SHORT CUT
สงครามรัสเซีย - ยูเครน ครบรอบ 2 ปี ทั้งสองฝ่ายสูญเสียกำลังพลหนัก และขวัญกำลังใจถดถอย ทำให้ AI และโดรน จึงกลายเป็นความหวังใหม่ในสงคราม
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2024 เป็นวันครบสองปีรัสเซียเปิดฉากบุกยูเครน โดยการสู้รบดำเนินมาอย่างยาวนาน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และความสูญเสียชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งถึงแม้ทางรัสเซียและยูเครนจะไม่ออกมาเปิดเผยตัวเลขที่แน่ชัด แต่หลายฝ่ายก็คาดการณ์ว่า ทั้งสองฝ่ายสูญเสียทหารไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในระยะหลังของการทำสงคราม เราจะพบว่า ทั้งสองฝ่ายพยายามใช้ “โดรนสงคราม” และ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือเอไอ เข้ามาช่วยในการรบมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพากำลังทหาร ส่งผลทำให้สมรภูมิรบยูเครน กลายมาเป็นห้องแล็บทดลองโดรนและเอไอสำหรับการรบจริงๆ
นิตยสารไทม์รายงานว่า มีผู้นำด้านบริษัทเทคโนโลยีหลายคนที่เดินทางไปเยือนยูเครน อย่างเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2022 อเล็กซ์ คาร์ป ซีอีโอของบริษัท Palantir Technologies เดินทางข้ามพรมแดนจากโปแลนด์เข้าไปยังกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน และเขาเป็นผู้นำบริษัทจากชาติตะวันตกรายใหญ่คนแรกที่ได้เข้าพบกับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากบุกในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกันนั้น
รายงานระบุว่า ครั้งนั้น คาร์ปบอกกับเซเลนสกีว่า เขาพร้อมที่จะเข้ามาเปิดสำนักงานในกรุงเคียฟ และนำซอฟท์แวร์เอไอและการวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทมาช่วยสนับสนุนการกลาโหมของยูเครน โดยเขาเชื่อว่า พวกเขาสามารถร่วมทีมเพื่อเอาชนะได้
แม้ว่าในเวลานั้นยูเครนจะไม่คิดว่า ชายคนนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอะไร แต่ด้วยความที่ก็พอเคยจะได้ยินชื่อของบริษัทนี้มาบ้าง โดยเฉพาะ การขายซอฟท์แวร์ให้แก่ CIA หน่วยงานของสหรัฐฯ จึงมีการเรียกประชุมร่วมกับเขา
ปัจจุบันนี้ บริษัท Palantir Technologies มีสำนักงานในกรุงเคียฟ และซอฟท์แวร์เอไอช่วยให้ยูเครนสามารถวิเคราะห์ข้อมูลในสมรภูมิรบได้อย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลเหล่านี้ อาจจะต้องใช้มนุษย์หลายร้อยคนในการวิเคราะห์ แต่มันเร็วเสร็จเพียงแค่ไม่กี่คลิ๊ก
ซอฟท์แวร์ของทางบริษัทได้ข้อมูลข่าวกรองมาจากหลายแหล่ง เช่น โดรน ดาวเทียม และชาวยูเครนในภาคพื้นดิน รวมถึงเรด้าร์ที่สามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวของกองทัพและการยิงปืนใหญ่ หลังจากนั้น เอไอจะช่วยสรุปหาทางเลือกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดให้แก่เจ้าหน้าที่ทางทหาร เพื่อระบุเป้าหมายและที่ตั้งของศัตรู โดยพวกเขาบอกว่า โมเดลเหล่านี้จะเรียนรู้และปรับปรุงตนเองเรื่อยๆทุกครั้งที่มีการโจมตี
นอกเหนือจากบริษัทแห่งนี้ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก เช่น Microsoft, Amazon, Google, และ Starlink ก็ทำงานเพื่อช่วยเหลือยูเครนจากการถูกรัสเซียใช้การโจมตีทางไซเบอร์
และยังมีบริษัท Clearview AI สสัญชาติสหรัฐฯที่มอบเครื่องมือให้แก่เจ้าหน้าที่ชาวยูเครนกว่า 1,500 คน ซึ่งพวกเขาใช้มันในการตรวจสอบข้อมูลชาวรัสเซียกว่า 230,000 คนในแผ่นดินยูเครน และรวมถึงผู้สมรู้ร่วมคิดชาวยูเครนเอง
ไทม์รายงานว่า สงครามมักจะผลักดันทำให้เกิดนวัตกรรมอะไรบางอย่าง และในยุคปัจจุบัน อุตสาหกรรมภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำอะไรใหม่ๆ และความร่วมมือระหว่างบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติกับรัฐบาลยูเครน ก็ทำให้เกิดการพัฒนาเอไอทางกองทัพ โดยนายพลมาร์ค มิลลีย์ อดีตประธานเสนาธิการร่วมของสหรัฐฯให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเมื่อปีที่แล้วว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากในลักษณะสงครามเท่าที่เคยมีการบันทึกมาในประวัติศาสตร์
ในขณะเดียวกัน บริษัทสัญชาติอเมริกันและยุโรป ก็ตบเท้าเข้ามาเปิดร้านโดรนในกรุงเคียฟเช่นกัน และยูเครนยังเปิดโอกาสให้ประชาชนอาสามาเป็นคนประกอบโดรนด้วย
การโจมตีด้วยโดรนของยูเครนทำให้รัสเซียเสียเปรียบ เพราะโดรนสามารถเข้าไปโจมตีเป้าหมายแม้จะไกลจากชายแดนเข้าไปหลายร้อยกิโลเมตร
ขณะที่พันธมิตรของยูเครน ให้คำมั่นจะส่งมอบโดรนมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายใน 1 ปี ส่วนอังกฤษและอีกหลายชาติวางแผนที่จะส่งมอบอากาศไร้คนขับที่ใช้เอไอตัวใหม่ให้ด้วย
แม้ความช่วยเหลือจะส่งมาเรื่อยๆ แต่ต้องยอมรับว่า ปัจจุบัน ความช่วยเหลือจากชาติพันธมิตร โดยเฉพาะสหรัฐฯ ลดลงไปมาก ขณะที่กำลังพลของยูเครนก็บาดเจ็บล้มตายไปเยอะ ส่งผลทำให้การสับเปลี่ยนกำลังพลแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
สำนักข่าว CBS รายงานว่า แนวหน้าของกองทัพยูเครนเวลานี้ กำลังพลเริ่มหมดกำลังใจ พวกเขาขาดแคลนเครื่องกระสุนและรู้สึกเหมือนว่าถูกชาติพันธมิตรลืม และล่าสุด พวกเขาต้องสูญเสียเมืองอัฟเดียฟกา อีกหนึ่งสมรภูมิสำคัญไป หลังการสู้รบอันดุเดือดและการสูญเสียอย่างหนักของทั้งสองฝ่าย
สหรัฐฯให้ความช่วยเหลือยูเครนเป็นแพคเกจมูลค่ากว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่เพียงพอ และล่าสุด การอนุมัติเงินก้อนใหม่ยังคงติดขัดอยู่ในขั้นตอนการอนุมัติของสภา
ขณะที่เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ VOAnews รายงานอ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯว่า ในสงครามยูเครน ทหารรัสเซียน่าจะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตมากถึง 315,000 คน และใช้เงินทำสงครามไปแล้วถึง 211 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะเดียวกัน รัสเซียน่าจะสูญเสียรายได้ราว 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากการถูกยกเลิกหรือเลื่อนข้อตกลงค้าอาวุธ
และจากการถูกนานาชาติใช้มาตรการลงโทษจากการบุกยูเครน รัสเซียังสูญเสียทางเศษฐกิจเป็นจำนวนมาก โดยธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และองค์การความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจเปิดเผยว่า ในปีแรกที่สงครามเริ่มขึ้นคือปี 2022 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีของรัสเซียร่วงลงไป 2.1%
ที่มา
https://time.com/6691662/ai-ukraine-war-palantir/
https://www.cbsnews.com/news/ukraine-russia-war-2-years-us-biden-sanctions-putin-vicious-onslaught/
ข่าวที่เกียวข้อง