มันไม่ได้ตรงขนาดนั้นแล้ว สกิลเซ็ตต่าง ๆ ที่ใช้เวลา 50 ปีกว่าจะเปลี่ยน Textbook ที
“กว่าจะมีสกิลเซ็ตที่ตรงกับตลาดได้ มันไม่ได้อยู่ในยุคนั้นแล้ว ยุคนี้จะเรียนอะไรก็ได้ เรียนไปเลย เพราะไม่ได้ใช้อยู่ดีในมหาวิทยาลัย สิ่งที่ได้ใช้จริงๆ คือสกิลในการสอนตัวเอง ในการไม่หยุดการเรียนรู้ ในการสอนสกิลเซ็ตใหม่ ๆ เรียนรู้ตลอดเวลา อันนี้สำคัญที่สุด”
เริ่มสนใจธุรกิจที่เกี่ยวกับ Bitcoin
หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโท ท๊อปก็ตัดสินใจไปทำงานหาประสบการณ์ที่ประเทศจีน และสหรัฐฯ โดยช่วงเวลาดังกล่าวเขาก็เริ่มสนใจธุรกิจที่เกี่ยวกับ Bitcoin และได้ศึกษาหาความรู้ด้านนี้อย่างจริงจัง แม้ในเวลานั้น หลายคนจะมองว่าเป็นหนทางที่ค่อนข้างสุ่มเสี่ยง แต่สำหรับท๊อปแล้ว เขากลับมองเห็นโอกาส และคิดว่ามันคือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของระบบการเงินโลก
ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กล่าวว่า “การที่เราจะประสบความสำเร็จเกินค่าเฉลี่ยได้ เราต้องเป็นคนส่วนน้อยที่ถูกมาก ๆ เลย ที่คนส่วนใหญ่ผิดมาก ๆ เพราะผลลัพธ์มันจะแตกต่างอย่างมหาศาล มันคือ Supply Demand ที่จำนวน Supply มันน้อยมาก ๆ แต่ดันเป็น Demand ที่โตมหาศาล เพราะว่า เราเป็นคนส่วนน้อยที่ถูกมาก ๆ ที่เป็นทิศทางของโลก
“บิล เกตส์ , สตีฟ จอบส์ เหตุผลที่เขาประสบความสำเร็จมาก ๆ เลย ก็เพราะเขาไม่ใช่คนส่วนมากที่เห็นเหมือนกันว่า คอมพิวเตอร์จะมาเปลี่ยนแปลงโลก เขาเป็นคนส่วนน้อยมาก ๆ ในยุคเขา สองคนนี้สร้าง Operating System ขึ้นมาให้กับโลกน่ะครับ สตีฟ จอบส์ กับ บิล เกตส์ ก็ประสบความสำเร็จในยุคเขา
“พอมายุค เจฟฟ์ เบโซส์ , มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก , แลรี เพจ เขาเป็นกลุ่มคนที่เชื่อมั่นในอินเทอร์เน็ตมาก ๆ เลย ที่ออกมาจากงานประจำ เงินเดือนหลายแสน มาขายหนังสือกระดาษในอินเทอร์เน็ต ยุคนั้นรัฐบาลก็ออกมาบอกว่า คนจะสร้างอินเทอร์เน็ตไม่ได้เด็ดขาด ไอเดียนี้ รัฐบาลต้องเป็นผู้เดียวที่แชร์ข้อมูลให้กับประชาชนเท่านั้น คนอื่นจะมาสร้างเว็บไซต์ของตัวเองไม่ได้
“ตอนนั้นคนก็ออกมาต่อต้านอินเทอร์เน็ต แล้วคนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นอนาคตกับอินเทอร์เน็ต แต่สังเกตนะครับ ใครที่ยืนระยะได้ แล้วเป็นคนส่วนน้อยที่ถูกมาก ๆ เนี่ย ประสบความสำเร็จแบบมหาศาล เกินค่าเฉลี่ยแบบทุกคน
“หลายๆ คนที่อยู่ในวงการอินเทอร์เน็ต 20 ปี จะทำอะไรก็ได้ขอให้มันเป็นไดเรคชั่นของโลก โอกาสประสบความสำเร็จสูงมาก ๆ แต่ใครที่ออกมาก่อน ยอมแพ้ก่อน ก็จะไม่ได้โอกาสนั้น”
สร้างกิจการของตัวเอง เริ่มต้นจากคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว
เมื่อกลับมาเมืองไทย ท๊อปก็ได้เปิดบริษัทสตาร์ต-อัพ ให้บริการซื้อขาย Bitcoin ผ่านระบบออนไลน์ ในขณะที่มีอายุเพียง 23 ปี
“เริ่มบริษัทจากชั้นลอยที่ร้านขายเสื้อผ้าที่ประตูน้ำของคุณพ่อคุณแม่ เพื่อที่จะเปิดบริษัท ทั้งตัวก็มีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวที่ใช้เขียนวิทยานิพนธ์ ตอนนั้นเป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ก็เริ่มเครียดแล้ว ลูกชายจบมหาวิทยาลัยระดับโลก เพื่อน ๆ มีเงินเดือนหลายแสน ทำไมลูกชายมานั่งทำอะไรก็ไม่รู้ที่เรียกว่า Bitcoin
“เปิดร้านขายเสื้อผ้ามา ก็เห็นลูกชายจ้องอยู่หน้าคอมฯ ปิดร้านก็เห็นจ้องอยู่หน้าคอมฯ วันรุ่งขึ้น ก็เห็นจ้องอยู่หน้าคอมฯ เป็นอย่างนี้ 10 เดือน ไม่ออกสังคม ไม่คุยกับใคร เก็บเงินทุกบาททุกสตางค์ ทำทุกอย่างเอง เป็น 10 เดือนแรกที่ทรมานมาก ต้องทำโอเปอร์เรชั่น แอคเคาน์ติ้ง มาร์เก็ตติ้ง ทุกอย่างเองหมดเลย เพื่อที่จะเก็บเงินทุกบาททุกสตางค์ เพื่อที่จะมาขยายทีม
“ทำไปสักพักผมจำได้แม่นเลยครับ พอเริ่มเข้าปี 2557 (ค.ศ.2014) แบงก์ชาติก็เขียนจดหมายเตือนแบงก์พาณิชย์ทั้งประเทศ Bitcoin อาจจะเป็นแชร์ลูกโซ่ มูลค่าอาจเหลือ 0 อย่าเข้าไปยุ่ง พอคุณพ่อเห็นจดหมายก็เริ่มทะเลาะกับเรา ส่งเรียนขนาดนี้ ทำสิ่งที่แบงก์ชาติเตือนว่าอย่าเข้าไปยุ่ง อยากจะให้ล้มเลิก เราก็ดื้อ พอมีเป้าหมาย เราก็อยากทำให้มันได้ ไม่อยากล้มเลิก”
พิสูจน์ให้โลกเห็น ศักยภาพของคนไทย
ถึงจะต้องประสบกับอุปสรรคมากมาย แต่ท๊อปก็มั่นใจว่า เขามาถูกทางแล้ว แม้จะเป็นเส้นทางที่ขรุขระ เต็มไปด้วยขวากหนาม แต่ในที่สุดท็อปก็พิสูจน์ตัวเองได้สำเร็จ ก่อนจะขายกิจการให้บริษัทสตาร์ต-อัพยักษ์ใหญ่จากอินโดนีเซีย ต่อมาท๊อปก็เปิดบริษัท Bitkub ขึ้น ที่สร้างปรากฏการณ์เติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงเวลาไม่นานัก
“ตอนนี้ Bitkub ก็มีทั้งหมด 9 บริษัทแล้ว มีทั้งหมด 2 พันคนแล้ว แล้วเราวางตำแหน่งตัวเองว่า เป็นรากฐานเป็นดิจิทัลอินฟราสตรัคเจอร์ ให้กับประเทศไทย ซึ่งตอนนี้เราก็พยายามที่จะวาง Bitkub ให้เป็นรากฐาน เป็นแรงกำลังที่สำคัญ เพื่อที่จะปลดล็อกเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศไทย
“ซึ่งตอนนี้ Bitkub ก็ค่อนข้างจะเป็นแรงกำลังที่สำคัญ เพื่อที่จะให้เมืองไทยปรับตัวไปกับโลกดิจิทัลให้ได้ ช่วงบริษัทแรกก็คือพิสูจน์ให้คนที่ไม่เข้าใจเราส่วนใหญ่เลย ว่าคนส่วนใหญ่ผิด เราเป็นคนส่วนน้อยที่ถูก นี่ก็เป็นแรงผลักดันในบริษัทแรก
“อย่าง Bitkub เนี่ย แรงผลักดันตอนแรกคือ เราต้องสร้างยูนิคอร์นตัวแรกของประเทศไทยให้ได้ ให้บอกชาวโลกว่า คนไทยก็เก่ง ที่มาดูถูกคนไทยว่าตลาดเล็กเกินไป ไม่สามารถมียูนิคอร์นหรอก ไม่สามารถมีบริษัทเทคโนโลยีของตัวเองได้ เราก็อยากจะพิสูจน์ให้คนทั้งโลกเห็นว่าคนไทยก็ทำได้ เราก็เก่ง สามารถไปยืนที่ดาวอส ที่ World Economic Forum ที่เวทีของโลกได้”
AQ สกิลที่สำคัญในโลกอนาคต
และทั้งหมดก็คือเรื่องราวของ ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ในการบุกเบิกธุรกิจแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลในประเทศไทย ที่ต้องพบกับบททดสอบต่าง ๆ มากมาย โดยสุดท้ายนี้ ท๊อปได้กล่าวถึง AQ สกิลที่สำคัญยิ่งในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว...ในทุกวันนี้
ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กล่าวว่า “AQ เป็นสกิลเซ็ตที่สำคัญมากของโลกอนาคต ไม่ใช่แค่ผู้ผู้นำอย่างเดียว AQ ย่อมาจาก Adversity Quotient ไม่ใช่ IQ หรือ EQ ที่จะประสบความสำเร็จอีกต่อไป ในอนาคตคือความสามารถในการปรับตัว ที่จะต้อง Unlearn สิ่งเก่า ๆ และก็ Relearn สิ่งใหม่ ๆ เพราะเราอยู่ในโลกที่มันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก
“แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงไปในเรตที่เร็วขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยในอนาคต คนที่ไม่ยึดติดกับความสำเร็จเก่า ๆ เรียนรู้ตลอดเวลา กล้าที่จะศึกษาสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนไป ก็จะได้เห็นถึงโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งมันเป็นสกิลที่ผมคิดว่าทุกคนจำเป็นต้องมีในอนาคต
“โดยเฉพาะทุกคนที่อยู่ในวัยทำงาน ไม่ใช่แค่เด็ก ม.6 ที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ที่จะต้องเรียนอะไรไม่ใช่นะครับ ทุกคนที่ทำงานไปแล้วสักพักหนึ่ง อีกไม่นานก็จะต้องรีสกิล อัพสกิลตัวเอง เพราะว่าเราอยู่ในโลกที่มันต้องขับเคลื่อนด้วย Digital Economy มากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี
“ฝั่งของผู้นำหรือผู้ประกอบการ ต้องเข้ามาศึกษาโอกาสใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพราะว่าโลกมันเปลี่ยนไป โอกาสของโลกธุรกิจก็เปลี่ยนไป พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป Value ของลูกค้าก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นผมก็เลยคิดว่า AQ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และไม่ใช่สำคัญกับผู้นำเท่านั้น แต่สำคัญกับทุกคนในองค์กร”