svasdssvasds

ทางเลือกของสามมิตร กลืนเลือดที่พลังประชารัฐ กลับเพื่อไทย ไปอยู่กับบิ๊กตู่

ทางเลือกของสามมิตร กลืนเลือดที่พลังประชารัฐ กลับเพื่อไทย ไปอยู่กับบิ๊กตู่

ทางเลือกแห่งการอยู่รอดของกลุ่มสามมิตร หลังจากพ่ายศึกยึดพรรค และถูก ร.อ.ธรรมนัส แอนด์เดอะแก๊ง ไล่ทุบเอาคืน ในวันนี้จึงต้องตัดสินใจว่า จะอยู่พลังประชารัฐ แต่ต้องกลืนเลือด หรือเลือกหนทางอื่น ที่อาจจะทำให้กลุ่มสามมิตรกลับมาผงาดหลังเลือกตั้งสมัยหน้าได้อีก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มสามมิตรมีบทบาทสำคัญที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐ ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง ปี 2562 แม้ตอนนี้กำลังตกที่นั่งค่อนข้างลำบาก แต่ทุกการขยับ ก็ต้องจับตามอง และในวันที่กลุ่มสามมิตรกำลังโดน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แอนด์เดอะแก๊ง บดขยี้อย่างหนัก สามมิตรก็จำเป็นต้องเลือกเส้นทางที่คาดว่าน่าจะดีที่สุด เพื่อให้ยังมีพื้นที่ในเวทีการเมือง แต่ก่อนจะถึงเรื่องของทางเลือกต่างๆ นั้น ขอย้อนปูมหลังกันสักนิด

1. กลุ่มสามมิตร VS สี่กุมาร

พรรคพลังประชารัฐ มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มสี่กุมาร แต่ความช่ำชองทางการเมือง เมื่อเทียบกับกลุ่มสามมิตร ที่ยกก๊วนมาร่วมวงด้วย ยังถือว่าค่อนข้างห่างชั้น

หลังการเลือกตั้งปี 2562 กลุ่มสี่กุมาร ที่ครองตำแหน่งสำคัญในพรรคพลังประชารัฐ ทั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการ ฯลฯ รวมถึงตำแหน่งระดับบิ๊กเบิ้มหลายโควต้าในรัฐบาล ก็ถูกกลุ่มสามมิตร ที่ร่วมกับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส แอนด์เดอะแก๊ง หรือ 4 ช. โค่นอำนาจแบบถอนรากถอนโคนในปี 2563 แล้วดันบิ๊กป้อมขึ้นเป็นหัวหน้าอย่างเป็นทางการ ส่งอนุชา นาคาศัย แกนนำกลุ่มสามมิตร ขึ้นเป็นเลขาธิการ สร้างความชอกช้ำให้กับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และกลุ่มสี่กุมาร จนต้องลาออกจากพรรคและรัฐบาล ไปพร้อมกับความคลั่งแค้นที่สุมแน่นเต็มอก

อนุชา นาคาศัย , สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ สมศักดิ์ เทพสุทิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

2. กลุ่มสามมิตร VS ธรรมนัส แอนด์เดอะแก๊ง

แต่ต่อมากลุ่มสามมิตร ก็ถูก ร.อ.ธรรมนัส แอนด์เดอะแก๊ง โค่นอำนาจ ด้วยการเขี่ยอนุชา แกนนำกลุ่มสามมิตร พ้นเก้าอี้เลขาฯ แล้ว ร.อ.ธรรมนัส ก็ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคแทน รวมถึงกลุ่มของตัวเองก็เข้ามามีตำแหน่งสำคัญในพรรคเป็นจำนวนมาก สร้างความเจ็บแค้นให้กับกลุ่มสามมิตร ที่นับจากนั้นก็เฝ้ารอวันเอาคืน

3. บิ๊กตู่ ผลึกสามมิตร VS ธรรมนัส แอนด์เดอะแก๊ง

กระทั่งเมื่อปฏิบัติการห้าวเป้งของ ร.อ.ธรรมนัส คว่ำบิ๊กตู่กลางสภาไม่สำเร็จ กลุ่มสามมิตรก็สบโอกาสคิดบัญชี ด้วยการประกาศตัวอย่างชัดเจนว่ายืนข้างบิ๊กตู่ และหลังจากผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ บิ๊กตู่ก็เอาคืนทันควัน ด้วยการสั่งปลด ร.อ.ธรรมนัส จาก รมช.เกษตรฯ

การหักดิบของบิ๊กตู่ แม้จะดุดัน เด็ดขาด อีกทั้งยังเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อกำราบไม่ให้เกิดกรณีลูบคมเช่นนี้อีก แต่เมื่อคำนวณแล้ว ถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย เพราะสร้างความไม่พอใจให้บิ๊กป้อม พี่ใหญ่แห่งกลุ่ม 3 ป. เป็นอย่างยิ่ง

มวยสไตล์ดุอย่างบิ๊กตู่ เมื่อออกหมัดแล้ว ก็ต้องน็อกให้ได้ ปฏิบัติการพยายามยึดพรรคพลังประชารัฐ จึงตามมา โดยมีเป้าหมายสำคัญคือดีด ร.อ.ธรรมนัส ให้กระเด็นตกเก้าอี้เลขาธิการ

แม้เกมนี้จะพุ่งเป้าไปที่ ร.อ.ธรรมนัส แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับการบีบให้บิ๊กป้อมต้องเลือกข้าง ระหว่างน้องที่รัก กับลูกน้องที่ใช่

โดยกลุ่มสามมิตร ได้เดิมเกมให้มีการประชุมพรรค เพื่อปรับโครงสร้างบริหาร ก่อนถึงวันเผด็จศึกได้มีการวิเคราะห์กันว่า คราวนี้เห็นที ร.อ.ธรรมนัส รอดยาก แต่แล้วบิ๊กป้อมก็คำรามระหว่างการประชุมแกนนำพรรคว่า “ถ้าทะเลาะกันไม่เลิก ตนจะลาออก”

แล้วเมื่อการประชุมใหญ่มาถึง ก็ไม่ได้มีการปรับโครงสร้างใดใด ร.อ.ธรรมนัส ยังคงเป็นเลขาธิการ ทำเอาทั้งฝั่งสามมิตร กับบิ๊กตู่ แทบกระอักเลือด

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำกลุ่มสามมิตร

4. ธรรมนัส บารมีคับพรรค

หลังจากนั้นความพยายามที่จะบดขยี้ ร.อ.ธรรมนัส ก็อ่อนแรง และฝั่งสามมิตรต้องอยู่อย่างกล้ำกลืน ล่าสุดก็คือการประกาศตัวผู้ชิง ส.ส. 3 คนในจังหวัดน่าน จากเดิมที่คาดว่าจะเป็นคนของกลุ่มสามมิตร แม้คราวก่อนไม่ได้ ส.ส.ในจังหวัดนี้ แต่คะแนนก็ไม่ได้ขี้เหร่ อยู่ในระดับลุ้นขึ้น แต่แล้วกลับถูกเปลี่ยนตัวยกแพ็คเป็นคนของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ไปซะงั้น แบบไม่ไว้หน้ากันเลย

ในเวลานี้กลุ่มสามมิตรจึงต้องประเมินสถานการณ์อย่างหนัก เพราะถึงแม้ยังพอมีที่ยืน ยังพอมีทางไป แต่ก็ถือว่าค่อนข้างวิบาก และหากตัดสินใจพลาดซ้ำ ก็อาจถึงขั้นหมดพื้นที่ในสภาหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า  

5. ยอมกลืนเลือดที่พลังประชารัฐ

เมื่อมีแนวโน้มว่าจะถูก ร.อ.ธรรมนัสตีกินไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเห็นการขยับของกลุ่มสามมิตร โดยใช้วิธี “ฝากเลี้ยง” นำผู้สมัคร ส.ส.ของกลุ่มส่วนหนึ่ง ไปลงสมัครในนามของพรรคการเมืองอื่น อาทิ พรรคพลังท้องถิ่นไท เป็นต้น

โดยถ้าโฟกัสที่เป้าหมายใหญ่ของกลุ่มสามมิตร ก็คือต้องอยู่ในพรรคที่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในการเลือกตั้งสมัยต่อไป พลังประชารัฐยังถือว่าเป็นเต็งหนึ่ง แต่ด้วยบทบาทบารมีในพรรคของกลุ่มสามมิตรที่ลดน้อยถอยลงจนอำนาจต่อรองเหลือน้อยนิด ฉะนั้นหากอยู่ต่อก็ต้องคิดหนัก และต้องกลั้นใจฝืนกลืนเลือดไม่รู้อีกเท่าใด

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

6. กลับไปพรรคเพื่อไทย

แกนนำหลายคนของกลุ่มสามมิตร ก็เคยอยู่พรรคเพื่อไทยเดิม (ไทยรักไทย) ไม่ว่าจะเป็น สมศักดิ์ เทพสุทิน , สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และอนุชา นาคาศัย ฯลฯ การกลับไปพรรคดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นแสนเข็ญนัก อีกทั้งยังเป็นพรรคใหญ่ ที่บารมีไม่น้อยกว่าพลังประชารัฐ

แต่ด้วยเป้าหมายของกลุ่มสามมิตร คือต้องอยู่ในพรรคที่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แม้แน่นอนแหละว่า ในการเลือกตั้งสมัยหน้า พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะมีกลไกสกัดกั้นไว้หลายชั้น โดยเฉพาะ ส.ว. บทเฉพาะกาล 250 คน ที่ยังสามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ เส้นทางนี้จึงทำให้กลุ่มสามมิตรต้องคิดหนักอีกเช่นกัน

7. ไปอยู่กับบิ๊กตู่

ถึงชั่วโมงนี้ บิ๊กตู่น่าจะถอดใจในการยึดพรรคพลังประชารัฐไปแล้ว แม้ทางพรรคยืนยันว่าจะหนุนบิ๊กตู่เป็นนายกฯ อีกในสมัยหน้า แต่อะไรๆ มันก็ไม่แน่นอน โดยเฉพาะข่าวลือที่หนาหูขึ้นเรื่อยๆ ว่า พลังประชารัฐ กับเพื่อไทย อาจจะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล โดยมีเงื่อนไขสำคัญ นายกฯ ต้องไม่ใช่บิ๊กตู่

ฉะนั้นแล้วจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่บิ๊กตู่มีการเตรียมพรรคเพื่อเป็นฐานเสียงในการสู้ศึกเลือกตั้ง ซึ่งหากกลุ่มสามมิตรจะย้ายมาซบ บิ๊กตูก็น่าจะยินดี เพียงแต่กำลังสำคัญของพรรคว่ากันว่าคือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และกลุ่มสี่กุมาร โจทก์เก่าของกลุ่มสามมิตร ซึ่งถ้าสมคิดกับสี่กุมาร เจ็บแล้วจำ ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่กลุ่มสามมิตรจะเข้ามาร่วมพรรคดังกล่าวได้

นอกจากนั้น ก็มีความเป็นไปได้ ที่กลุ่มสามมิตรอาจจะเข้าร่วมกับพรรคขนาดกลาง ที่มีโอกาสเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แม้จะลดเลเวลของกลุ่มลง แต่ก็ไปอย่างมีมูลค่า และน่าจะมีอำนาจต่อรองค่อนข้างสูง ซึ่งทั้งนี้และทั้งนั้น ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า กลุ่มสามมิตรจะเลือกหนทางใด ?  

อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

แหล่งข้อมูล

ฟังธง ! “สามมิตร” เลือกข้างผู้ชนะ | เจาะลึกทั่วไทย | 01 ธ.ค. 64

'สามมิตร' สามทาง | เนชั่นอินไซด์ | NationTV22

บิ๊กตู่ ปลดธรรมนัส เหมือนชนะ แต่อาจแพ้

มองเกมอย่างสมชัย : บิ๊กตู่ปลดธรรมนัสด้วยอารมณ์ ระวังสึนามิทางการเมือง

related