svasdssvasds

อธิบายให้เข้าใจชัดๆ ทำไม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับ 29 ยกระดับคุกคามสื่อ-ประชาชน ?

อธิบายให้เข้าใจชัดๆ ทำไม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับ 29 ยกระดับคุกคามสื่อ-ประชาชน ?

Springnews เปรียบเทียบ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับ 1 , พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับ 27 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับ 29 อธิบายให้เข้าใจชัดๆ ทำไม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับ 29 คือการยกระดับคุกคามสื่อ-ประชาชน ?

เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจับตามองว่า รัฐบาลจะทำตามเสียงเรียงร้อง ยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับ 29 หรือไม่ เพราะข้อกำหนดคลุมเครือ คุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และการเผยแพร่ข้อมูลรวมถึงการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนถึงความจำเป็นที่ต้องเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินดังกล่าว Springnews จึงได้นำ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 1 ข้อ 6 ข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร มาเทียบกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 ข้อ 11 ที่ข้อกำหนดเข้าข่ายคุกคาม ก่อนยกระดับให้เข้มข้นขึ้นใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 มาเทียบเคียง ดังนี้

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1. พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 1 ประกาศเมื่อ 25 มีนาคม 2563

มาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ 1) ข้อ 6

“การเสนอข่าว ห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความ หรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด 19) อันไม่เป็นความจริง และอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าว อันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ในกรณีเช่นนี้ ให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าว หรือหากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรง ให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

"ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) เป็นศูนย์กลางจัดให้มีการแถลงหรือชี้แจงข่าว ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเป็นประจำและต่อเนื่อง ในกรณีจำเป็นจะขอความร่วมมือจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจด้วยก็ได้”

สรุปสาระสำคัญ

1.1 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับนี้ ในหมวดที่ว่าด้วยการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร มีการระบุอย่างชัดเจนว่า เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 ที่สำคัญ ต้องเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นจริง (Fake News) ที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือมีเจตนาบิดเบือน เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

1.2 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับนี้ แสดงให้เห็นวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาเฟกนิวส์ ช่วงโควิด-19 อย่างชัดเจน และในชั้นแรก ที่พบข้อมูลเข้าข่ายกระทำผิด ก็จะมีการตักเตือน สั่งให้ระงับ หรือแก้ข่าวก่อน แต่หากข่าวสารหรือข้อมูลนั้นส่งผลกระทบรุนแรง จึงจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป  

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29

2. พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 ประกาศเมื่อ 10 กรกฎาคม 2564

มาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ 27 ) ข้อ 11

“มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร อันทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548”

สรุปสาระสำคัญ

2.1 สิ่งที่แตกต่าง ระหว่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้กับฉบับก่อนก็คือ ไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่า เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โคววิด-19 จึงอาจตีความได้อย่างครอบจักรวาลว่า เป็นข้อมูลข่าวสารทั้งหมด ซึ่งไม่น่าจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ออกมาในห้วงสถานการณ์โควิด-19 กำลังวิกฤตอย่างรุนแรง

2.2 ใน พ.ร.ก.ฉบับนี้ได้ตัด “ข้อมูล หรือข่าวสาร... อันไม่เป็นความจริง” ออกไป แต่ระบุว่า “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว...”

ซึ่งตรงนี้ ก็มีการตีความว่า ข้อความที่นำเสนออาจเป็นความจริง แต่หากทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ก็ถือว่าเข้าข่ายความผิด จึงส่งผลกระทบในการทำหน้าที่ของสื่อ และการเผยแพร่ข้อมูลของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ในการนำเสนอข้อมูลสำคัญเพื่อให้สังคมเข้าใจและเท่าทันสถานการณ์ ในช่วงเวลานี้ที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก

ซึ่งเมื่อไม่มีการระบุสถานการณ์โควิด-19 ลงไปใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตรงนี้ก็ถูกตีความได้อีกว่า หมายถึงข้อมูลข่าวสารในทุกสถานการณ์ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการปิดปากสื่อ และประชาชน รวมถึงต้องการปิดหูปิดตาประชาชน หรือไม่ ?

2.3 ใน พ.ร.ก.ฉบับนี้ ไม่มีการแจ้งถึงกระบวนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ดังเช่นในฉบับก่อน ที่เมื่อพบการกระทำที่เข้าข่ายความผิด ก็จะมีการตักเตือน แจ้งให้แก้ไขหรือระงับการเผยแพร่

จึงตีความได้ว่า เมื่อเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่พบข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำผิด (โดยใช้ดุลยพินิจของตัวเอง) ก็สามารถดำเนินคดีได้ในทันที เสมือนว่าต้องการข่มขู่สื่อ-ประชาชน ให้เกิดความหวาดกลัว

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29

3. พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 ประกาศเมื่อ 29 กรกฎาคม 2564

มาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ 29 )

“ข้อ 1 ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำ ให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

“ข้อ 2 ในกรณีมีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารตามข้อ 1 ในอินเทอร์เน็ต ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทุกรายทราบ

“และให้ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวทุกรายมีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมีที่มาจากเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ใด หากเป็นเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ให้แจ้งรายละเอียดตามที่สำนักงาน กสทช. กำหนด ให้สำนักงาน กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP address) นั้นทันที

“ให้สำนักงาน กสทช. ส่งรายละเอียดตามที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่งให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยเร็วเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต และให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป”

สรุปสาระสำคัญ

3.1 หลังจากมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 เมื่อวันนี้ 10 กรกฎาคม 2564 ก็ได้เสียงเรียกร้องให้ยกเลิกข้อ 11 ที่เข้าข่ายคุกคามและละเมิดสิทธิสื่อมวลชน และประชาชน

แต่แทนที่จะมีการยกเลิกประกาศดังกล่าว ซึ่งขัดหลักการประชาธิปไตยอย่างรุนแรง กลับมีเพิ่มดีกรีการละเมิดและคุกคามขึ้นใน  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้สนใจเรียกร้องของประชาชนเลย

3.2  ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 ข้อ 1 นั้น ยังคงข้อความเดิมใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 ข้อ 11 โดยสิ่งที่เพิ่มขึ้นมา ก็คือในข้อที่ 2 ให้อำนาจ กสทช.ในการสั่งให้ “บริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต” ตรวจสอบ IP address ที่เข้าข่ายกระทำความผิด (ตามข้อ 1) และแจ้งกลับมายัง  กสทช. ร่วมถึงให้ระงับการใช้งานอินเทอร์เน็ต ของ IP address นั้น แล้วให้ กสทช. ส่งรายละเอียดการกระทำผิดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินคดีต่อไป

ซึ่งข้อ 2 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 ก็คือการเพิ่มดีกรีการละเมิดและคุกคามสื่อ-ประชาชน ยิ่งขึ้นไปอีก โดยให้อำนาจ กสทช. ใช้ดุลยพินิจว่า IP address ใด ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกตีความว่า กระทำผิดกฎหมาย

IP address ก็เปรียบเสมือนเลขที่อยู่บ้าน หรือเลขที่อยู่บริษัท ซึ่งใน IP address นั้น อาจมีผู้ใช้รวมกันหลายคน สมมติว่า มีข้อความของคนๆ หนึ่ง ที่ใช้ IP address นั้น ถูกระบุว่าผิดกฎหมาย คนอื่นๆ ที่ใช้งานใน IP address ดังกล่าว ก็ถูกระงับการใช้งานอินเทอร์เน็ตไปด้วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ถึงการคุกคาม ละเมิดสิทธิสื่อและประชาชน ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีความจำเป็นต้องเรียกร้องให้การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นไปเพื่อการรักษาความสงบในสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นไปอย่างอำเภอใจ ซึ่งจะไม่ส่งผลดีกับการแก้วิฤตโควิด รวมถึงการสร้างบรรยากาศในการร่วมมือร่วมใจ เพื่อฝ่าฟันสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ ระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

อ้างอิง

มาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ 1)

มาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ 27)

มาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ 29)

กฎหมายคุกคามสื่อฯ ! ความหมายเฟกนิวส์ของรัฐ ที่แตกต่างกับประชาชน

related