ผู้อบรมหลักสูตรบริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 9 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนประเทศไทย จัดเวทีสัมมนาสาธารณะ เรื่อง ชำแหละเงินกู้ฟื้นฟูโควิด : ช่วยเศรษฐกิจ หรือ เป็นพิษกับประชาชน
สภาพัฒน์ฯ ยันเงินกู้โควิด ไม่มีโครงการสอดไส้-ปัดฝุ่น มี กก.กลั่นกรอง 2 ชั้น ดึงคนนอกร่วมพิจารณา เผยไฟเขียวอีก 160 โครงการย่อย รวม 800 ล้านบาท 58 จังหวัด จ่อชง ครม.สัปดาห์หน้า
"สว.สมชาย" ลั่นกัดไม่ปล่อย พร้อมจับตาจนจบงบโควิด "พิธา" ห่วงใช้งบไม่ตรง ยิ่งเกาไม่ถูกที่คัน แนะ 5 มาตรการใช้งบ 6 แสนล้านบาท ที่เหลืออุดช่องว่างสังคม-เศรษฐกิจ
ด้านองค์กรต้านคอร์รัปชันฯ ผุดเว็บไซต์ "โควิดเอไอ" ตรวจสอบโครงการและเงินฟื้นฟูรายพื้นที่ ภาคประชาสังคมแนะดึง ปชช.มีส่วนร่วมสกัดทุจริต เน้นฟื้นฟูสู่นิวนอร์มัล-พัฒนายั่งยืน
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว กทม. ผู้อบรมหลักสูตรบริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 9 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนประเทศไทย จัดเวทีสัมมนาสาธารณะ เรื่อง ชำแหละเงินกู้ฟื้นฟูโควิด : ช่วยเศรษฐกิจ หรือ เป็นพิษกับประชาชน
โดยมีนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการพิจารณาโครงการ ใน พ.ร.ก.กู้เงิน
นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญติดตามตรวจสอบงบประมาณและมาตรการการแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิด
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และ นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการ ผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด เข้าร่วม
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการพิจารณาโครงการ ใน พ.ร.ก.กู้เงิน กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 แตกต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งและแฮมเบอร์เกอร์
เพราะ 2 ครั้งก่อนเกิดเฉพาะจุด ยังมีเศรษฐกิจระดับโลกอื่นพยุงขึ้นมาได้ แต่คราวนี้ทุกประเทศโดนทั้งหมด และไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร แม้จะมีวัคซีนก็ต้องใช้เวลา 1-2 ปีกว่าจะกระจายให้ครบทั่วทุกประเทศ
เราพึ่งพาเศรษฐกิจข้างนอกไม่ได้ทั้งการส่งออกและท่องเที่ยวเพราะความต้องการข้างนอกและกำลังซื้อลดลงจึงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ
ที่ผ่านมารัฐบาลได้เยียวยาเร่งด่วน เช่น ยืดการจ่ายดอกเบี้ย ลดค่าน้ำค่าไฟ แต่ต้องมีเงินสักก้อนอัดฉีดเข้าระบบ จึงเป็นที่มาของการกู้เงิน ซึ่ง พ.ร.ก.กู้เงินที่ออกมา 3 ฉบับ แต่ที่กู้จริงๆ คือ เฉพาะวงเงิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 3 ก้อน
คือ ด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีมีการระบาด ด้านเยียวยา 5.55 แสนล้านบาทโดยจ่ายตรงไปที่ผู้รับผลกระทบ
ด้านการเยียวยา 5.55 แสนล้านบาท ที่จ่ายตรงไปผู้รับผลกระทบ และด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท
ซึ่งการใช้เงินลักษณะนี้ประเทศอื่นก็ทำ อย่างออสเตรเลีย เยอรมนี ใช้มาตรการการคลัง 4 % ของจีดีพี ญี่ปุ่น 16 % ส่วนไทยอยู่ที่ 7-8 %
นายดนุชากล่าวว่า เงินก้อนฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะใช้ใน 4 ส่วนคือ
1.เพิ่มศักยภาพประเทศ เช่น การใช้นวัตกรรมเข้าไปช่วยเกษตรกร
2. เศรษฐกิจฐานรากเน้นเรื่องการจ้างงานสร้างความเข้มแข็งชุมชน
3. กระตุ้นการบริโภคเช่นเราเที่ยวด้วยกัน
4. โครงสร้างพื้นฐานที่ต้องเกิดประโยชน์ในแง่เกิดการหมุนเวียนตอบโจทย์พื้นที่
ขณะนี้ ครม.อนุมัติแล้ว 3.7 หมื่นล้านบาท ล่าสุด คณะกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นชอบอีก 160 โครงการเล็กๆ ราว 800 ล้านบาท กระจาย 58 จังหวัด โดยจะเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า
ส่วนที่ให้ไม่ครบทุกจังหวัด เพราะบางโครงการอาจไม่ได้เกิดประโยชน์กับประชาชนจริง เช่น เป็นการจัดงานอีเวนต์ 1-2 วันแล้วเลิกไปทำอบรมอย่างเดียว
แต่โครงการที่ให้ เพราะเกิดประโยชน์ระยะยาว อย่างภาคใต้ที่ทำโครงการปรับลดพื้นที่ปลูกยางพารา มาปลูกพืชผสมผสาน โครงการกลุ่มเกษตรกรที่ขอให้รัฐสนับสนุนการผลิต แปรรูป แต่ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ เพื่ออัปเกรดผลิตภัณฑ์
"โครงการที่เสนอเข้ามาไม่มีลักษณะของคุณขอมา หรือมีแรงกดดันต่างๆ แทรกแซง เนื่องจากกระบวนการกลั่นกรอง มีทั้งคณะกรรมการระดับใหญ่ และคณะอนุกรรมการอีก 2 ชุด กลั่นกรองรายละเอียด ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกและหลากหลายนเข้ามามีส่วนร่วมในการกลั่นกรอง" นายดนุชากล่าว
นายสมชายแสวงการประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภควุฒิสภากล่าวว่าแม้ไทยจะบริหารชีวิตคนให้รอดจากโรคโควิดได้ดีแต่การปิดประเทศทำให้มีปัญหาตามมา
ซึ่งการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทถือว่าพอเหมาะกับประเทศไทยอย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เคยมีการเยียวยาด้วยงบจำนวนมากเช่นไทยเข้มแข็งเงินกู้ช่วงน้ำท่วมก็พบช่องว่างในการเอื้อทุจริต
ดังนั้น การใช้เงินในครั้งนี้ต้องระวัง เพราะมีเงินจำกัดหรือมีกระสุนไม่มาก เราต้องกู้เงินมา ทำให้เป็นหนี้คนละ 1.2 หมื่นบาทจึงต้องใช้ให้ตรงเป้าทั่วถึงคุ้มค่าและได้ประโยชน์
ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิที่อยากเสนอให้มาร่วมตรวจสอบ ควรมาจากภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ภาควิชาการ และภาคธุรกิจ โดยจะตรวจสอบในเงินทุกก้อน แม้กระทั่งงบ 4.5 หมื่นล้านบาท ด้านสาธารณสุข เพราะในอดีตที่ผ่านมาก็เคยพบการซื้อเวชภัณฑ์ผิดวัตถุประสงค์
"หากใช้เงินเข้าเป้า จะช่วยฟื้นฟูเยียวยาความเหี่ยวเฉาให้อยู่รอด แต่หากเทน้ำผิดที่ ให้ปุ๋ยผิดอย่าง ต้นไม้ก็ตาย ซึ่งขณะนี้มีการตั้งคณะอนุกรรมการพิเศษขึ้นมา 30 คน จะติดตามการใช้เงินกู้จากนี้ไปจนจบปี 2564
"โดยจะติดตามการทำงานของคณะกรรมการกลั่นกรองเสนออนุมัติ ครม.อะไรบ้าง ติดตาม ครม.อนุมัติอะไร ซึ่ง ส.ว.เรามีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล จะกัดไม่ปล่อยจนกระทั่งจบงบ" นายสมชายกล่าว
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญติดตามตรวจสอบงบประมาณและมาตรการการแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิด กล่าวว่า เงินกู้จะฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือไม่ ขึ้นกับว่า เงินที่เป็นหนี้สินสามารถนำไปทำเป็นทรัพย์สินได้หรือไม่ หรือเอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และเกิดการคอร์รัปชัน ซ้ำซ้อนกับงบประมาณปี 2563 หรือปี 2564 กลายเป็นการซ้ำเติมประชาชน
ในสถานการณ์โควิดเป็นมหาวิกฤติทำให้ช่องว่างทางสังคมกว้างขึ้นเกิดรูรั่วทางเศรษฐกิจลึกขึ้นดังนั้นการใช้เงินกู้จึงต้องถมช่องว่างทางสังคม
โดยเฉพาะปัญหาแรงงานนอกระบบและในระบบจำนวนกว่า 28-30 ล้านคนที่อาจจะตกงานและกระทบถึงลูกหลานที่อาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษา
ซึ่งข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คาดว่ามีประมาณ 1.64 ล้านคน ซึ่งหากเด็กกลุ่มนี้หลุดจากระบบการศึกษาแล้วก็ยากที่จะกลับเข้าไปอีก
นายพิธา กล่าวว่า ส่วนเรื่องอุดรูรั่วทางเศรษฐกิจ เนื่องจากไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวและส่งออกประมาณ 70% ทำให้เกิดปัญหาเพราะนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ได้ส่งออกไม่ได้
ขณะที่ในประเทศมีการล็อกดาวน์ หลายกิจการเปิดไม่ได้ แต่ยังมีค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โดยช่วง 6 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย. ภูมิภาคที่เกิดความเสียหายมากที่สุดคือ กทม. ภาคใต้และภาคตะวันออก
โดยเรื่องการท่องเที่ยว จังหวัดที่กระทบมากที่สุด คือ กทม. ภูเก็ตชลบุรีกระบี่และสุราษฎร์ธานีซึ่งได้ของบเข้ามาแล้วแต่บางจังหวัดที่ของบเข้ามาไม่สอดคล้องกับความเสียหายเช่นกาฬสินธุ์ยโสธรพะเยาปัตตานีสิงห์บุรี ซึ่งตนกังวลเพราะจะใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ถูกวัตถุประสงค์ กลายเป็นเกาไม่ถูกที่คัน
นายพิธา กล่าวว่า รัฐบาลมีมาตรการล็อกดาวน์ 5 เฟสบางกิจการปลอดล็อกเร็วบางกิจการก็ช้าจึงควรฟื้นฟูให้สอดคล้องกับที่ได้รับผลกระทบใครเสียสละมากก็เยียวยามากใครเสียสละน้อยก็เยียวยาน้อย
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังเหลืองบ 6 แสนล้านบาทที่จะนำมาใช้พลิกฟื้นสถานการณ์ โดยแบ่งเป็น 5 มาตรการ ประกอบด้วย 1. เยียวยาประชาชนที่อาจจะเกิดจากโควิดรอบ 2 โดยใช้วิธีการกรองคนออกก็จะเหลือคนที่ได้รับการเยียวยา 28 ล้านคน โดยให้ประมาณ 3 พันบาทต่อคน ในระยะเวลา 3 เดือนสำหรับคนที่ยังหางานไม่ได้จำนวน 2.5 แสนล้านบาท
2. การช่วยเอสเอ็มอี เพื่ออุดหนุนให้มีการจ้างงานไม่เกิน 50% ของค่าจ้าง สนับสนุนบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้คำประกันนี้ จำนวน 2 แสนล้านบาทรวมถึงมีมหกรรมการจ้างงานในทุกพื้นที่
3. การท่องเที่ยว ให้มีการอุดหนุนตามจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยว แง้มประตูเตรียมความพร้อมในด้านสาธารณสุข จำนวน 1 แสนล้านบาท
4. การศึกษา ช่วยให้เด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาให้ได้เรียนต่อผ่านกองทุน กสศ. คนละ 3 หมื่นบาท วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทและ
5. ปลดล็อกเงื่อนไขการเข้างถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ไม่ได้เป็นลูกค้าธนาคาร ให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ วงเงิน 4 แสนล้านบาท
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่าขณะนี้ประเทศไทยเจอปัญหาทั้งธุรกิจเจ๊งคนตกงานถูกลดเงินเดือนไม่มีงานทำไม่มีกินพอมีเงินกู้มาช่วยเยียวยาฟื้นฟูก็เหมือนกับพระเจ้ายื่นมือมาช่วยเหลือแต่ถ้าปล่อยให้มีการล้วงยัดเข้ากระเป๋าใครบางคนก็เหมือนพระเจ้ายื่นมือกลับจะเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดมาซ้ำเติมประเทศและประชาชน
ทั้งนี้ อย่าเชื่อว่าจะไม่มีใครโกง เพราะทุกครั้งที่มีเงินอัดฉีด มีการโกงทุกครั้ง ทั้งตอนเอื้ออาทร ไทยเข้มแข็ง มีทั้งที่เป็นข่าว ไม่เป็นข่าว เป็นคดีไม่เป็นคดี หากเทียบกับโครงการไทยเข้มแข็งแล้ว การอัดฉีดเงินครั้งนี้วงเงินสูงกว่าด้วย ก็ถือว่ากังวลพอสมควร
ดร.มานะกล่าวว่า หากพิจารณาจากข้อมูลสถิติของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวบรวมข้อมูล 2 เดือน คือ เม.ย. - พ.ค.ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนชี้เบาะแสเข้ามา 1,300 เรื่อง
จำนวนนี้มีความเสี่ยงที่จะทุจริต 974 เรื่อง หรือ 75% ที่เหลืออาจเป็นการเข้าใจผิดหรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอาจผิดพลาดเรื่องกฎระเบียบหรือการกลั่นแกล้ง
ซึ่งความเสี่ยงที่จะทุจริต 974 เรื่อง มีความเป็นไปได้ในการทุจริตระดับสูงมาก 129 เรื่อง ระดับสูง 337 เรื่อง ปานกลาง 465 เรื่อง ไม่ชัดเจน 43 เรื่อง และเชื่อว่ายังมีอีกมากแต่ไม่ได้ถูกเปิดเผย
"ช่วงนี้ใกล้เลือกตั้งท้องถิ่นจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดการดึงงบประมาณดึงโครงการฟื้นฟูเหล่านี้ไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองซึ่งน่ากลัวที่สุด
ดังนั้น ต้องทำให้เรื่องนี้ไม่อยู่ในมือของหน่วยงานราชการ ต้องอยู่ในมือประชาชนและสื่อมวลชนต้องร่วมกันตรวจสอบงบทั้ง 1.99 ล้านล้านบาทอย่างเข้มข้นเมื่อทุกคนส่งเสียงเขาก็จะโกงได้ยากขึ้น
แต่ที่เห็นหลุมทุกวันนี้ คือ สิ่งที่เสนอไว้ไม่เกิดขึ้น เช่น ให้ตัวแทนประชาชน สื่อมวลชน ภาควิชาการ เข้าไปในคณะกรรมการกลั่นกรอง หรือคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณก็ยังไม่เกิดขึ้น" ดร.มานะกล่าว
ดร.มานะกล่าวว่า สภาพัฒน์ฯ มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฟื้นฟูในเว็บไซต์ Thai Me ซึ่งถือเป็นข้อมูลสาธารณะ เราก็ตอบสนองโดยทำเว็บไซต์ตัวหนึ่ง ชื่อ "โควิดเอไอ" จะดึงข้อมูลจาก Thai Me และดึงข้อมูลจากส่วนอื่นเช่นจีพีเอสมาทำเป็นแผนที่ให้ประชาชนเห็นและตรวจสอบโครงการและงบประมาณได้ง่าย
เช่นอยากรู้ว่าตำบลนี้ได้เงินเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเท่าไรมีกี่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเท่าไรเมื่อเทียบกับจังหวัดนี้ได้เท่าไรตัวเงินเท่าไรสามารถสืบค้นข้อมูลได้ผ่านโทรศัพท์มือถือและหากกรมบัญชีกลางไม่ปิดกั้นและดึงข้อมูลมาได้ก็จะช่วยตรวจสอบโครงการที่อนุมัติแล้วว่ามีการจัดซื้อหรือยังจ่ายเงินหรือยังใครประมูลได้
จะทราบว่าใครเป็นผู้ประมูล มีการฮั้วประมูลหรือไม่ ก็จะช่วยเป็นนักสืบไซเบอร์ให้พวกเรา นอกจากนี้ จะมีการตั้งกลุ่มขึ้นมาช่วยคัดกรองโครงการที่ ครม.อนุมัติ ว่าโครงการนี้มีความเสี่ยงในการทุจริตระดับใด
นางสาวสฤณีอาชวานันทกุลกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้บริษัทป่าสาละจำกัดกล่าวว่าเท่าที่ดูการกลั่งกรองโครงการก็ชื่นใจเพราะโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองก็น่าตรงวัตถุประสงค์มีส่วนช่วยได้เน้นเรื่องการพัฒนาคนศักยภาพและอาชีพเป็นหลัก
แต่เรื่องการตรวจสอบต้องสร้างแรงจูงให้คนมาร่วมตรวจสอบ ซึ่งจะแบ่งโครงการเป็น 2 ระดับ
คือ 1. ระดับท้องถิ่นควรให้คนในพื้นที่ตัดสินใจว่าเห็นด้วยไม่เห็นด้วยกับโครงการซึ่งต้องสร้างการมีส่วนร่วมมีบทบาทมีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการตั้งแต่ต้นจะดึงให้คนในพื้นที่สนใจในการตรวจสอบ
2. ระดับประเทศ ซึ่งหากจะฟื้นฟูต้องไม่ใช่ฟื้นฟูกลับไปสู่จุดเดิม เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป อย่างนักท่องเที่ยวก็อาจไม่ได้มาเที่ยวแบบเดิม ต้องฟื้นฟูไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตใหม่ (นิวนอร์มัล)
เช่น ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือเชิงระบบนิเวศน์ หรือการเพิ่มทักษะต้องก้าวข้ามไปสู่ดิจิทัล หลายโครงการบูรณาการร่วมกันได้ เช่น การจ้างบัณฑิตตกงานที่มีหลายสาขา ไปโค้ชคนในชุมชน อย่างการตลาดดิจิจิทัล ซึ่งเกษตรกรบางส่วนอยากปรับตัวเอง อยากขายตรงสู่ผู้บริโภค
"ที่น่ากังวล คือ หนี้ประชาชนที่เป็นปัญหารอวันระเบิด หากหมดมาตรการช่วยเหลือ ปัญหาหนี้ภาคประชาชนจะปะทุขึ้นมา ต้องเริ่มพิจารณากลไกนอกเหนือจากที่มีอยู่ อย่างเรื่องซอฟต์โลนก็เห็นด้วยที่ควรให้เอสเอ็มอีที่ไม่เข้าถึงระบบธนาคารเข้าถึง" นางสาวสฤณีกล่าว