ทำความรู้จัก "กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล" หรือ DOGE เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐบาลสหรัฐฯ สลายความซับซ้อนภาครัฐ ลดกฎเกณฑ์ และเปลี่ยนระบบราชการในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
หลังจากที่ "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศแต่งตั้ง "อีลอน มัสก์" ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Tesla และ SpaceX ร่วมกับ "วิเวก รามาสวามี" นักธุรกิจด้านชีวเทคโนโลยี อดีตผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสายรีพับลิกัน ขึ้นเป็นผู้นำกระทรวงแห่งใหม่ที่เรียกว่า กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (Department of Government Efficiency) หรือ "DOGE" ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่มีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงระบบราชการของสหรัฐฯ อย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ถึงแม้ว่าจะใช้ชื่อว่า กระทรวง แต่กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล จะไม่เป็นหน่วยงานของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ โดยจะเป็นเพียงหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาแก่ทำเนียบขาวจากภายนอก และร่วมมือกับสำนักงานบริหารและงบประมาณ (OMB) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างขนาดใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐฯ
การตั้ง DOGE เกิดจากวิสัยทัศน์ของมัสก์และรามาสวามีในการ "ปรับระบบราชการ" โดยหวังลดกฎระเบียบที่เกินความจำเป็น และตัดงบประมาณที่ไม่เกิดประโยชน์ในระบบราชการ ทั้งคู่จะปฏิบัติงานร่วมกับทีมทำเนียบขาวภายใต้การกำกับของทรัมป์โดยมีกรอบเวลาจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2569 หรือวันฉลอง 250 ปีการประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ
อีลอน มัสก์ กล่าวผ่าน X ว่าจะแสดงความโปร่งใสในทุกขั้นตอนของ DOGE ผ่านการรายงานออนไลน์ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนส่งความเห็นว่าควรตัดหรือรักษางบประมาณใด พร้อมให้คำมั่นว่าจะสร้างระบบแสดงการใช้จ่ายที่ "ไร้สาระ" ที่สุดของงบประมาณแผ่นดิน
การจัดตั้ง DOGE ถือเป็นการเปรียบเทียบกับ "โครงการแมนฮัตตัน" ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยทรัมป์กล่าวว่า DOGE จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยความท้าทายไม่แพ้โครงการในตำนานนี้ เป้าหมายของ DOGE คือการทำให้รัฐบาลเป็นมิตรกับประชาชนมากขึ้น โปร่งใส และมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
กระบวนการทำงานของ DOGE แม้จะไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาลโดยตรง แต่ก็อาจถูกตรวจสอบภายใต้กฎหมาย Federal Advisory Committee Act ซึ่งมีข้อกำหนดด้านความโปร่งใสของหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมัสก์และรามาสวามี ไม่ได้ทำงานเป็นข้าราชการเต็มเวลา จึงไม่ต้องรายงานการเปิดเผยทรัพย์สินและผลประโยชน์เหมือนกับข้าราชการทั่วไป กล่าวคือบทบาทหน้าที่ของ อีลอน มัสก์ และรามาสวามี จะมีลักษณะแบบ "ไม่เป็นทางการ" ไม่ต้องผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภา ดังนั้นอีลอน มัสก์ จึงสามารถดำรงตำแหน่งผู้บริหารเทสลา SpaceX และแพลตฟอร์ม X ต่อไปได้
การเลือก อีลอน มัสก์ และวิเวก รามาสวามี ซึ่งทั้งคู่ไม่มีประสบการณ์ในภาครัฐ และดำเนินงานในฐานะผู้ประกอบการ ทำให้เกิดความกังวลจากบางฝ่ายที่ตั้งคำถามว่าการดำเนินการของ DOGE จะถูกควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักจริยธรรมหรือไม่
โดยเฉพาะการที่มัสก์เป็นเจ้าของบริษัทที่มีสัญญากับรัฐบาลและมีกำไรมหาศาล ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้น และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับระบบการทำงาน เพราะมัสก์เคยตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่ทำงานแบบเต็มเวลา เพราะจะกระทบบทบาทการบริหารบริษัทของเขา
ก่อนหน้านี้ทีมงานของทรัมป์เคยถามมัสก์ในช่วงหาเสียงเดือนที่แล้วว่า จะสามารถหั่นรายจ่ายของงบประมาณ 6.5 ล้านล้านดอลลาร์ได้เท่าใด มัสก์บอกว่า เขาจะตัดรายจ่ายให้ได้ 2 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ผู้เชี่ยวชาญ มองว่า ไม่มีทางทำได้มากขนาดนั้น
ที่มา : thansettakij
ข่าวที่เกี่ยวข้อง