Springnews สัมภาษณ์ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ กรณีเพลิงไหม้โรงงานย่านกิ่งแก้ว ที่ทำให้เกิดสารเคมีปนเปื้อนในอากาศ หากฝนตก ส่งผลกระทบอย่างไร ? นอกจากนั้นอาจารย์ยังชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นปัญหาในเมืองไทยหลากหลายมิติ
จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานย่านกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ ที่กว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ ก็ต้องใช้เวลาเกือบข้ามวัน ทำให้สารเคมีสไตรีน จำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ถูกเผาไหม้และลอยไปตามอากาศ
และอีกสิ่งที่สร้างความวิตกให้กับผู้คนเป็นอย่างยิ่งนั่นก็คือ ด้วยขณะนี้ไทยกำลังอยู่ในช่วงฤดูฝน หากมีฝนตกลงมา จะส่งผลกระทบกับผู้คนและสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ?
Springnews สัมภาษณ์ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงข้อสงสัยข้างต้น ซึ่งอาจารย์อ๊อดก็ได้ให้ข้อมูลและคำแนะนำต่างๆ ดังต่อไปนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แม้สถานการณ์จะคลี่คลาย แต่ก็ต้องอยู่ห่างจากบริเวณที่เกิดเหตุ ในรัศมี 5 กิโลเมตร
เหตุเพลิงไหม้โรงงานย่านกิ่งแก้ว แม้เจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมสถานการณ์โดยรวมไว้ได้ แต่ก็ยังไม่น่าไว้วางใจนัก เพราะยังเกิดเพลิงปะทุขึ้นมาอีกหลายระลอก และยังมีสารเคมีปนเปื้อนในอากาศเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจารย์อ๊อดได้คำแนะนำผู้ที่มีบ้านพักอาศัยในโซนดังกล่าวว่า
“คือตอนนี้ (15.00 น. / 6 ก.ค. 64) คนที่มีบ้านใกล้กับสถานที่เกิดเหตุยังเข้าไม่ได้ เมื่อกี้ผมได้คุยกับเจ้าของบ้านที่อยู่ใกล้โรงงานที่เพลิงไหม้ เขาบอกว่าเข้าไปแล้ว ยังมีกลิ่นเหม็นอยู่ จึงต้องให้กรมควบคุมมลพิษ มาตรวจสภาพอากาศ ดูค่า VOCs (Volatile Organic Compounds) ว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่
“อีกตัวหนึ่งก็คือ PAH (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการเผาไหม้ ที่จะเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็ง จึงต้องตรวจสอบว่า สารกลุ่มที่เรียกว่า PAH อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยแล้วหรือยัง ถ้าไม่ปลอดภัย แล้วเข้าไปก็จะเสี่ยงในการรับสารทั้ง 2 กลุ่มนี้เข้าไปเต็มๆ แม้ไม่ได้ส่งผลฉับพลัน แต่มีผลในระยะยาว
“เพราะสารเคมีสไตรีน เป็นกลุ่มสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า induce ก็คือเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็ง เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าเรารับปุ๊บแล้วเราจะเป็นมะเร็งเลย แต่มันต้องมีปริมาณที่มากพอ หรือคนที่ร่างกายไม่แข็งแรง มันจะเกิดอนุมูลอิสระที่รุนแรง เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ในร่างกาย ถ้าไม่มีตัวหยุดยั้ง มันจะทำงานไปเรื่อยๆ แล้วก็ก่อให้เกิดโรคร้ายได้
"ต้องป้องกันตัวเองไม่ให้รับสารเหล่านี้เข้าไปในปริมาณที่เยอะ เพราะฉะนั้นจึงต้องรอประกาศจากทางการว่า ผู้ที่พักอาศัยในบริเวณดังกล่าว จะเข้าพื้นที่ได้เมื่อไหร่
“โดยตามกฎสากลก็คือ ต้องอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุในรัศมี 5 กิโลเมตรขึ้นไป ส่วนเร็วๆ นี้จะมีการการลดวงรัศมีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตรวจจับสารกลุ่มดังกล่าว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กำลังให้กรมควบคุมมลพิษ ทำการตรวจอยู่ครับ”
หากเกิดฝนตกในช่วงนี้ จะส่งผลอย่างไร ?
เหตุเพลิงไหม้ที่โรงงานหมิงตี้ ที่ทำเกิดการเผาไหม้สารเคมีจำนวนมหาศาล ปัญหามลพิษ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอีกสิ่งที่หลายคนกังวลนั่นก็คือ หากฝนตกลงมาในช่วงเวลานี้ จะส่งผลกระทบหรือไม่ ?
“ตอนนี้มลพิษทางอากาศจากสารกลุ่ม VOC และ PAH กระจายตัวไปไกลมาก เพราะฉะนั้นถ้าไปยังตึกสูง หรือบ้านใครที่อยู่บนตึก หากเปิดหน้าต่าง ก็จะรับผลกระทบไปเต็มๆ
“เมื่อวานผมได้คุยกับกรมอุตุฯ เขาก็บอกว่า ความกดอากาศต่ำ ยังอยู่อีก 2 - 3 วัน เพราะฉะนั้นกลุ่มก้อนละออง PM2.5 ที่มากับสารเคมีเหล่านี้ ยังไม่ได้ลอยขึ้นสูง คนที่อยู่บนตึกก็ต้องระวัง
“ส่วนถ้าฝนตกในช่วงนี้ จะส่งผลกระทบหรือไม่ ? ถ้าฝนตกเบาบาง อันนี้อันตราย เพราะมันไม่สามารถชะล้างหรือเจือจางกลุ่มหมอกควันที่มีสารปนเปื้อนไปได้มากนัก แต่ถ้าฝนตกหนัก หรือฝนตกหนักมากๆ อันนี้ถือว่าโอเค เพราะมันจะเจือจาง และทำให้ฝุ่นละออง PM2.5 ลงมาที่พื้นดิน
“ทีนี้การที่มันลงมาที่พื้นดิน ไม่ได้หมายความว่า จะอันตรายเสมอไป เพราะว่าสารกลุ่มนี้เวลามันเจอความชื้น จะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) แปรสภาพกลายเป็นสารตัวอื่น ที่สลายตัวได้ง่ายขึ้น
“แสงแดด (UV) ความร้อน ความชื้น เป็นปัจจัยที่จะเร่งปฏิกิริยาให้มันสลายตัวได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเกิดฝนตก ก็ต้องให้ตกหนักจริงๆ แล้วก็ตกทั่วบริเวณ ไม่ได้ตกเป็นหย่อมๆ ตกทั่วบริเวณที่มีกลุ่มควันสีดำ น้ำฝนที่มีสภาพเป็นกรดอ่อนๆ จะทำให้ตัวสารปนเปื้อนเจือจางลงไปน่ะครับ
สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องอยู่ในโซนดังกล่าว หรือโซนใกล้เคียงจุดที่เกิดเหตุ ในกรณีฝนตก ไม่ว่าหนักหรือเบาบาง อาจารย์อ๊อดก็แนะนำว่า
“ต้องอยู่ในเคหสถาน อย่าให้ตัวเองโดนน้ำฝน เพราะว่าฝนที่ตกลงมาจะมีการปนเปื้อนของสารอันตราย ถ้าโดนผิวหนังหรือว่าลงไปในบ่อน้ำ หรือว่าน้ำดื่มน้ำใช้ เราก็จะได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวัง”
กรณีไฟไหม้โรงงานย่านกิ่งแก้ว ทำให้เห็นปัญหาของประเทศในหลายมิติ
สุดท้ายนี้ อาจารย์อ๊อดได้กล่าวว่า จากเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ ทำให้เห็นปัญหาในหลายมิติของไทย ดังนี้
“มิติอันที่ 1 ก็คือ คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ตอนที่ซื้อบ้าน เขาไม่รู้ว่ามีโรงงานมาตั้งอยู่ก่อน ฉะนั้นก็เป็นมิติเรื่องกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยให้เกิดชุมชนใกล้โรงงานปิโตรเคมีได้อย่างไร
“มิติที่ 2 เรื่องการบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเราเห็นการสูญเสียของพี่น้องอาสากู้ภัย 1 ท่าน กับปัญหาเรื่องอุปกรณ์ป้องกันค่อนข้างน้อย เนื่องด้วยข้อกฎหมายเรื่องการครอบครองยุทธภัณฑ์ การใช้หน้ากากเต็มหน้าป้องกันสารเคมี ตรงนี้ต้องมีการปรับปรุง
“มิติที่ 3 ในเรื่องการบูรณาการการทำงานระงับเหตุ ยังมีข้อบกพร่องเยอะแยะเต็มไปหมดเลย คือเพลิงไหม้ครั้งนี้อยู่ในพื้นที่ไม่กี่ไร่ แต่ไม่มีการบูรณาการ หรือการไม่ซัพพอร์ตหน่วยอาสาที่อยู่ด่านหน้า ทำให้เหตุการณ์ลุกลาม
“ซึ่งจากที่ตามข่าวและถามสมาชิกกู้ภัย เขาบอกว่า อุปกรณ์มันขาดแคลนจริงๆ ก็เลยทำให้เพลิงปะทุหลายระลอกกว่าจะระงับไฟได้ จึงเกิดเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย ซึ่งตรงนี้มันอยู่ที่วิสัยทัศน์ ความเด็ดขาดของผู้บัญชาการ แล้วก็สะท้อนให้เห็นว่า การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยอาสา เอกชน และภาครัฐ ยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก”