Springnews สัมภาษณ์ นพ.สันติ กิจวัฒนาไพบูลย์ เจาะลึกถึงปมปัญหาการตรวจโควิด ซึ่งเป็นอีกนโยบายที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงของรัฐบาล โดยการปลดล็อก Antigen Test Kit เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิดได้ง่ายขึ้น ในสถานการณ์วิกฤตลุกลามบานปลาย จะสายไปแล้วหรือยัง ?
นโยบายด้านการตรวจก่อนหน้านี้ของรัฐบาล ที่พยายามให้ประชาชนเข้าถึงได้ยาก ด้วยการตรวจแบบ PCR (Polymerase Chain Reaction) แม้จะแม่นยำเกือบ 100 % แต่ก็ใช้เวลานาน โดยเฉลี่ยประมาณ 2 วัน จึงจะทราบผล อีกทั้งต้องตรวจในสถานพยาบาล หรือสถานที่ที่กำหนด ที่มีอยู่จำกัด ทำให้ประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ไม่สามารถเข้ารับการตรวจได้อย่างทันท่วงที
จึงมีเสียงเรียกร้องให้ปลดล็อกชุดตรวจ Antigen Test Kit (Rapid Antigen Test) ที่ประชาชนสามารถซื้อหามาตรวจเองได้ แม้มีความแม่นยำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 90 % แต่โดยภาพรวม จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจได้มากขึ้น และถ้ามีระบบจัดการรองรับที่ดี การตรวจด้วยวิธีนี้ ก็จะช่วยทำให้การวางแผนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
กระทั่งต่อมาในวันที่ 12 กรกฎาคม รัฐบาลก็ได้มีการประกาศปลดล็อกชุดตรวจ Antigen Test Kit เบื้องต้นยังต้องเข้ารับการตรวจในสถานพยาบาล หรือสถานที่ที่กำหนด แต่ในระยะต่อไปจะมีการวางจำหน่ายในร้านขายยาให้ประชาชนสามารถซื้อหาได้โดยสะดวก
แต่คำถามที่ตามมาก็คือ การปลดล็อกครั้งนี้ เป็นเพราะรัฐบาลไม่มีทางเลือก ? อันเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ทั้งๆ ที่ทำให้การตรวจหาเชื้อโควิดเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่กลับมีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต (อย่างเป็นทางการ) เพิ่มขึ้นจำนวนสูง จึงจำยอมเปลี่ยนนโยบายด้านนี้เพื่อลดแรงกดดัน และอารมณ์คุกรุ่นของประชาชน ?
Springnews สัมภาษณ์ นพ.สันติ กิจวัฒนาไพบูลย์ ภาคีเครือข่ายบุคลากรสาธารณสุข เจาะลึกถึงปมปัญหาการตรวจโควิด ซึ่งเป็นอีกนโยบายที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงของรัฐบาล
และวันนี้ แม้จะมีการปรับแนวทางให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจได้ง่ายขึ้น แต่หากไร้การวางแผนรองรับอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้ประชาชนต้องเจ็บซ้ำเจ็บซาก และอาจเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ทำให้เห็นว่า “ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปลดล็อก "Rapid Antigen Test" ซื้อมาตรวจ "โควิด-19" ได้เอง
ใช้ Antigen Test Kit รู้ผลตรวจว่า Positive/Negative แล้วยังไง ให้ไปไหนต่อ?
ชุดตรวจโควิด Rapid Antigen Test คืออะไร ตรวจยังไง จำเป็นแค่ไหนในวิกฤตนี้?
เพิ่งมาปลดล็อก Antigen Test Kit ในตอนที่สถานการณ์บานปลาย
นพ.สันติ เล่าถึงความยากลำบากในการเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดของประชาชนที่ผ่านมา ซึ่งหากรัฐบาลปลดล็อก Antigen Test Kit ตั้งแต่เนิ่นๆ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ก็อาจจะไม่เลวร้ายอย่างที่เป็นอยู่
“ถ้าในมุมมองของผม เรื่องการตรวจโควิด เป็นปัญหามานานมากแล้วครับ เพราะประชาชนเข้าถึงได้ยากมาก ต้องเสียเงินตรวจ (ใน รพ.เอกชน) ทั้งๆ ที่การตรวจโควิด ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล อย่างการตรวจ PCR ก่อนหน้านี้ บางโรงพยาบาลคิดค่าตรวจ 4 – 5 พันบาท ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ยาก
“การตรวจฟรีมีอยู่ แต่มันจำกัดมากๆ ต้องจองล่วงหน้า และมีไม่ทั่วถึง รอคิวนาน ต้องเป็นกลุ่มเสี่ยง ต้องเป็นคนที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อเท่านั้น ซึ่งมันก็บอกยากว่า ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงบ้าง
“และต้องขอรหัสไปที่สาธารณสุขจังหวัดก่อน ต้องได้รับอนุมัติถึงจะตรวจได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนสามารถตรวจได้เลย แต่ก็เข้าใจว่า เพราะทรัพยากรมีจำกัด จึงจำเป็นต้องเก็บไว้ให้กับคนที่มีความเสี่ยงสูง
“แต่ประเด็นอยู่ที่ชุดตรวจ Rapid Antigen Test (Antigen Test Kit) นั้น มีมานานแล้ว ต่างประเทศใช้กันจนแทบจะแจกฟรีให้กับประชาชน ถ้าขาย ราคาก็ถูกมาก แค่ชุดละ 30 บาท วางขายในร้านสะดวกซื้อ แต่เมืองไทยไม่เอามาใช้ เพราะกลัวเรื่องการแปลผล กลัวเรื่องความไม่มั่นใจของประชาชน กลัวใช้ไม่ถูกต้อง รวมถึงการจัดการขยะ ซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังมานานแล้ว
“โดยการใช้ Rapid Antigen Test เป็นคำแนะนำจาก WHO ให้ใช้ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด ในชุมชนที่ไม่สามารถหาต้นตอได้อย่างชัดเจน แต่รัฐบาลก็ไม่ใช้ เราจึงเห็นภาพคนที่ไปรอคิวตรวจ นอนรอข้างวัด ต่อคิวยาว นอกจากไม่ลดความเสี่ยงแล้ว ยังไปเพิ่มความเสี่ยง ทำให้คนพูดกันว่า จะไปติดจากการรอตรวจนี่แหละ
“แล้วตอนนี้เพิ่งมาปลดล็อก (Antigen Test Kit) ซึ่งถามว่า มันทันไหม ผมว่ามันแทบจะไม่ทันแล้วล่ะ เพราะว่าตอนนี้มันระบาดกันไปทั่ว รัฐบาลเดินช้า นโยบายต่างๆ ช้ามาตลอด อะไรควรทำ ก็ไม่ทำ มาทำตอนที่มันบานปลายไปแล้ว”
ที่ผ่านมาจงใจให้ตรวจยาก เพื่อให้ยอดผู้ติดเชื้อน้อย ?
เมื่อ Springnews ถามว่า จากที่มีหลายคนตั้งข้อสงสัย นโยบายก่อนหน้านี้ ที่พยายามให้การตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นไปอย่างลำบากยากเย็น ในระดับเลือดตาแทบกระเด็น เป็นเพราะต้องการให้มียอดผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ ? นพ.สันติกล่าวว่า
“ก็อาจจะเป็นไปได้ ผมก็ไม่รู้ว่า รัฐบาลมีความจงใจหรือเปล่า แต่มันก็แสดงให้เห็นว่า วิสัยทัศน์เขาแย่มาก เขาอาจจะมีหมอผู้เชี่ยวชาญอยู่ข้างตัว แต่ผมไม่แน่ใจว่าเขาฟังคุณหมอเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงหมอที่ไปให้คำแนะนำ เขารู้หรือเปล่าว่าสถานการณ์การระบาดเนี่ย ควรรับมืออย่างไร คือแต่ละคนที่อยู่ข้างตัวเขา ผมไม่แน่ใจว่าหมอระบาดวิทยา เขาให้ความเห็นอย่างไร ?
“หลายคนก็ออกมาเตือนตั้งแต่ต้นปี ถ้ามันมีสายพันธุ์ใหม่เข้ามา มันอาจจะมีปัญหา อย่างถ้าสายพันธุ์เดลต้าเข้ามา มันจะมีปัญหาแน่ๆ รัฐบาลก็ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะจัดการปัญหานี้ ประชุมด่วนยังต้องรอวันพรุ่งนี้ ไม่ได้แสดงให้เห็นความพยายามจัดการแก้ปัญหาเลย”
ข้อกำหนดที่ว่า ถ้าโรงพยาบาลใดตรวจเจอ ต้องรับรักษาผู้ป่วย
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเงื่อนปมสำคัญ ที่ทำให้หลายโรงพยาบาลพยายามหลีกเลี่ยงการตรวจ แม้ผู้ป่วยจะวิงวอนจนแทบลงไปก้มกราบ อันเนื่องมาจากข้อกำหนดที่ว่า หากโรงพยาบาลใด ตรวจเจอ ต้องรับผู้ป่วยโควิด-19 รายนั้นเข้าทำการรักษา
“ตรงนี้มันทำให้โรงพยาบาเอกชนหลายแห่งไม่อยากจะตรวจ เพราะถ้าตรวจแล้วเจอ ก็ต้องรับเข้ารักษา แล้วรัฐบาลก็ไม่ได้ช่วยตรงนี้เท่าไหร่ การเบิกจ่ายก็มีปัญหา เขาจึงไม่อยากรับ ยอดตรวจก็ลดลงไปอีก (สวนทางยอดผู้ติดเชื้อในความเป็นจริง)
“หลายๆ โรงพยาบาลบอกไม่ไหวแล้ว เตียงเต็มแล้ว ไม่รับตรวจ การตรวจต่อวันจึงน้อย แล้วจริงๆ คือการที่ไม่ตรวจ ไม่ได้หมายความว่าปัญหามันจะหายไป ตัวผู้ติดเชื้อ (ในความเป็นจริง) ยังมีเท่าเดิม เพียงแต่จะตรวจเจอหรือไม่เจอเท่านั้นเอง”
ถ้าปลดล็อก Antigen Test Kit เนิ่นๆ สถานการณ์ระบาดโควิดในไทย อาจไม่มาถึงจุดนี้
แม้ Antigen Test Kit จะมีความแม่นยำ 90 % แต่ทำให้ผู้รับการตรวจ ทราบผลได้เร็ว เข้าถึงได้ง่าย และหากมีระบบการรองรับอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นระบบคัดกรองผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลสนาม รวมถึงมาตรการ Home Isolation (กักตัวที่บ้าน) ในภาพรวมแล้ว นพ.สันติจึงเห็นว่า ดีกว่าการตรวจ PCR ที่แม่นยำเกือบ 100 % แต่เข้าถึงได้ยาก และกว่าจะทราบผล ก็ใช้เวลาประมาณ 2 วัน
“Rapid Antigen Test (Antigen Test Kit) เน้นนำมาใช้กับการตรวจคัดกรองเป็นหลัก คือมันจะตรวจได้เร็ว ใช้เวลา 15 นาทีในการตรวจ ก็รู้ผล แต่ผลไม่ได้แม่นยำเท่ากับ PCR ซึ่งจะยืนยันผลได้เกือบ 100 %
ความแม่นยำของ Rapid Antigen Test จะอยู่ที่ 80 – 90 % แล้วแต่ยี่ห้อน่ะครับ ซึ่งมีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อไปตรวจแล้วได้ผลลบ หรือผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อ แต่ตรวจได้ผลบวก เขาเรียกผลลบลวง กับผลบวกลวง ตรงนี้เป็นสิ่งที่เขากังวล ก่อนหน้านี้จึงไม่ยอมให้ใช้
“แต่ถามว่าการที่เราปล่อยให้คนที่ไม่ได้รับการตรวจ กับการที่ให้มีการตรวจด้วย Rapid Antigen Test ที่อาจมีผลลบลวง ผลบวกลวงอยู่บ้าง แต่มันไม่ได้มีจำนวนมาก ถามว่าอะไรจะเป็นประโยชน์กว่ากัน ?
“เขาอาจอ้างว่า เดี๋ยวคนได้ผลลบลวงกลับไปใช้ชีวิตปกติ ก็ไปแพร่เชื้อให้คนอื่น ถามว่า ถ้าไม่ตรวจ แล้วมันต่างอะไรกัน เขาก็ใช้ชีวิตปกติอยู่ดี
"มันคือข้ออ้างของรัฐบาล รัฐบาลพยายามหาข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการที่จะไม่นำมาใช้ แต่พอไม่ไหวจริงๆ มันระบาดหนัก ก็จำเป็นต้องใช้ ตอนแรกจะจำกัดอยู่เฉพาะในสถานพยาบาล แต่สุดท้ายก็ต้องยอมให้ประชาชนซื้อไปใช้เองได้”
ตรวจยาก ตรวจน้อย ยอดผู้ติดเชื้อยังสูงขนาดนี้ แล้วถ้าตรวจง่าย ยอดผู้ติดเชื้อจะยิ่งสูงขึ้นขนาดไหน ?
หลายคนคงสงสัยว่า ที่ผ่านมาขนาดตรวจยาก และพยายามตรวจให้น้อย ยอดผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูง แล้วถ้าตรวจง่าย ยอดผู้ติดเชื้อจะไม่ยิ่งสูงขึ้นไปอีกหรือ ? แล้วจะรับมือกับสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ นี้อย่างไร ? นพ.สันติ ได้แสดงความคิดเห็นว่า
“มันก็เป็นวิกฤตอยู่แล้วครับ ถึงจะตรวจเจอไม่เจอ เพราะคนติดเชื้อ ก็คือคนติดเชื้อ ไม่ว่าจะตรวจหรือไม่ตรวจ สุดท้ายก็มีอยู่ 2 ทางเลือก ทางเลือกที่ 1 รีบตรวจให้มากที่สุด รีบกักตัวพวกเขาให้มากที่สุด เพื่อลดการระบาด ถ้าตรวจเจอตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วทำการรักษา โอกาสป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต ก็จะลดลง
“หรือทางเลือกที่ 2 จะรอให้มันเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ (ตรวจยาก) แล้วไปเจอคนไข้ตอนอาการหนักแล้ว ซึ่งถึงตอนนั้นก็อาจรักษาไม่ทัน จนเสียชีวิต จะเอาทางไหนกัน ?
“คือ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ เพราะในความจริง มันระบาดไปทั่วแล้ว สุดท้ายจะตรวจหรือไม่ตรวจ มันก็ระบาดอยู่ดี
“แต่การตรวจทำให้เราเห็นว่าการติดเชื้อมันมีมากขนาดไหน ซึ่งการที่ไม่ตรวจ ก็ไม่ได้หมายความว่า ปัญหามันหายไป แค่เราปิดตาไว้เฉยๆ สุดท้ายก็ต้องยอมรับให้ได้ แล้วก็ต้องจัดการระบบรองรับต่างๆ ให้ดี เช่น Home Isolation (กักตัวที่บ้าน) การคัดแยกคนให้ไปอยู่ในโรงพยาบาลสนาม ฯลฯ
“ผมมองว่า เราต้องเร่งทำ เร่งคัดกรองผู้ติดเชื้อ กักตัวเขาให้มากที่สุด ไม่ให้ออกไปแพร่เชื้อ เพราะว่าการล็อกดาวน์ คือการจำกัดการเคลื่อนย้ายของคน กิจกรรมของคน เราต้องเอาชุดตรวจ (Antigen Test Kit) ตรวจปูพรมให้ได้มากที่สุด เพื่อจะคัดกรองคนที่ติดเชื้อออกมา ไม่ให้เขาไปแพร่เชื้อได้อีก นี่คือจุดประสงค์ของการล็อกดาวน์ ไม่เช่นนั้นล็อกดาวน์ไป ก็ไม่มีประโยชน์
ถ้าทำงานไม่เป็น ก็ออกไปเถอะ
ถ้านโยบายใด นโยบายหนึ่งผิดพลาดยังพออ้างได้ว่า เป็นความผิดพลาดเฉพาะนโยบายนั้นๆ แต่ในกรณีหลายๆ นโยบายผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัคซีน ระบบการรักษา การดูแลผู้ป่วย ที่วันนี้ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 คาบ้านแล้วหลายราย ผู้ป่วยอาการหนัก ถูกปฏิเสธการตรวจ เพราะโรงพยาบาลเกรงว่าจะต้องรับเข้ารักษา ฯลฯ
ซึ่งถ้าเป็นในลักษณะนี้ ก้ต้องยอมรับว่า ความผิดพลาดนั้นเกิดจาก “ผู้ที่ออกนโยบาย” โดย นพ.สันติได้กล่าวทิ้งท้ายอย่างเผ็ดร้อน ดังต่อไปนี้
“ถ้าทำงานไม่เป็นก็ลาออกไปเถอะ พวกคนที่อยู่หัว ศบค. ที่เป็นนายทหารต่างๆ รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข ถามว่าทำอะไรเป็นบ้าง แล้วจะอยู่ทูซี้ไปทำไม
“หลายๆ ประเทศเขาก็ลาออกกันแล้วครับ ถ้าเขาถูกกดดันให้ออก มีอยู่ประเทศเดียวแหละครับที่ยังทู่ซี้ แล้วก็อ้างเป็นบุญคุณ ก็ลาออกซิครับ คุณทำไม่ได้ ก็ลาออก ยุบไปเลย ศบค. ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าคุณจะตั้งมารวมศูนย์ แต่ปัญหาต่างๆ ก็ติดเวลาราชการอยู่ดี แล้วจะมีไปทำไม
“พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีไว้เพื่อลดขั้นตอนในกระบวนการราชการ ที่มันต้องเสียเวลาในเวลาปกติ แต่สถานการณ์วิกฤต จะต้องลดขั้นตอนและลดเวลาให้มันเร็วที่สุด เพราะว่าสถานการณ์วิกฤตมันรอไม่ได้ โควิดมันไม่ได้หยุดเสาร์อาทิตย์นะ แล้ววันจันทร์ค่อยมาประชุม ประชุมด่วน แต่เป็นวันรุ่งขึ้น ติดวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ เดี๋ยวรอประกาศวันจันทร์
"คือผมไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถ้ามันมีแล้วทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ยุบเถอะครับ ลาออกเถอะครับ จะอยู่ไปทำไม
“จะงดรับเงินเดือน 3 เดือนไปเพื่ออะไร ทั้งๆ ที่คุณก็ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ไปรู้กี่พันกี่แสนล้าน และชดใช้ได้ไหม คุณอยู่มา 7 ปี มันชดใช้ได้ไหมกับเงินเดือน 3 เดือน เงินประมาณ 4 แสนกว่าบาท
"สำเหนียกตัวเองครับ เอากระจกมาส่องดูว่าใครกันแน่ที่เป็นปัญหา โทษแต่ประชาชน เคยโทษตัวเองหรือเปล่า”