SpringNews สัมภาษณ์ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ย้ำจุดยืนชัด ไม่เห็นด้วยกับการโยก 1.6 หมื่นล้านเข้างบกลาง ให้บิ๊กตู่ ชี้เขาไม่ทำกัน เผย แปลกใจ พรรคเพื่อไทยโหวตเห็นด้วย
จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน แม้ปัจจุบันไม่ได้มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่อย่างที่รู้ๆ กัน เขาเป็นหนึ่งในเครือข่าย สายการเมืองที่ยึดมั่นหลักการและเหตุผล
และจากกรณีศึกงบ 1.63 หมื่นล้านบาท ที่มาจากการปรับลด แล้วคณะกรรมาธิการฯ มีมติให้นำเข้างบกลาง โดยกรรมาธิการในส่วนของพรรคก้าวไกล ได้มีมติไม่เห็นด้วย พร้อมชี้ว่า มันไม่ต่างอะไรกับการตีเช็คเปล่าให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะที่กรรมาธิการของพรรคเพื่อไทย กลับโหวตเห็นด้วย จึงเกิดคำถามตามมามากมาย รวมไปการกระทบกระทั่งระหว่างทั้ง 2 พรรค ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ซึ่งในประเด็นการโยกงบ 1.63 หมื่นล้านเข้างบกลาง จาตุรนต์ ฉายแสง ก็แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วย ผ่านการโพสต์เพจเฟซบุ๊ก ในวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา และเมื่อ SpringNews ติดต่อขอสัมภาษณ์เขาในประเด็นดังกล่าว จาตุรนต์ก็ยังย้ำจุดยืนอย่างหนักแน่น พร้อมให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
ความคิดเห็นต่อกรณี กรรมาธิการมีมติ นำงบฯ ที่ปรับลดได้ 1.63 หมื่นล้าน เข้างบกลาง
“ผมฟังเรื่องนี้ตอนแรก ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าพรรคใดเสนอ แต่ว่าดูที่ข้อเสนอและข้อสรุป ในฐานะที่เคยทำงาน เคยเป็นกรรมาธิการ เคยต้องอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายหลายๆ ครั้งก็เห็นว่า มันเป็นเรื่องแปลกที่คณะกรรมาธิการไปยกงบประมาณที่ตัดได้ เข้างบกลาง
“เพราะปกติแล้ว กรรมาธิการควรจะพิจารณางบประมาณที่รัฐบาลเสนอเข้ามา ซึ่งมันจะเป็นการระบุไปเลยว่า จะให้หน่วยงานไหน แต่การโอนกลับไปไว้ที่งบกลาง มันจะกลายเป็นการให้อำนาจกับนายกฯ (ในการใช้งบ) จึงเท่ากับว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูลอะไรที่รับรู้มาตลอดการทำหน้าที่กรรมาธิการ กลายเป็นลดบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติในการจัดสรรงบประมาณ”
ยัน ไม่นำงบฯ ที่ปรับลดได้ เข้างบกลาง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
“เท่าที่ฟังดูก็มีการโต้แย้งกัน หรือความเห็นที่ต่างกัน มีทั้งความเข้าใจที่ตรงกับกฎกติกา และมีทั้งเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากกฎกติกา เช่นมีการบอกว่า คณะกรรมาธิการไม่สามารถเลือกได้ว่า จะโอนงบที่ตัดได้ไปไว้ที่ไหน ต้องโอนไปที่งบกลางเท่านั้น
“ซึ่งความจริง มันไม่ใช่ จริงๆ แล้วงบกลางก็เป็นรายการหนึ่งที่ ครม.รวบรวมเสนอมา แต่ว่า ครม.รวบรวมเสนอมาอีกหลายรายการ รวมๆ กันแล้วแสนกว่าล้านบาท งบกลางเป็นเพียงรายการหนึ่งเท่านั้น
ทีนี้ คณะกรรมาธิการ หรือ ส.ส.บอกว่า ไม่สามารถแปรญัตติเพิ่มงบให้กับหน่วยงานอื่นได้ รัฐธรรมนูญบอกให้ตัดได้อย่างเดียว เขาก็ตัดมาได้ 1.63 หมื่นล้านบาท ก็เกิดปัญหาว่าจะเอาไปไว้ที่ไหน จึงมีการให้หน่วยงานต่างๆ เสนอผ่าน ครม. เพราะฉะนั้นกรรมาธิการก็สามารถเลือกหน่วยงานต่างๆ ได้ ตามที่ ครม.เสนอ ไม่เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย เป็นเรื่องที่ทำมาหลายสิบปีแล้ว กรรมาธิการสามารถเลือกได้ โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยุทธพงศ์ ลั่น ลาออกจาก ส.ส. หากพบทุจริตงบกลาง ตีเช็คเปล่าให้บิ๊กตู่
จับตา ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เปลี่ยนม้ากลางศึก เปลี่ยนนายกฯ กลางสภา ?
กรณีการโอนงบฯ เข้าหน่วยงานต่างๆ ที่ขัดรัฐธรรมนูญ
“แต่ถ้าเป็นกรณีที่กรรมาธิการคนไหน จะเสนอเอางบไปให้หน่วยงานใด หรือไปเจรจากับหน่วยงานใด ที่ไม่ได้ส่งมาจาก ครม. มันทำไม่ได้ หากทำอย่างนั้น ก็ขัดรัฐธรรมนูญ
“และถ้าทำอย่างนั้น แล้วมีการเสนอเข้าไปที่คณะกรรมาธิการให้พิจารณา สำนักงบประมาณก็จะท้วงว่า ทำอย่างนี้ไม่ได้ ขัดรัฐธรรมนูญ พวกเขาจะติดคุกไปด้วย มันก็จะไม่เกิดขึ้นหรอก”
ชี้ การใช้งบฯ 1.63 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโควิด เป็นเพียงข้ออ้าง
“ส่วนที่บอกว่าหน่วยงานต่างๆ ที่เสนอมา ไม่มีอะไรเกี่ยวกับโควิดเลย เพราะฉะนั้นต้องเอาไปไว้ในงบกลาง ถึงจะนำไปทำเรื่องโควิดได้ อันนี้ก็เป็นการให้เหตุผลที่คลาดเคลื่อนไปเยอะ
“คือหน่วยงานต่างๆ ที่เสนอมา ไม่ใช่มีแต่เรื่องโควิดเท่านั้น ในขณะเดียวกัน การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี มันไม่ใช่มีแต่เรื่องโควิดที่จะต้องทำ เพราะในงบประมาณปี 2565 กว่า 3 ล้านล้านบาท มันก็เป็นงบประมาณต่างๆ สารพัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลปัจจุบันได้ออก พ.ร.ก.กู้เงินไปตั้ง 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับโควิดทั้งนั้น
“เพราะฉะนั้นเรื่องโควิด โดยหลักแล้วมันอยู่นอกงบประมาณรายจ่ายประจำปี การที่บอกว่า โยกเงินที่ตัดได้ไปไว้งบกลาง เพื่อนำไปใช้เรื่องโควิด มันจึงไม่มีเหตุผลรองรับ”
ซัด รัฐบาลใช้งบเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท แก้โควิด อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
“รัฐบาลใช้งบ 1.5 ล้านล้าน แบบไม่มีประสิทธิภาพเลยในเรื่องโควิด อย่างเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ก้อนแรก งบประมาณด้านสาธารณสุข ที่เกี่ยวกับโควิด ใช้ไป 25 % ด้านฟื้นฟูเศรษกิจ ใช้ไป 28 % เท่านั้นเอง
“แล้วก็ใช้ผิดทิศผิดทาง ไม่เป็นประโยชน์ด้วย ในเรื่องงฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงเห็นได้ว่า การใช้งบประมาณของรัฐบาลนี้ในเรื่องโควิด ไม่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ภายใต้การกำกับของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ และหัวหน้า ศบค.
“ฉะนั้นการที่เอางบที่ตัดได้ ไปไว้ในงบกลาง ให้อำนาจนายกฯ เขียนกำกับก็เขียนยาก ถึงจะเขียนได้ก็ไม่มีผล เพราะนายกฯ สามารถเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ก็ได้
“หรือสมมติไม่เปลี่ยนแปลง แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะนำไปใช้ในเรื่องโควิด ก็ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้งบฯ อย่างได้ผล เพราะว่าเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ยอดใหญ่ๆ ยังใช้ไปได้แค่ 25 % (สาธารณสุข) กับ 28 % (ฟื้นฟูเศรษฐกิจ) แล้วจะไปหวังอะไรว่า เมื่อให้ไปอีก 1.63 หมื่นล้านบาทแล้ว จะมีประโยชน์ขึ้นมาแบบพิสดาร มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว
“เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่า การโยกงบประมาณที่ตัดได้นี้ ไปไว้ที่งบกลาง มีโอกาสที่จะสูญเปล่า เกิดความเสียหาย และที่สำคัญมันเป็นการส่งสัญญาณว่า ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ต้องคิดอะไร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เห็นความสำคัญของแผนงานโครงการอีกจำนวนมาก ที่หน่วยงานต่างๆ เสนอมา
“แล้วเรื่องนี้จะบอกว่า เป็นความประสงค์ของรัฐบาลที่จะให้เอาเงินนี้ไปไว้ในงบกลาง ก็ไม่ใช่อยู่แล้ว เพราะ ครม.เองรวบรวมรายการต่างๆ มาตั้งแสนกว่าล้าน เป็นงบกลางแค่ 5 หมื่นล้านบาท ก็แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้เลือกมา ไม่ได้บอกว่า ต้องการให้นำงบไปไว้ที่งบกลาง ซึ่งอันนี้ คณะกรรมาธิการ หรือรัฐสภาฝ่ายนิติบัญญัติ ควรจะเป็นฝ่ายเลือกครับ โดยหลักก็เป็นแบบนี้”
ชี้ ปกติเขาไม่ทำกัน ! กรณีเพื่อไทย พรรคแกนนำฝ่ายค้าน โหวตเห็นด้วยให้โยกงบ 1.63 หมื่นล้าน เข้างบกลาง
“ผมพยายามจะไม่ไปวิจารณ์พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ว่าอย่างที่ผมพูดไว้ตั้งแต่ต้น การที่ กรรมาธิการจะยกงบที่ตัดได้ไปไว้ที่งบกลางทั้งหมด เขาไม่ทำกันหรอก ที่ทำไปจึงเป็นเรื่องแปลกมาก
“และในส่วนของพรรคฝ่ายค้านยิ่งไม่ทำกัน ที่ผ่านมา เป็นไปไม่ได้ที่พรรคฝ่ายค้านจะเห็นด้วยกับการยกงบประมาณที่ตัดได้ไปไว้ที่งบกลาง เพื่อให้นายกฯ ตัดสินใจใช้ตามใจชอบ ตามอำเภอใจ
“มันอาจจะมีบางกรณีเหมือนกันนะ ที่ยกงบประมาณที่ตัดได้บางส่วนไปไว้ที่งบกลาง เนื่องจากหน่วยงาน หรือสำนักงบประมาณ มาชี้แจงว่า มันจำเป็นมาก เนื่องจากเงินที่กันไว้สำหรับบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ ขาดไปเท่านั้นเท่านี้ อันนี้ก็เป็นไปได้ เพราะมีความจำเป็นที่เห็นได้ชัด
“แต่ถ้ากรณีทำนองนี้แล้วเนี่ย เขาไม่ทำกัน ฉะนั้นการที่ฝ่ายค้านไปเห็นด้วย ก็กลายเป็นว่า ไปยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ จัดการกับงบกลางได้ดีมีประสิทธิภาพ และถ้าจะเอาไปใช้ในเรื่องโควิด ก็จะสามารถทำได้ดีด้วย
“ซึ่งมันขัดแย้งกับที่เคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จนไปถึงขั้นที่ฝ่ายค้านจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ แต่กลับโอนงบที่ตัดได้นี้ไปให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ได้ตามใจชอบ มันจึงเป็นการกระทำที่ผิดหลักการ
“ส่วนที่มาอธิบายว่า เอาไปไว้ที่งบกลาง ถึงจะทำเรื่องโควิดได้ อันนี้น่าจะคิดทีหลัง ผมไม่ทราบเหตุผลจริงๆ แต่ว่าเหตุผลอย่างนี้มันฟังไม่ขึ้น บางเหตุผลก็มีกองเชียร์ช่วยอธิบายกันว่า ไว้ในงบกลางมันถึงจะเร็ว ไม่เช่นนั้นต้องรอไปถึงเดือนตุลาคม แต่ถ้าทำอย่างนี้ สามารถใช้งบฯ ได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นการอธิบายที่ผิดหมดเลย เพราะว่างบฯ นี้ เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 มันจะใช้ได้ก็ต้องในเดือนตุลาคม ไม่ว่าจะไปอยู่ในรายการไหน อย่างเร็วสุดก็เดือนตุลาคม ปีนี้”
เชื่อ ความขัดแย้งระหว่างเพื่อไทย กับก้าวไกล ไม่ส่งผลกระทบกับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
“มันไม่น่าจะมีผลมากนัก (อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล) อาจจะทำให้มีความขัดแย้งระหองระแหงระหว่างพรรคฝ่ายค้านมากขึ้นกว่าเดิมบ้าง แต่ถ้าผู้ที่มีบทบาทสำคัญในแต่ละพรรค ทำความเข้าใจกัน หาทางออกในการที่จะลดความขัดแย้ง ความบาดหมาง แล้วก็พูดคุยกันซะ มันก็ไม่น่าจะเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงนัก
“เพราะสุดท้ายแล้ว หมื่นกว่าล้านบาทนี้ ความเสียหายในจำนวนเงินถ้าว่าไปแล้ว มันก็ไม่ถึงกับมาก แต่มันอาจจะเสียหายในเชิงหลักการ ในเชิงสัญลักษณ์ แต่ว่าเมื่อมันเกิดความเสียหายไปแล้วก็พยายามมาปรับความเข้าใจกัน พยายามทำหน้าที่ร่วมกันต่อไป
“ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจเนี่ย ผมยังคิดว่า ในช่วงหลังๆ พรรคฝ่ายค้านไม่ได้มีการหารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดนัก เมื่อกำหนดว่าอภิปรายใครแล้ว แต่ละพรรคก็ไปว่ากันเอง อาจจะประสานกันในเรื่องเวลาบ้าง คิวบ้าง
"เพราะต่างคนต่างมีข้อมูล เพียงแต่ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันนี่ ประชาชนเห็นความบกพร่องของรัฐบาลมากมาย ประชาชนจึงคาดหวังจากพรรคฝ่ายค้านว่า จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่
“ซึ่งผมคิดว่า ไม่ว่าพรรคฝ่ายค้านพรรคใดก็ต้องพยายามทำหน้าที่ให้เต็มที่ ไม่อย่างนั้นก็จะทำให้ประชาชนผิดหวัง แล้วถ้ามีพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือบางพรรคที่ทำหน้าที่ไม่เต็มความสามารถ ก็จะถูกเพ่งเล็งจากประชาชนได้
“เพราะฉะนั้นกรณีที่มีความคิดเห็นแตกต่างในเรื่องการโยกงบประมาณที่ตัดได้ ไปไว้ในงบกลาง คงไม่ส่งผลกระทบต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
“ผมหวังว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะปรึกษาหารือกัน แล้วร่วมมือกัน เพื่อไปมาสู่ ‘นิวนอร์มอลในทางการเมือง’ ต่อไปได้ครับ”
ภาพจาก FB : Chaturon Chaisang