svasdssvasds

แบงก์ชาติ ชวนแข่งขันการประยุกต์ใช้สกุลเงินดิจิทัล ที่ออกโดยธนาคารกลาง

แบงก์ชาติ ชวนแข่งขันการประยุกต์ใช้สกุลเงินดิจิทัล ที่ออกโดยธนาคารกลาง

ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดงาน CBDC Hackathon การแข่งขันนำเสนอแนวคิดการประยุกต์ใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency : CBDC) เปิดรับสมัครวันนี้ จนถึง 12 กันยายน 2565

ธนาคารแห่งประเทศไทยขอเชิญชวนบุคคลทั่วไป ร่วมแข่งขันเสนอแนวคิดการประยุกต์ใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency : CBDC) เพื่อการต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินและธุรกิจ และแก้ไขข้อจำกัดของระบบการเงินในปัจจุบัน

เป้าหมาย การจัด CBDC Hackathon ครั้งนี้ คืออะไร

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน CBDC Hackathon หรือการแข่งขันนำเสนอแนวคิดการประยุกต์ใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency : CBDC) สำหรับประชาชนและภาคธุรกิจ หรือ Retail CBDC เพื่อเปิดกว้างให้บุคคลทั่วไป นักศึกษา ผู้ประกอบธุรกิจ ที่สนใจมีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนา Retail CBDC ของไทย ให้เกิดประโยชน์ประโยชน์สูงสุดแก่ระบบการเงินไทย ช่วยแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตและความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในอนาคต

แบงก์ชาติ ชวนแข่งขันนำเสนอการประยุกต์ใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง

บทความที่น่าสนใจ

Retail CBDC คืออะไร

Retail CBDC เปรียบเสมือนธนบัตรที่เป็นเงินตราตามกฎหมายและออกโดย ธปท. เพียงแต่อยู่ในรูปแบบ “ดิจิทัล” การพัฒนา Retail CBDC นั้น ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ซึ่งมีศักยภาพที่จะยกระดับการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เข้าถึงได้สะดวก รวมถึงโอกาสในการรองรับการเขียนโปรแกรม (Programmability) บน Retail CBDC ซึ่งจะช่วยให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถพัฒนานวัตกรรมต่อยอดบน Retail CBDC และเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการรายอื่นได้รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ ซึ่งจะช่วยให้เกิดบริการทางการเงินใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทั้งประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐ ได้ดียิ่งขึ้น

ธปท. อยู่ระหว่างพัฒนา Retail CBDC และจะทดสอบการใช้งานในวงจำกัดในปี 2565 เพื่อประเมินการออกแบบ CBDC ที่มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ภาคธุรกิจ และประเทศในภาพรวม โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

แบงก์ชาติ ชวนแข่งขันนำเสนอการประยุกต์ใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง

โจทย์และสิ่งที่ต้องการให้นำเสนอสำหรับงานนี้

โจทย์การแข่งขัน (Scope)

1.1) ผู้เข้าร่วมแข่งขันต้องนำเสนอแนวคิดในการประยุกต์ใช้ Retail CBDC ในการสร้างนวัตกรรมทางการเงิน (Innovative use cases) โดยอาศัยความสามารถในการเขียนโปรแกรมบน Retail CBDC เพื่อพัฒนาบริการที่เป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจ ประชาชน หรือ ภาครัฐ หรือช่วยแก้ปัญหาที่ระบบการชำระเงินปัจจุบันไม่สามารถทำได้

1.2) แนวคิดของ Innovative use cases ตามข้อ 1.1) ต้องอยู่บนพื้นฐานของโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม (Architecture) ของ Retail CBDC ที่ ธปท. อยู่ระหว่างออกแบบและทดสอบการใช้งานในระยะ Pilot และมีรายละเอียดและความชัดเจนเพียงพอสำหรับการนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อการทดสอบการใช้งานของ ธปท.

สิ่งที่ต้องการให้นำเสนอ (Deliverables)

ผู้เข้าร่วมแข่งขันต้องจัดทำเอกสารนำเสนอแนวคิดหรือรูปแบบทางธุรกิจ (Use case) ของการประยุกต์ใช้ Retail CBDC ในการพัฒนานวัตกรรมที่เป็ปประโยชน์ต่อประชาชน ภาคธุรกิจ หรือภาครัฐ โดยมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังนี้

2.1 ปัญหา (Pain point) : ที่ต้องการแก้ไข รวมถึงความสำคัญของปัญหา กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา

2.2 แนวคิด หรือรูปแบบทางธุรกิจ (Use case) : ในการประยุกต์ใช้ Retail CBDC เพื่อแก้ไข pain point ตามข้อ 2.1) หรือเพิ่มโอกาสใหม่ทางธุรกิจ ที่เป็นประโยชน์กับภาคเศรษฐกิจจริงและสามารถยกระดับการแข่งขันของประเทศ โดยรูปแบบทางธุรกิจ (Use case) ควรมีความเป็นไปได้ และมีความชัดเจนในแง่ประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ใช้บริการ เช่น ประชาชน ภาคธุรกิจ หรือภาครัฐ

2.3 Business model : ระบุรายละเอียดปัญหา (Pain point) ที่ต้องการแก้ไขหรือแนวคิดที่นำเสนอ โดยเป็นแนวคิดที่สามารถนำไปต่อยอดได้จริง เป็นรูปแบบทางธุรกิจ (Use case) ที่ระบบการเงินปัจจุบันไม่สามารถทำได้ หรือให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น บทบาทหน้าที่ของผู้เล่น แรงจูงใจเชิงธุรกิจ ตลอดจนแนวทางการปิดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

2.4 Technical design : มีรายละเอียดที่แสดงถึงการเชื่อมต่อกับ Retail CBDC (รูปแบบ Integration) รายละเอียดที่ต้องดำเนินการ สำหรับ Technical solution เบื้องต้น รวมถึงข้อเสนอแนะในการปรับปรุงโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม (Architecture) ของ Retail CBDC (ถ้ามี) เพื่อต่อยอดนวัตกรรมให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงแนวทางการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ความปลอดภัยของระบบ ความเป็นส่วนตัว

การพิจารณาให้คะแนน

- แก้ปัญหาได้จริง มีประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ (Pain Point Solving) เช่น สามารถนำมาใช้ได้จริง มีประโยชน์ สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนหรือภาคธุรกิจในวงกว้าง

- มีความสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรม (Creativity) เช่น เป็นแนวทาง วิธีการที่คิดค้นขึ้นมาใหม่หรือพัฒนาสิ่งใหม่ๆ โดยใช้ CBDC

- รูปแบบและความสามารถในเชื่อมต่อกับระบบ Retail CBDC ของ ธปท. หรือการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีในรูปแบบอื่นๆ (Interoperability)

- การนำเสนอ (Presentation) เช่น รูปแบบการนำเสนอที่เข้าใจง่าย ตรงประเด็น

คุณสมบัติผู้เข้าร่วม

บุคคลทั่วไป สามารถเข้าร่วมโครงการได้ทั้งเดี่ยวและทีม (ทีมละไม่เกิน 5 คน และขอสงวนสิทธิ์ไม่เป็นพนักงาน ธปท.)

กำหนดการแข่งขัน

-ระยะเวลาที่เปิดรับสมัครตั้งแต่ 5 สิงหาคม - 12 กันยายน 2565

-ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการในวันที่ 23 กันยายน 2565 โดยพิจารณาจากคุณสมบัติที่ตรงตามที่กำหนด และแนวคิดเหตุผลการนำเสนอ มีรูปแบบทางธุรกิจ (Use case) ที่น่าสนใจ

- สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกนั้น จะได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องและเข้าร่วม workshop session รวมถึง มีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้แทนจากสถาบันการเงินที่เคยเข้าร่วมโครงการอินทนนท์ (โครงการ CBDC สำหรับโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน) ในฐานะ Mentor มาร่วมให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 รวมถึงการขอคำแนะนำเพิ่มเติมจาก Mentor ทางออนไลน์เพื่อพัฒนาผลงานในช่วง 3 - 14 ตุลาคม 2565

- ผู้ผ่านการคัดเลือกนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจาก ธปท. และผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ ภาคการธนาคาร ภาคเอกชน ภาครัฐ สมาคมฟินเทคประเทศไทย และสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ในวันที่ 22 ตุลาคม 2565

แบงก์ชาติ ชวนแข่งขันนำเสนอการประยุกต์ใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง

ประกาศผลผู้ได้รับรางวัลทั้ง 3 อันดับ ในวันที่ 28 ตุลาคม 2565

รางวัลที่ 1 : ได้รับเงินสดมูลค่า 100,000 บาท

รางวัลที่ 2 : ได้รับเงินสดมูลค่า 50,000 บาท

รางวัลที่ 3 : ได้รับเงินสดมูลค่า 30,000 บาท

ทั้งนี้ ผลงานที่ผ่านเข้ารอบนั้น ธปท. จะนำเสนอผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ ธปท. เช่น เว็บไซต์ และ Facebook เป็นต้น

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทยขอเชิญชวนบุคคลทั่วไป ร่วมแข่งขันเสนอแนวคิดการประยุกต์ใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency : CBDC)

related