SHORT CUT
เจมส์ เว็บบ์ พบ “ดาวแคระน้ำตาล” นอกทางช้างเผือกดวงแรก หลังจากที่ผ่านมาพบแต่ในกาแล็กซีของเราเท่านั้น อยู่ห่างจากโลกออกไปประมาณ 200,000 ปีแสง
ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ ขององค์การอวกาศ NASA เพื่อตรวจจับประชากรกลุ่มแรกของดาวแคระน้ำตาลที่อุดมสมบูรณ์นอกทางช้างเผือกในกระจุกดาว NGC 602
NGC 602 เป็นกระจุกดาวอายุน้อยตั้งอยู่ใกล้บริเวณขอบของกลุ่มเมฆแมกเจลแลนเล็ก (Small Magellanic Cloud) ซึ่งเป็นกาแล็กซีบริวารที่อยู่ห่างจากโลกออกไปประมาณ 200,000 ปีแสง
สิ่งที่ทำให้นักดาราศาสตร์สนใจเป็นอย่างมาก เพราะ สภาพแวดล้อมในบริเวณกระจุกดาวนี้คล้ายคลึงกับ “สิ่งที่มีอยู่ในเอกภพยุคแรก” มีธาตุที่หนักกว่าไฮโดรเจนและฮีเลียมในปริมาณน้อยมาก และความจริงที่ว่ากระจุกดาวนี้อุดมไปด้วยก๊าซที่แตกตัวเป็นไอออนยังบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของกระบวนการก่อตัวของดาวฤกษ์ที่กำลังดำเนินอยู่
ดาวแคระน้ำตาลได้ชื่อว่าเป็น “ดาวฤกษ์ที่ล้มเหลว” เพราะมันไม่ใช่ทั้งดาวฤกษ์ และไม่ใช่ทั้งดาวเคราะห์ แต่กลับมีคุณลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกับดาวทั้งสองประเภท และเป็นหนึ่งในวัตถุมวลต่ำกว่าดาวฤกษ์ (Substellar Object)
โดยดาวแคระน้ำตาลเป็นญาติกับดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ (Giant Gas Planet) ที่มีมวลมากกว่า มีลักษณะเป็นเหมือนดาวเคราะห์ที่ลอยอิสระ คือไม่ได้ถูกผูกติดกับอยู่กับแรงโน้มถ่วงของดาวฤกษ์เหมือนดาวเคราะห์ทั่วไป ปีเตอร์ ซีดเลอร์ จากสำนักงานอวกาศยุโรป (ESA) กล่าว
เอเลนา มันจาวาคาส จากสำนักงานอวกาศยุโรปกล่าวเสริมว่า “จนถึงตอนนี้ เรารู้จักดาวแคระน้ำตาลประมาณ 3,000 ดวงเท่านั้น แต่ทั้งหมดอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราเอง”
มันจาวาคาสบอกว่า “นี่คือวัตถุมวลต่ำกว่าดาวฤกษ์ชุดแรกนอกทางช้างเผือก เราต้องพร้อมสำหรับการค้นพบครั้งใหม่เกี่ยวกับวัตถุท้องฟ้าใหม่เหล่านี้!”
ภาพของ NGC 602 จากกล้องอินฟราเรด เน้นให้เห็นกลุ่มดาว วัตถุท้องฟ้าอายุน้อย รวมถึงก๊าซและฝุ่นเอง ขณะเดียวกันยังแสดงกาแล็กซีพื้นหลังและดาวดวงอื่น ๆ ในกลุ่มเมฆแมกเจลแลนเล็กด้วย
เอเลนา ซับบี จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา และสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศ กล่าวว่า “การศึกษาดาวแคระน้ำตาลที่มีโลหะน้อยอายุน้อยที่เพิ่งค้นพบใน NGC602 ทำให้เราเข้าใกล้การไขความลับเกี่ยวกับการก่อตัวของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ในสภาวะที่รุนแรงของเอกภพยุคแรก ๆ มากขึ้น”
ที่มา : ESA
ข่าวที่เกี่ยวข้อง