เรื่องราวความเป็นมาของป่าช้าวัดดอน จากคำบอกเล่าของทายาท ผู้ที่ปรับพื้นที่ดังกล่าวเป็นสุสาน จนเป็นที่มาของตำนานความหลอนมากมาย ก่อนกลายมาเป็นสวนสุขภาพแต้จิ๋ว ในปัจจุบัน
“ดนตรีในสวน” กิจกรรมแสดงสดดนตรีในสวนสาธารณะ กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ารับตำแหน่งผู้ว่า กทม. โดยเฉพาะอีเว้นต์ในวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน ที่จะมีการจัดดนตรีในสวนโดยมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ณ สวนสุขภาพแต้จิ๋ว ก็สามารถเรียกความสนใจได้ไม่น้อย อันเนื่องมาจากสตอรี่ความเป็นมาของสถานที่ ซึ่งในอดีตถูกเรียกขานว่า “ป่าช้าวัดดอน” ที่มีตำนานหลอนๆ ชวนสะพรึง เล่าขานกันมาอย่างยาวนาน
และเนื่องจากผู้เขียนเคยสัมภาษณ์ทายาทของผู้ที่เคยได้รับกรรมสิทธิ์ในการจัดสรรพื้นที่บริเวณนี้ เพื่อจัดทำหนังสือ “ธุรกิจศพ” ตีพิมพ์เผยแพร่ เมื่อปี 2547 (เกือบ 20 ปีที่แล้ว) จึงขอนำเรื่องราวความเป็นมาแบบ Exclusive จากคำบอกเล่าของ คุณสุจิตต์ สุจินัย ซึ่งในเวลานั้นมีอายุ 80 ปี โดยท่านเป็นบุตรชายคนที่ 3 ของหลวงสิทธิ์ สุโรปกรณ์ ต้นตำนานของป่าช้าวัดดอน มาเล่าสู่กันดังต่อไปนี้
บทความที่น่าสนใจ
สรุปให้... แอดไลน์ เพื่อนชัชชาติ ร้องเรียนปัญหาเส้นเลือดฝอยของ คนกรุงเทพ
4 นโยบายชัชชาติ สนับสนุนความเท่าเทียม โอบรับความหลากหลาย LGBTQIA+
ชัชชาติ นำทีมพายเรือคายัค เก็บขยะแม่น้ำเจ้าพระยา ในวันสิ่งแวดล้อมโลก
กำเนิดป่าช้าวัดดอน
ที่ดินป่าช้าวัดดอน แต่เดิมนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของหลวงสิทธิ์ สุโรปกรณ์ ซึ่งเดินทางมาจากประเทศจีน เข้ามาเผชิญโชคในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามคำชักชวนของเพื่อนที่ได้รับสัมปทานทำโรงงานยาสูบในเวลานั้น โดยท่านได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการ
ต่อมาทางการได้ประกาศให้กิจการด้านยาสูบและสุราเป็นของรัฐ ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้ไปบริหารจัดการโรงงานสุราบางยี่ขัน ได้รับการพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “คุณหลวง” ในสมัยรัชกาลที่ 6 และได้รับสิทธิ์ในการจัดสรรที่ดินย่านสาธรกว่าร้อยไร่ หลวงสิทธิ์จึงนำที่ดินดังกล่าวมาสร้างเป็นสุสาน ที่ต่อมาเรียกขานกันว่า “ป่าช้าวัดดอน” เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ให้กับประชาชน
โดยคุณสุจิตต์เล่าว่า ในยุคนั้นศพที่นำมาฝังในสุสานแห่งนี้ส่วนมากมาจากโรงพยาบาลเทียนฟ้า ที่ส่วนใหญ่เป็นคนจนที่เจ็บป่วย ไปรักษาแล้วเสียชีวิต ไม่มีญาติมารับศพ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจึงนำมาฝังบริเวณนี้
ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนอพยพไร้ญาติขาดมิตร หรือหากพอมีญาติอยู่บ้าง ก็ไม่อยู่ในฐานะที่สามารถจัดการเรื่องศพให้ได้ เพราะยุคนั้นคนจีนอพยพส่วนใหญ่กำลังอยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัว
ศพไร้ญาติส่วนมากจึงถูกลำเลียงมาฝังยังบริเวณนี้ จนมีหลุมศพเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลวงสิทธิ์จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลสุสานจำนวน 7 คน แต่เมื่อหลวงสิทธิ์และคณะกรรมการบางส่วนเสียชีวิต จนเหลือผู้ดูแลแค่ 2 คน ทางสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย โดยคุณสหัส มหาคุณ ซึ่งเป็นประธานในช่วงเวลานั้น ก็ได้ชักชวนกรรมการที่เหลือเข้าร่วมบริหารสมาคม จึงทำให้สุสานแห่งนี้อยู่ในความดูแลของสมาคมแต้จิ๋วฯ นับจากนั้นมา
ป่าช้าใหญ่กลางใจเมือง
หนังสือธุรกิจศพระบุว่า ก่อนที่เขตสาธรจะเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าว ป่าช้าวัดดอนเป็นสุสานขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณซอยเจริญกรุง 57 เชื่อมต่อจนถึงเซ็นต์หลุยส์ ซอย 3 อยู่ในพื้นที่แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาธร
ต่อมาสุสานแห่งนี้อยู่ในความดูแลของ 3 องค์กร คือ สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย มูลนิธิปอเต็กตึ้ง และสมาคมไหหลำด่านเกเต้ มีศพฝังอยู่บริเวณนี้กว่าหมื่นศพ ศพที่ฝังในลักษณะของฮวงซุ้ย จำนวน 7,961 ศพ ศพที่บรรจุอัฐิอีก 1,800 ศพ และศพไร้ญาติบรรจุรวมกันมากกว่าหมื่นศพ
ในส่วนของสุสานมีพื้นที่ประมาณ 87 ไร่ ตั้งอยู่ด้านหลังสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ประชาชนทั่วไปจะเข้าไปในสุสานได้ ก็คือช่วงเทศกาลเช็งเม้ง
จากป่าช้าวัดดอน สู่สวนสุขภาพ
ก่อนที่จะมีการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าว มีสุสานที่อยู่บริเวณนอกรั้วตั้งอยู่ 2 ข้างทางของซอยเจริญกรุง 57 สภาพของฮวงซุ้ยส่วนใหญ่ชำรุดทรุดโทรม ขาดการดูแลเอาใจใส่ หญ้าขึ้นรกปกคลุม สภาพพื้นที่เป็นแอ่งมีน้ำท่วมขัง และมักมีการนำขยะ เศษหิน เศษปูน มาทิ้งบริเวณดังกล่าว ทำให้บรรยากาศวังเวงน่ากลัว จนเป็นที่มาของตำนานหลอนๆ ต่างๆ มากมาย
แต่ต่อมาพื้นที่บางส่วนถูกเวนคืนไปสร้างเป็นทางด่วน และบริเวณใกล้เคียงมีสภาพเป็นชุมชนมากขึ้น จึงได้มีการพัฒนาปรับปรุงสถานที่เป็นระยะ กระทั่งในปี 2539 ก็เกิดโครงการสวนสวยในป่าช้า ซึ่งเป็นแนวคิดและนโยบายของ คุณนิคม ไวยรัชพานิช ในขณะที่เป็นผู้อำนวยการเขตสาธร ในยุคนั้น โดยถือว่าการปรับปรุงป่าช้าวัดดอน เป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งของการทำเมืองให้น่าอยู่ โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนและองค์กรต่างๆ ที่ช่วยกันเปลี่ยนป่าช้าที่น่ากลัวให้เป็นสวนป่า และสวนสาธารณะ ตามลำดับ เพื่อให้ประชาชนได้มาออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวความเป็นมาของป่าช้าวัดดอน จากคำบอกเล่าจาก คุณสุจิตต์ สุจินัย ทายาทหลวงสิทธิ์ สุโรปกรณ์ ก่อนจะกลายสวนสุขภาพแต้จิ๋ว ที่ร่มรื่นในปัจจุบัน
ที่มา : หนังสือ “ธุรกิจศพ” ผู้เขียน : ศราวุธ เอี่ยมเซี่ยม สำนักพิมพ์เวิร์คพอยท์ พับลิชชิ่ง จำกัด พิมพ์ครั้งแรก : กรกฏาคม 2547
ภาพจาก คมชัดลึก , เนชั่นออนไลน์