SHORT CUT
กระทรวงอว. - วิทยาลัยนวัตกรรม ธรรมศาสตร์” หนุนไทยสู่ชาติพร้อมใช้ AI ขับเคลื่อนประเทศ ดึงความร่วมมือองค์กรระดับโลก สู่หัวเรือใหญ่จัดประชุม “IACIO 2024” พร้อมเผยสัญญาณอาเซียนใช้ AI โตอันดับ 4 ของโลก มูลค่าซื้อขายแตะ 5 แสนล้าน
วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CITU) ร่วมกับ International Academy of CIO (IACIO) จัด งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติประจำปี 2024 หรือ IACIO 2024 Annual Conference ภายใต้หัวข้อ “AI Applications and Transformation”
การประชุมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในด้านปัญญาประดิษฐ์ AIมาปรับใช้ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม
โดยงานนี้ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านสารสนเทศจากทั่วโลกมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวิธีการใช้งาน AI อันเป็นนวัตกรรมเพื่อผลักดันธุรกิจให้มีความยั่งยืนและเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในด้านการผลิต การแพทย์ การเงิน และการขนส่ง พร้อมเจาะลึกประเด็นสำคัญหลายประการ
อาทิ
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในปีนี้ วิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “IACIO 2024 Annual Conference” ในหัวข้อ “AI Applications and Transformation” เนื่องด้วยปัจจุบันเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งในด้านการศึกษา การแพทย์ การเงิน การผลิต ไปจนถึงการขนส่ง ดังนั้นการประชุมดังกล่าวจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยในงานได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้นำองค์กรด้านสารสนเทศจากทั่วโลกมาร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ตลอดจนการรับมือกับความท้าทายและการใช้เทคฯ AI ในภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐบาล
“การที่วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนา AI ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยมุ่งหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมจากทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ ๆ และการพัฒนาธุรกิจในทิศทางที่ยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ ต่อยอดไปถึงการประยุกต์ใช้ในหลากหลายมิติ เพื่อสร้างนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการและทิศทางการพัฒนาในอนาคต”
ในขณะเดียวกันภายในงาน IACIO 2024 Annual Conference ตลอดระยะเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 – 19 พฤศจิกายน 2567 ยังเจาะลึกประเด็นสำคัญหลายประการ อาทิ
ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการจัดอันดับรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย เป็นการประเมินเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั้งในภูมิภาคและระดับโลก โดยข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการพัฒนาระบบการบริหารจัดการของภาครัฐในอนาคต เนื่องจากสามารถช่วยให้เรามองเห็นแนวโน้มในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงการทำงานของทุกภาคส่วนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดรับกับความคาดหวังและความต้องการของประชาชนในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง
ความท้าทายในการนำ AI ไปใช้ในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ความกังวลด้านความปลอดภัยข้อมูล ความเป็นส่วนตัว รวมถึงข้อกำหนดทางกฎหมายที่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอสำหรับการควบคุมและกำกับดูแลการใช้งาน AI โดยมีนโยบายการพัฒนาทักษะบุคลากรและสร้างความโปร่งใสในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ
แนวทางการสร้างเครือข่ายทางวิชาชีพ (Professional Network) เครือข่ายวิชาชีพที่เข้มแข็งจะช่วยให้บุคลากรจากภาคส่วนต่าง ๆ สามารถแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ในการนำ AI ไปใช้ในองค์กรได้อย่างเหมาะสม
“ในด้านการศึกษา ม.ธรรมศาสตร์มีนโยบายการขับเคลื่อนการใช้ AI เพื่อยกระดับสถาบัน โดยมีการปรับการเรียนรู้ให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน (Personalized Learning) ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการมากขึ้น ซึ่ง AI จะช่วยจัดการกระบวนการบริหารจัดการ ในการจัดตาราง การจัดทรัพยากร และการลงทะเบียนนักศึกษา ช่วยลดภาระงานซ้ำซ้อนและเกิดการประเมินผลเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในภาพรวม AI ยังช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมให้กับประชาชนหลายกลุ่มได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ได้มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นภูมิภาคที่มีการใช้ AI ในการขับเคลื่อนธุรกิจเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยคาดว่าความต้องการด้านเทคโนโลยี AI ในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 3 เท่า ระหว่างปี พ.ศ. 2570 - 2580 ส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในภูมิภาค
โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าการซื้อขายที่เกี่ยวข้องกับ AI จะสูงถึงประมาณ 500,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจท้องถิ่นในการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีและสร้างมูลค่าเพิ่ม” ศาสตราจารย์ ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนาเทคโนโลยี AI ในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลลัพธ์ที่ดีในเชิงปฏิบัติ ซึ่งการร่วมมือในการประชุมหารือ IACIO ในครั้งนี้จะช่วยกำหนดทิศทางและเป้าหมายการพัฒนา AI ของประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังเป็นโอกาสในการประสานพลังร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการจัดสรรทรัพยากร ทั้งบุคลากร เทคโนโลยี และงบประมาณ ที่จะต้องตอบสนองต่อความต้องการและความเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล
“การจัดงานประชุมวิชาการในครั้งนี้ยังมุ่งหวังที่จะเป็นเวทีสำคัญในการสร้างความเข้าใจและส่งเสริมการใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพในทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในยุคของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่ไม่มีที่สิ้นสุด และเป็นโอกาสอันดีในการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายประเทศ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI อย่างเต็มที่ในอนาคต”
ขณะที่ ดร. ฌอง-ปิแอร์ อัฟเฟรต ประธานกรรมการ IACIO กล่าวเสริมว่า ในฐานะที่ IACIO เป็นสมาคมของ CIO ระดับโลก ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสารสนเทศจากทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ เรามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการใช้มุมมองของ CIO ในการปรับเปลี่ยนและนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรในยุคดิจิทัลที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีการก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและซับซ้อน จนทำให้การบริหารจัดการองค์กรจำเป็นต้องอาศัยแนวทางใหม่ ๆ ที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยให้ CIO สามารถตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“บทบาทของ CIO จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ในการสร้างกลยุทธ์ที่จะช่วยให้เทคโนโลยีถูกนำไปใช้อย่างมีคุณค่าและมีประสิทธิผลสูงสุด การเตรียมความพร้อมด้านทักษะความรู้และการเข้าถึงเครื่องมือที่ทันสมัย รวมถึงกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ เป็นสิ่งที่ IACIO เล็งเห็นถึงความสำคัญ และมุ่งมั่นที่จะมอบสิ่งเหล่านี้ให้กับ CIO ทั่วโลก เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนาไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้อย่างยั่งยืน ทั้งในด้านประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และความยั่งยืนในการเติบโตในระยะยาว”
นอกจากนี้ การกำหนดบทบาทของกลุ่ม CIO (Chief Information Officer) ในโลกยุคใหม่ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่จะถูกนำเสนอในงานประชุมครั้งนี้ เรามีความตั้งใจที่จะเน้นย้ำถึงบทบาทที่เหมาะสมในการนำ AI มาใช้งานในองค์กรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในด้านการจัดการและการกำกับดูแลให้ AI ถูกใช้ในขอบเขตที่ชัดเจน มีความโปร่งใส และเป็นที่ยอมรับตามหลักการที่เหมาะสม การใช้งาน AI ที่มีกำกับดูแลอย่างถูกต้องจะช่วยให้องค์กรมั่นใจได้ว่า AI ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ยังสอดคล้องกับมาตรฐานด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม
ที่มา iacio2024
ข่าวที่เกี่ยวข้อง