ย้อนรอยโควิดระบาดระลอก 3 ในเมืองไทย ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม จนกระทั่งถึงปลายเดือนกรกฎาคม รวมเป็นระยะ 4 เดือน หรือ 120 วัน แห่งความบอบช้ำจากปัญหาต่างๆ มากมาย ที่นำสู่เหตุการณ์สลด ผู้ป่วยตายคาบ้าน ผู้ป่วยตายข้างถนน
โควิดระบาดระลอก 3 ที่สร้างความระส่ำให้กับประเทศไทยอย่างหนัก นับถึงเวลานี้ เราต่างต้องประสบสถานการณ์ย่ำแย่มาร่วม 4 เดือน หรือ 120 วันแล้ว ใครจะคาดว่า ไทยจะมียอดผู้ป่วยทะลุหลักหมื่นติดต่อกันหลายวัน อย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ยอดผู้เสียชีวิตวันละกว่าร้อย ที่เจ็บปวดเป็นอย่างมากก็คือ การที่ประชาชนหลายรายรอการรักษา แต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแล จนต้องเสียชีวิตคาบ้าน และที่จุอกเป็นอย่างยิ่งก็คือ เป็นไปได้อย่างไร ที่มีผู้ป่วยโควิด นอนตายข้างถนน !
จริงอยู่ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น มันเป็นการแพร่ระบาดของโรคที่ยากจะควบคุม แต่ถ้าพิจารณาถึงการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้แต่วิ่งไล่ตามปัญหา การประสานงานระหว่างหน่วยงานสับสนอลหม่าน พอเกิดความเสียหายขึ้น ก็โยนความผิด ปัดความรับผิดชอบ และเมื่อทุกอย่างเลวร้ายจนประชาชนรู้สึกสิ้นหวัง รัฐบาลก็ยังแสดงท่าทีไม่แคร์ความรู้สึก ไม่เห็นหัวประชาชน
ซึ่งหากรัฐบาลมีการเตรียมความพร้อมรับมือโควิดระลอก 3 อย่างมีประสิทธิภาพ หรือปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนในหลายๆ ด้านตั้งแต่เนิ่นๆ ประเทศไทย...คงไม่มาถึงจุดนี้
1. จุดเริ่มต้นโควิดระบาดระลอก 3
จุดเริ่มต้นของโควิดระบาดระลอก 3 เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ และมีความเชื่อมโยงในหลายๆ คลัสเตอร์ของสถานบันเทิง ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศ เกือบถึง 200 ราย ในวันที่ 5 เมษายน 2564 และยอดผู้ติดเชื้อต่อวันก็ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ดังนี้
5 เมษายน จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวัน 194 ราย
6 เมษายน จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวัน 250 ราย
7 เมษายน จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวัน 334 ราย
8 เมษายน จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวัน 405 ราย
9 เมษายน จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวัน 559 ราย
10 เมษายน จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวัน 789 ราย
11เมษายน จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวัน 907 ราย
กระทั่งวันที่ 14 เมษายน ไทยก็จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันทะลุหลักพัน โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 1,335 ราย
2. สงกรานต์ 2564 รัฐบาลคาดการณ์พลาด
ก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์ ก็มีการคาดการณ์กันว่า รัฐบาลอาจมีมาตรการคุมเข้ม ไม่ให้มีการเดินทางข้ามพื้นที่หรือจังหวัด เหมือนดังเช่นปีที่แล้ว แต่แล้วกลับไม่ได้มีมาตรการดังกล่าวออกมา และว่ากันว่านี้ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้การแพร่ระบาดลุกลามอย่างรวดเร็ว จนรัฐเริ่มออกอาการเอาไม่อยู่ จนยอดผู้ติดเชื้อทะลุหลัก 2 พันราย ในวันที่ 23 เมษายน 2564
ยอดผู้ติดเชื้อของไทยอยู่ในระดับเกือบ 2 พัน และกว่า 2 พัน มีโดดไปกว่า 4 พันบ้างในวันที่ 13 พฤษภาคม โดยในวันที่ 17 พฤษภาคม ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งไปถึง 9,635 ราย แต่ทั้งนี้เป็นผู้ติดเชื้อในเรือนจำเกือบ 7 พันราย
หลังจากนั้น ยอดผู้ติดเชื้อโดยเฉลี่ยก็อยู่ที่ 2 – 3 พันราย ต่อวัน กระทั่งช่วงปลายเดือน พุ่งทะลุไป 4 พันราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซิโนแวค อาจป้องกันโควิดกลายพันธุ์ ไม่ได้ แล้วทำไมสั่งซื้อเกือบ 50 ล้านโดส ?
สรุป วิเคราะห์ ข้อเสนอเปลี่ยนยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน เพื่อลดอัตราการตาย
3. โควิดกลายพันธุ์
โควิดระลอก 3 เป็นการระบาดของสายพันธุ์อัลฟา หรือสายพันธุ์อังกฤษ ที่แพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ต่อมานักวิชาการจำนวนมากแนะนำให้รัฐบาลเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสายพันธุ์อินเดีย หรือสายพันธุ์เดลต้า ที่อนุภาพการแพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา อีกทั้งยังทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง
โดยมีข้อมูลทางวิชาการระบุว่า วัคซีนประเภท mRNA เมื่อเจอสายพันธุ์เดลต้า ประสิทธิภาพลดลง แต่ก็ไม่มากนัก ส่วนวัคซีนเชื้อตาย อย่างซิโนแวค แทบจะป้องกันสายพันธุ์นี้ไม่ได้เลย
แต่นโนบายหลักของรับบาล ก็ยังคงมุ่งเน้นสั่งซื้อซิโนแวคเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ราคาสูง และประสิทธิภาพสู้ยี่ห้ออื่นไม่ได้ ก่อให้เกิดข้อสงสัยมากมาย ที่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถอธิบายเพื่อสร้างความกระจ่าง
มิหนำซื้อ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ศบค. ก็ได้เปิดเผยแผนการจัดซื้อซื้อวัคซีนในปี 2564 – 2565 โดยรัฐบาลมีแผนจะสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคในปี 2564 จำนวน 19.5 ล้านโดส และสั่งซื้อซิโนแวค ในปี 2565 จำนวน 28 ล้านโดส รวมเป็นวัคซีนทั้งสิ้น 47.5 ล้านโดส จากวัคซีนแก้ขัด ซิโนแวคก็กลายเป็นวัคซีนหลักไปโดยปริยาย
4. ระบบสาธารณสุข ส่อเค้าล่มสลาย
การรองรับผู้ป่วยในระบบสาธารณสุข เริ่มส่อเค้าให้เห็นปัญหา ตั้งปลายเดือนเมษายน และเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม
ซึ่งอย่าว่าแต่จะมีเตียงโรงพยาบาลรองรับ และได้รับการรักษาฟรี เอาแค่การตรวจหาเชื้อ ก็เป็นไปอย่างยากเย็น เพราะข้อกำหนดที่ว่า หากโรงพยาบาลใด ตรวจพบผู้ติดเชื้อ จะต้องรับเข้าทำการรักษา ซึ่งช่วงที่ผู้ติดเชื้อไม่มากนัก ก็ยังพอไปได้อยู่ แต่เมื่อยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้น หลายโรงพยาบาล จึงพยายามหลีกเลี่ยงการให้บริการด้านนี้
หรือถ้าโรงพยาบาลเอกชนให้บริการ ราคาค่าตรวจ RT-PCR ก็สูงถึง 3 – 5 พันบาท ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่อาจเข้าถึงการตรวจและรักษาได้
และอีกไฮไลต์ของเดือนพฤษภาคม นั่นก็คือการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม แต่พอถึงวันลงทะเบียนจริง ก็ติดขัดปัญหาต่างๆ มากมาย มีทั้งกรณีประชาชนถูกเท ถูกเลื่อนวันฉีด ฯลฯ สารพัดสารเพที่สะท้อนให้เห็นการทำงานอย่างเละเทะในทุกมิติของรัฐบาล
สถานการณ์โควิด-19 ในเดือนพฤษภาคม จึงไม่สู้ดีนัก แต่ก็ยังพอมีความหวัง เมื่อรัฐบาลตีปี๊บอย่างถี่ยิบว่า ช่วงต้นเดือนมิถุนายน วัคซีแอสตร้าเซนเนก้า จะเข้ามาหลายล้านโดส โดยจะให้บริการฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 โรคเรื้อรังก่อน
5. แอสตร้าเซนเนก้ามาน้อยกว่าเป้า ผุดแคมเปญเปิดประเทศ 120 วัน
รัฐบาลได้ประกาศแผนการฉีดวัคซีนไว้อย่างสวยหรู วางเป้าจะฉีดให้ได้ภายในปีนี้ 100 ล้านโดส และปีหน้าอีก 50 ล้านโดส รวมเป็นทั้งสิ้น 150 ล้านโดส โดยกำหนดไว้นับจากต้นเดือนมิถุนายน จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้วันละกว่า 4 แสนโดส และได้ปรับแผนการฉีดใหม่ จากฉีดให้ผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง เป็นการฉีดปูพรม เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง
ซึ่งศักยภาพในการฉีดไม่มีปัญหา แต่ปัญหาก็คือจำนวนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่มาน้อยกว่าที่รัฐบาลคุยไว้ ทำให้โดยเฉลี่ยแล้ว ไทยฉีดวัคซีนได้เพียงวันละ 2 แสน ส่วนเสาร์-อาทิตย์ ยอดก็ต่ำลงไปอีก อยู่เพียงหลักหมื่น
ทำให้การสั่งซื้อซิโนแวค เป็นข้ออ้างเพื่อนำเข้ามาทดแทนไปแบบเนียนๆ
พร้อมกับข้อสงสัยที่ว่า การที่ไทยเป็นฐานผลิตวัคซีนให้กับแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งนอกจากต้องซื้อวัคซีนในราคาที่สูงกว่าหลายประเทศ แล้วเราได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง ?
การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น พร้อมกับการขายฝันไปวันๆ ของรัฐบาล ว่าได้มีการดีลกับบริษัทวัคซีนต่างๆ ไว้แล้ว กระทั่งเล่นใหญ่ไฟกระพริบในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ในแคมเปญเปิด
ประเทศภายใน 120 วัน แต่ก็สร้างความฮือฮาได้ไม่นานนัก เพราะในวันนี้ มันได้กลายเป็นฝันสลายไปเสียแล้ว
6. สายพันธุ์เดลต้าระบาดหนัก กรุงเทพฯ ปริมณฑล โคม่า
ตั้งแต่ปลายมีนาคม จนถึงต้นกรกฎาคม สถานการณ์โควิดในประเทศไทยยังย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง ยอดผู้ติดเชื้อรายวันใกล้แตะหลักหมื่น ส่วนยอดผู้เสียชีวิตใกล้แตะหลักร้อย
และในที่สุดสายพันธุ์เดลต้าก็กลายเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดมากมี่สุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันยิ่งเพิ่มสูงขึ้น กระทั่งทะลุหลักหมื่นในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ส่วนยอดผู้เสียชีวิตต่อวันก็ทะลุหลักร้อย
เดือนกรกฎาคม จึงป็นเดือนแห่งความสะเทือนใจ จากภาพประชาชนจำนวนมากไปเข้าคิวรอตรวจโควิดข้ามคืนและต้องใช้ทางเท้าเป็นที่หลับนอน
รวมถึงการที่โรงพยาบาลปฏิเสธการตรวจ ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยมีอาการอย่างเห็นได้ชัด ทำให้หลายคนต้องไปนอนรอความตายที่บ้าน พร้อมกับข่าวผู้ป่วยโควิดตายคาบ้านไม่เว้นวัน และวันละหลายคน
ที่เจ็บจุยิ่งไปกว่านั้นก็คือ มีผู้ป่วยโควิด ต้องตายข้างถนน คนแล้วคนเล่า ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ประเทศไทยมาถึงจุดนนี้ได้อย่างไร ?
สถานการณ์โควิด-19 ในวันนี้ก็ยังคงย่ำแย่อยู่ ที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้น ก็คือการแก้ปัญหาของรัฐบาล ที่ไม่ตรงจุด อีกทั้งยังน่าเคลืองแคลง ทำให้ประชาชนสิ้นหวัง แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร...
อ่านถึงตรงนี้หลายคนคงพอมองเห็นภาพแล้วว่า 120 วัน โควิดระบาดระลอก 3 ใครคือผู้ที่ทำให้วิกฤตลุกลามบานปลาย จนประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
อ้างอิง
สรุป วิเคราะห์ ข้อเสนอเปลี่ยนยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน เพื่อลดอัตราการตาย
ซิโนแวค อาจป้องกันโควิดกลายพันธุ์ ไม่ได้ แล้วทำไมสั่งซื้อเกือบ 50 ล้านโดส ?
ไทยตั้งเป้า จัดหาวัคซีนหลัก กว่า 150 ล้านโดส มีวัคซีนอะไรบ้าง ?
หมอสันติ ชำแหละความผิดพลาดนโยบายตรวจโควิด ก่อนปลดล็อก Antigen Test Kit
สรุป วิเคราะห์ ข้อเสนอเปลี่ยนยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน เพื่อลดอัตราการตาย