svasdssvasds

รวบรวมความเคลื่อนไหวทรงผมนักเรียนไทย สรุปก้าวสำคัญที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปี

รวบรวมความเคลื่อนไหวทรงผมนักเรียนไทย สรุปก้าวสำคัญที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปี

ประเด็นร้อนเรื่อง ทรงผมนักเรียนไทย เป็นบทสนทนา ที่ไม่เคยห่างหายไปจากสังคมไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา การเข้ามาของโซเชียลมีเดียช่วยให้เกิดการรวมตัวและมีพลังในการเปลี่ยนแปลง ข้อเรียกร้องที่มีต่อโรงเรียนและครูผู้สอน ที่ต้องให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคลของนักเรียน

การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย นอกจากปฏิวัติการสื่อสารขนานใหญ่ ยังเป็นจุดเริ่มของการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกันและกลุ่มคนที่มีบาดแผลเดียวกัน เช่น นักเรียนไทย 

กลุ่มการรวมตัวบนโซเชียลออนไลน์ในประเด็นเรื่องการศึกษาและสิทธิของ นักเรียนไทย ที่ยังมีความเคลื่อนไหวจนปัจจุบันนี้ ได้แก่ RSE - กลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย, องค์กรต่อต้านทรงผมนักเรียนไทย และ นักเรียนเลว

จากการสืบค้นความเคลื่อนไหวของกลุ่ม นักเรียนไทย ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีความเปลี่ยนแปลงที่น่าชื่นชมและความอัดอั้นที่ยังไม่คลี่คลาย 

ว่ากันด้วยเรื่องน่ายินดีกันก่อน คือ การปลดแอก จากกฏระเบียบโรงเรียนหลายแห่งที่ยังขัดกับกฏกระทรวง ในเรื่องทรงผม มีหลายโรงเรียนที่รับเรื่องและนำไปใช้จริงการรวมกลุ่มกันของเหล่านักเรียน เกิดเป็นพลังให้ผู้ใหญ่หยุดฟัง รวมถึงได้เปล่งเสียงความต้องการของตัวเอง ผ่านสื่อเป็นครั้งแรก และมีเวทีให้สองฝ่ายได้พูดคุยรับฟังเหตุผลของกันและกันอีกหลายครั้งหลังจากนั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 จนมาถึงปัจจุบันความเคลื่อนไหวนี้ ได้รับการถ่ายทอดในมุมมองของแบรนด์ด้านความสวย ความงาม ที่พยายาม สร้างพลัง ให้กับ นักเรียนไทยโดยเฉพาะนักเรียนหญิงให้มั่นใจในรูปลักษณ์และกล้าที่จะเลือกเพื่อตัวเอง แม้น่าเศร้าที่รู้ว่ายังมีข่าวเรื่องเด็กนักเรียนโดนครูลงโทษ กล้อนผม ไถหัว จนทำให้เกิดความอับอาย ผ่านเข้ามาให้ได้รับรู้อยู่ทุกปี แต่ก็ต้องถือว่าทิศทางการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เพียงต้องรอเวลาให้ทั้งประเทศพร้อมรับและเปลี่ยนทัศนคติที่ถือเป็นเรื่องยากที่สุด 

สรุปเหตุการณ์ ความเคลื่อนไหวที่สำคัญในเรื่องหน้าและผมของ นักเรียนไทย แบบฉบับย่นย่อได้ดังนี้

  • ในปี 2556 กลุ่มนักเรียนที่นำโดย นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล หนึ่งแกนนำก่อตั้ง สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทยและกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้ออกรายการ เจาะข่าวเด่นสรยุทธ ในหัวข้อพูดคุยเรื่อง ปิดฉากกฎเหล็ก ทรงผมนักเรียน ยกเลิกหัวเกรียนสั้นเสมอหูในขณะนั้นกลุ่มนักเรียนโดยกระแสตีกลับ โจมตี รุนแรง มองว่าเป็นเด็กก้าวร้าว เรียกร้องเรื่องไร้สาระ แต่กลายเป็นว่าการส่งเสียงในวันนั้นทำให้กระลมพัดกลับไปในทางตรงกันข้ามในวันนี้ ที่เกิดความเข้าอกเข้าใจ และผู้ใหญ่เองก็ร่วมแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวที่เกิดขึ้นกับตัวเองสังคมเกิดการถกเถียงกันในทิศทางที่ยืดหยุ่นและรับฟังความต้องการนี้มากขึ้น แม้จะค่อยเป็นค่อยไป แต่ถือว่าการเคลื่อนไหวนี้จุดติดแล้วนับแต่นั้น
  • ในวันที่ 1 พ.ค. 2563 ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ ทรงผมนักเรียน พ.ศ.2563 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 2563 ที่เป็นฉบับล่าสุดถือเป็นการย้ำเตือน ว่าไม่มีการบังคับเรื่องทรง “เกรียน-ติ่งหู” อีกต่อไปแล้ว นับจากที่ “เกรียง กีรติกร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 6 ม.ค. 2518 แก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 1 ในวันที่ 6 ม.ค. 2518 จะประกาศเรื่องการไว้ทรงผมของนักเรียนไทยนี้ไว้ชัดแล้วก็ตาม โดยมีใจความว่า "นักเรียนชายตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผม หรือไว้หนวดไว้เครา นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย” 
  • ในวัน 23 พ.ย. 2563 #ทรงผมบังเพื่อน กลายเป็นเทรนด์และมีมที่ถูกคนดังในแวดวงต่างๆ หยิบไปล้อเลียน หลังจากที่ นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ได้ไปออกรายการ ถามตรงๆกับจอมขวัญ ในหัวข้อ ม็อบนักเรียน สะท้อนปัญหาระบบการศึกษา? ร่วมโต๊ะกับตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว โดยในช่วงหนึ่งเขาได้ กล่าวว่า

"สมมุติว่าถ้าน้องจะทำผมยาวสักศอกหนึ่ง คนที่เดือดร้อนคือพ่อแม่ ต้องซื้อยาสระผมมาสระให้นักเรียน เวลาเรามานั่งในห้องเรียนผมเราที่ยาวเป็นศอกก็บังเพื่อนอยู่ด้านหลัง นี่คือความรู้สึกของคนอื่น แต่ความรู้สึกของเรา กำหนดแค่สิทธิของเรา แต่ไม่รู้ว่าหน้าที่ที่เราต้องอยู่ในสังคม"

 โดม เดอะสตาร์ และครูทอมสองในคนมีชื่อเสียงที่ออกมาแสดงล้อเลียนถึง กระแส #ทรงผมบังเพื่อน

  • ในปีนี้ 2565 Dove และ Mistine สองแบรนด์ที่กล้าเล่นประเด็นเรื่องรูปลักษณ์และการให้ความสำคัญ ที่จะสร้างความมั่นใจให้นักเรียน ปลดแอกจากกฏที่ละเมิด กดขี่สิทธิส่วนบุคคล ตอกย้ำให้ผู้ใหญ่เปลี่ยนมุมมองกับการครอบงำและตีกรอบให้เด็กๆ ในเรื่องส่วนตัวของพวกเขาได้ลองผิดลองถูก เรียนรู้ค้นหาตัวตนด้วยประสบการณ์ของตัวเอง ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใหญ่มองว่าถูกหรือผิดในความคิดของพวกเขา 

โดย Dove เลือกใช้ #LetHerGrow ที่มุ่งเน้นในประเด็นเรื่องทรงผมและความมั่นใจ และสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง จนเป็นไวรัลที่มียอดวิวขณะนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านครั้ง ในเวลาไม่ถึงเดือน 

ส่วนแคมเปญของ MISTINE ได้ติด #ฉายแสงทุกการเติบโต เพื่อสื่อสารไปถึงคนในสังคมและผู้ที่อยู่ระบบการศึกษาทั้งโรงเรียนและคุณครู ได้ทบทวนบทบาทและการบังคับกฏระเบียบกับนักเรียนในประเด็นเรื่องการสร้างเสริมความมั่นใจผ่านเครื่องสำอางค์ที่เรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของแต่ละคน 

และล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2565 กลุ่ม นักเรียนเลว ได้ออกแคมเปญ รณรงค์ติด #เสรีทรงผม หน้าโรงเรียนดังทั่วกทม. ต้อนรับการเปิดเทอมแบบ On-site ในวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากต้องปิดยาวตลอดช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียน ให้อิสระกับนักเรียนไทยในการไว้ผมทรงใดก็ได้ ตัดผมทรงใดก็ได้ ทำผมแบบไหนก็ได้ไปเรียน โดยไม่มีการบังคับ  


 

สรุปรายงานร้องเรียนประจำสัปดาห์ วันที่ 8 พฤษภาคม - 14 พฤษภาคม 2565 จากกลุ่มนักเรียนเลวพบว่า มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาถึง 179 เรื่อง โดย เรื่องทรงผม ยังเป็นเรื่องที่มีเด็กร้องเรียนเข้ามามากที่สุดถึง 133 เรื่อง คิดเป็น 74.30 % ของข้อร้องเรียนทั้งหมด

แม้ว่าจะมี กฏกระทรวง ที่ประกาศออกมาแล้วก็ตาม แต่การหน้างานภาคปฏิบัติยังดูเหมือนว่า หลายๆ โรงเรียนยังยึดถือธรรมเนียมเดิมอยู่อย่างเหนียวแน่น และลงโทษเด็กแบบประจานให้อับอายโดยไม่ได้ตระหนักถึงการละเมิดสิทธิตามหลักสากล รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองเอง ที่ไม่ได้รับข้อมูลที่เปลี่ยนไปแล้ว จนมีคลิปหลุดที่แม่และลูกสาวเถียงกันในที่สาธารณะ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่าน โดยที่ไม่ได้เข้าใจที่มาหรือรับฟังความต้องการของเด็กที่เป็นเจ้าของร่างกายและกฏที่ปรับให้เข้ากับยุคสมัยไปนานแล้ว แต่ผู้ใหญ่เองที่ไม่ปรับตัวและอัปเดตข้อมูล 

ที่มา
1 2 3