สปริงสัมภาษณ์ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ จากกรณีล้มการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ทำให้เห็นถึงที่มาของปมปัญหา และเกิดการตั้งข้อสงสัยว่า ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม ได้ลุกลามไปยังศึกการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือไม่ ?
ส่อเป็นเส้นทางสายเดือด ตั้งแต่ขั้นตอนการประมูล สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่อยู่ในความดูแลของ รฟม. หรือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงคมนาคม หลังจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ประกาศยกเลิกการประมูล เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 64
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้สัมภาษณ์กับสปริง ไล่เรียงที่มาที่ไปของเงื่อนปมต่างๆ พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า จากปมประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม เกี่ยวโยงกับการค้านต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่กำลังมีปัญหาอยู่ในเวลานี้ หรือไม่ ?
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของปัญหาการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ดังต่อไปนี้
“เส้นทางทางสีส้ม มีนบุรี – บางขุนนนท์ มี 2 ช่วงครับ ช่วงที่กำลังก่อสร้างอยู่ คือมีนบุรี มาถึงศูนย์วัฒนธรรม รัฐบาลเป็นผู้ลงทุน ส่วนอีกช่วง (ถึงบางขุนนนท์) รัฐบาลต้องการให้เอกชนมาทำการก่อสร้าง และเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าด้วย
“ก็ได้มีการประกาศขายเอกสารคัดเลือกเอกชน หรือเอกสารการประมูล ที่ รฟม. เรียกว่า RFP มีเอกชนสนใจซื้อซอง 10 ราย แต่หลังจากปิดขายซองไปแล้ว ก็มีเอกชนรายหนึ่ง ทำเรื่องถึงคณะกรรมการคัดเลือกฯ ขอให้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การให้คะแนนคัดเลือกเอกชน
“คือเดิมเนี่ย หลักเกณฑ์ที่ใช้มาตลอด ไม่ว่า รฟม. หรือหน่วยงานต่างๆ ก็จะพิจารณาซองเทคนิคก่อน ถ้าได้คะแนนผ่าน ก็จะมาเปิดซองเสนอผลตอบแทนให้กับรัฐ ใครเสนอมากที่สุด เอกชนรายนั้นจะเป็นผู้ชนะ
“นั่นคือเกณฑ์ที่ทำกันมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการของ รฟม. เช่น โครงการสายสีเหลือง สายสีชมพู หรือ โครงการของ รฟท. เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ที่ผ่านมาทำอย่างนี้หมด ก็ใช้วิธีการอย่างนี้ คือพิจารณาเทคนิคก่อน ใครสอบผ่าน ถึงมาพิจารณาผลตอบแทน ในซองราคา ไม่เคยมีการนำคะแนนเทคนิคมารวมกับคะแนนผลตอบแทน”
“แต่อยู่ๆ ก็มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ ซึ่งเป็นการร้องของเอกชนที่ซื้อซองแค่รายเดียว ที่ขอให้เปลี่ยน จากทั้งหมด 10 ราย แล้วทำไม รฟม. ต้องทำตามเอกชนเพียงรายเดียวเท่านั้น”
เมื่อมีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูล บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส 1 ในเอกชน 10 ราย ที่ซื้อเอกสารการประมูล ก็ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง
โดยผู้ถูกฟ้องคดี ประกอบด้วย “คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)” และ “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” หรือ รฟม. ซึ่ง ดร.สามารถ ได้ให้รายละเอียดดังนี้
“การเปลี่ยนหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว บีทีเอส ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ซื้อซองประมูล ก็เห็นว่า เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงไปร้องกับศาลปกครอง โดยเขาตั้งข้อสงสัยว่า การเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ อาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางรายหรือไม่
“ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 สั่งให้ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์ใหม่ นั่นก็คือ รฟม. ไม่สามารถใช้เกณฑ์ใหม่ในขณะนี้ได้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น
“ต่อมา รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้อง ก็ไปอุทธรณ์กับศาลปกครองสูงสุด ซึ่งระหว่างนี้ศาลปกครองสูงสุดกำลังพิจารณาอยู่ครับ”
จากปัญหาการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่เส้นเวลาใกล้เคียงกับการที่กระทรวงคมนาคมทักท้วงการต่อสัมปทานบีทีเอส ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ได้ส่งหนังสือเห็นชอบถึง 3 ครั้ง สปริงจึงถาม ดร.สามารถ ตรงๆ ว่า ทั้งสองปมนี้มีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ โดย ดร.สามารถ ได้แสดงความคิดเห็นดังต่อไปนี้
“ก็มีการตั้งข้อสังเกตอย่างนั้น หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตไว้อย่างนั้นครับ ส่วนข้อเท็จจริงผมไม่ทราบ แต่ถ้าดูไทม์ไลน์มันเกี่ยวโยงกัน
“เดิมนั้น กระทรวงคมนาคมเคยเห็นชอบกับการขยายสัมปทานให้บีทีเอส รถไฟฟ้าสายสีเขียว ครั้งแรกคือในเดือนตุลาคม 2562 หลังจากนั้นก็ยืนยันเห็นชอบเหมือนเดิม ได้แก่ วันที่ 30 มีนาคม 2563 และ วันที่ 9 มิถุนายน 2563 (รวมเป็น 3 ครั้ง)
“แต่พอวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 กลับไม่เห็นชอบ แล้วมีข้อทักท้วงมา 4 ข้อ ก็ถามว่ามีอะไรเกิดขึ้นระหว่างมิถุนายน จนถึง พฤศจิกายน 2563
“ช่วงนั้น บีทีเอส ไปร้องศาลปกครองหรือไม่ ช่วงนั้นมีการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มหรือไม่ ตรงนั้นก็ไปดูเอาเองว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่เรื่องนี้เกี่ยวโยงกัน ระหว่างสายสีส้ม กับสายสีเขียว”
สุดท้ายนี้ ดร.สามารถ ได้แสดงความคิดเห็นว่า ปัญหาการประมูลที่เกิดขึ้นนี้ ได้ผลต่อความเชื่อมั่นของเอกชน และกระทบกับคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก
“ส่วนปัญหาที่ทำให้รถไฟฟ้าสายสีส้ม เปิดดำเนินการได้ช้า เกิดจากใคร เกิดจากเอกชน หรือเกิดจาก รฟม. แล้วต่อไปในอนาคต มันจะเป็นอย่างนี้อีกไหม ไม่ใช่ประกาศทีโออาร์ ประกาศหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชน แต่พอถึงเวลากลับเปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่ง
“โครงการนี้เป็นตัวอย่างให้กับโครงการอื่น ก็ถือว่าไม่ดีครับ ไม่ดีอย่างยิ่ง ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการประมูลในเมืองไทยเลยทีเดียว ที่มีการล้มการประมูลเช่นนี้ครับ
“การดำเนินการอย่างนี้ ทำให้ผลเสียเกิดขึ้น ทำให้เอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ขาดความเชื่อมั่น แล้วเกิดความความเสียหายต่อพี่น้องประชาชนผู้โดยสาร ที่หวังว่าจะมีรถไฟฟ้ามาช่วยบรรเทาปัญหาจราจรในเวลาใกล้ๆ แต่ก็กลับต้องล่าช้าไปอีก”