svasdssvasds

คนวงการไอทีและการเงิน คิดเห็นอย่างไรกับแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

คนวงการไอทีและการเงิน คิดเห็นอย่างไรกับแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

กระแสการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังคงเป็นเรื่องที่ประชาชนอยากรู้ ว่าจะรับเงินอย่างไร ขั้นตอนแบบไหน ได้รับเมื่อไหร่ ด้านนักวิชาการวงการการเงินได้แสดงความคิดเห็นอย่างน่าสนใจ

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย หนึ่งในผู้พัฒนาเว็บไซต์ลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกันและแอปเป๋าตัง ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กส่วนตัว Chao Jiranuntarat  เกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทยว่า

มีคนพูดถึงโครงการ digital wallet ของพรรคเพื่อไทยมากพอสมควร โดยเฉพาะในวงการ tech ว่าการที่จะใช้เทคโนโลยี blockchain มีความเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด

อย่างไรก็ตาม จะไม่พูดว่า blockchain เหมาะสมหรือไม่ เพราะคิดว่า เราควรจะตั้งโจทย์ให้ชัดเจน แล้วจึงจะหาเครื่องมือและเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ เพื่อตอบโจทย์นั้นๆ แต่ไม่ควรที่จะเอาเทคโนโลยีเป็นโจทย์เสียเอง

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย

ทั้งนี้ จึงได้ขอเสนอข้อคิดเวลาจะทำโครงการ Digital Wallet แจกเงินดิจิทัล 10000 บาทระดับชาติ จากประสบการณ์ส่วนตัว โดยขอสรุปปัจจัยสำคัญดังต่อไปนี้

  • Identity proof : การพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน จะทำอย่างไร วิธีไหน ใช้เวลาเท่าไร หากจะต้องทำใหม่กับคน 50 ล้านคน ใครจะทำ จะใช้ identity assurance ระดับไหน
  • Scalability เป็นเรื่องสำคัญสุดๆ หาก scale ไม่ได้ ระบบต้องหยุดทำงาน ใครจะมาแก้ปัญหา ในประเทศไทยระบบการเงินที่มีคนใช้มากสุดคือ เป๋าตัง เคยรับได้ 40 ล้านคน ระบบที่จะสร้างใหม่ให้รองรับได้ 56 ล้านคน คนทำต้องเคยทำระบบระดับไหนถึงจะสามารถวางใจได้ และเราจะใช้เทคโนโลยีอะไร ออกแบบอย่างไร จึงจะตอบโจทย์ได้
  • Location of household (latitude, longitude) จะใช้วิธีไหน ตอนไหนที่จะแปลงที่อยู่ในบัตรประชาชน เป็น location จะเป็นอุปสรรคของระบบไหม หรือต้องหาวิธีแก้อย่างอื่นมาทดแทน

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ โครงการ digital wallet ยังมีเรื่องความกังวลสำหรับกลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนและความปลอดภัยต่างๆ

  • Physical ID authentication สำหรับคนไม่ใช้มือถือ จะใช้บัตรประชาชนจ่ายเงินอย่างไร จึงจะพิสูจน์ตัวตน และยืนยันได้
  • Operation (IT, non-IT) ใครจะเป็นคนดูแล operation ทั้งทาง IT และ non IT รวมถึงตอนที่ต้องตอบคำถาม สื่อสาร การแก้ปัญหาให้แต่ละภาคส่วน
  • Fraud detection จะป้องกันการโกงอย่างไร จะตรวจสอบร้านค้า และมีวิธีการลงโทษหรือไม่ อย่างไร จะสร้างทีมเรื่องนี้อย่างไร
  • Data ownership and privacy ใครเป็นเจ้าของข้อมูล จะดูแลเรื่องความสมดุลของการเปิดเผยและความเป็นส่วนตัวอย่างไร จะดูแล data governance อย่างไร
  • Built up towards Digital economy การมีแพลทฟอร์มขนาดใหญ่ จะสร้างประโยชน์ต่อเนื่องให้สังคมอย่างไร จะมีแนวคิดที่จะทำเป็นแพลทฟอร์มแบบเปิด และต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจ สังคมและสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้อย่างไร

คุณสาโรจน์ อธิวิทวัส ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Wisible

นอกจากนี้ คุณสาโรจน์ อธิวิทวัส ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Wisible ก็ได้แสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊ก Saroj เกี่ยวกับโครงการ digital wallet แจกเงินดิจิทัล 10000 ว่า

ช่วยเพื่อไทย คิด use case ที่ควรใช้ Blockchain Technology เมื่อเพื่อไทย ถูกแซวไปเยอะแล้วว่าโครงการ 'แจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท' ไม่เห็นจำเป็นต้องใช้ Blockchain เลย เอามาหาเสียงให้ดูเท่เฉยๆ หรือป่าว เลยขออนุญาตช่วยคิด use case ที่เหมาะกับการเอา Blockchain มาใช้ ในแบบที่ technology ตัวอื่น ทำไม่ได้เลย 

ช่วงนี้กำลังมีประเด็นร้อนที่บริษัท A จะซื้อที่ดินใจกลางเมือง โดย 'ตั้งข้อสงสัย' a) ว่าใช้ Nominee มาทำธุรกรรมแทน และ b) ได้เงินค่าที่ไปจริงเท่าไหร่ 

หลักฐานไม่ชัด แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกหน้าไหน ก็มีคนผิดแน่นอน เช่น 

  1. ถ้าผู้ขายได้เงินไปพันล้าน (ตามที่ผู้ซื้ออ้าง) คำถามคือ ได้เสียภาษี capial gain tax, personal income tax โดยคิดรายได้จากการขายที่ดิน ที่ 465 หรือ 1000 ล้าน ? 
  2. ถ้าผู้ขายได้เงินไป 465 ล้าน แล้วส่วนต่าง 535 (1000-465) ไปอยู่ที่ไหน ? 
  3. ถ้าผู้ขายได้เงินไปที่ราคาอื่น ที่อยู่ระหว่าง 465-1000 ประเด็นก็จะคล้ายกับ 1,2 

ธุรกรรมมีการวางแผนมาอย่างดี ปฎิบัติการทุกอย่างจบในวันเดียว และเพื่อกลบร่องรอยไม่ให้ตามต่อได้ง่าย สาวถึงตัวผู้บงการ ก็มักจะใช้ Nominee มาเป็นตัวละครในการทำธุรกรรมแทน

คล้ายกับกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่โจรไปจ้างชาวบ้าน (หรือไปหลอกชาวบ้าน) มาเปิดบัญชีม้า และเอาบัญชีตาสีตาสา มารับเงินที่หลอกเหยื่อมาได้ 

เส้นทางการเงิน ก็จะไหลผ่านบัญชีม้าพวกนี้ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้บงการใหญ่ (โจรตัวจริง) เพราะถูกออกแบบมาให้ 'ฆ่าตัดตอน' สาวไปไม่ถึง by design แต่แรก (ชาวบ้านพอถูกจับ ก็หงายการ์ด 'รู้เท่าไม่ถึงการณ์') 

แต่หลักฐานบางอย่าง เช่น การใช้ Nominee มาเป็นชื่อผู้ถือหุ้น กรรมการ และทำธุรกรรมซื้อขายระดับพันล้าน มัน 'แก้ไขย้อนหลัง' ไม่ได้ (ง่าย ๆ ) เช่น การเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้น, เปลี่ยนแปลง กรรมการ ต่อให้เปลี่ยน 10 รอบ (แล้วคิดว่า 'คงไม่มีใครมาตรวจสอบหรอก' ) ทาง DBD (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ก็ยังเก็บเอกสารทั้งหมดไว้ ตรวจสอบย้อนกลับได้อยู่ดี 

แต่นั่นอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่า "กรมพัฒนาฯ มีความน่าเชื่อถือ มีความสามารถในการดูแลระบบข้อมูล Data Security / Integrity และจะไม่ปล่อยให้ใครมาแอบลบแอบแก้ข้อมูลย้อนหลังได้" แล้วถ้าเราไม่เชื่อล่ะ? Use case แบบนี้ล่ะ ที่เหมาะกับ Blockchain มาก 

Blockchain เหมาะเอามาใช้กับ Use case แบบที่ 'กรูไม่เชื่อใครทั้งนั้น! ทุกคนที่เกี่ยวข้องมีสิทธิ์โกงด้วยกันทั้งสิ้น' ดังนั้น ทุกการเปลี่ยนแปลงต้องถูกประกาศและบันทึกโดยคนทั้งบาง 

ตัวอย่างคลาสสิกที่มักถูกนำมาเล่าคือ มีหมู่บ้านแห่งนึง มีชาวบ้าน 5,000 คน นาย ก ยืมเงิน นาย ข หมื่นบาท แล้วนาย ข กลัวไม่ได้เงินคืน เลยต้องประกาศให้ชาวบ้านทุกคนหยิบสมุดบัญชี (ledger) ขึ้นมาจดไว้ว่า "นาย ข โอนเงิน 10,000 บาท ให้นาย ก" ซึ่งข้อมูลถูกจดไว้ในสมุดบัญชี 5,000 เล่ม ของคน 5,000 คน (ซึ่งไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน และไม่จำเป็นต้องเชื่อใจกัน) (ซึ่งในทางเทคนิคถูกค่อนขอดว่า โคตรสิ้นเปลืองทรัพยากร ) 

“blockchains are trustless” เราไม่จำเป็นต้องเชื่อตัวกลาง (กรมพัฒนาฯ) เลยก็ได้ แต่เชื่อในความเป็น decentralized” system ของ Blockchain และเอาเหล่าบรรดาคน / หน่วยงาน / สื่อ สำนักข่าวอิศรา/ นักสืบพันทิพย์ / นักสืบ social ที่ไม่เชื่อในตัวกลาง / ภาครัฐ มาเป็น validator ด้วย

เรามั่นใจได้เลยว่าถึงแม้ คืนนี้ จะมีโจรชุดดำบุกเข้าไป data center ของ กรมพัฒนา พร้อมเอามีดจี้เอว System Admin ที่ถือ Key, ID/Password, Token เพื่อเข้าสู่ระบบที่เก็บธุรกรรม การเปลี่ยนแปลง เอกสารสำคัญไว้ แล้วแอบลบ แอบแก้ ก็จะไม่สามารถกลบเกลื่อนร่องรอย การกระทำความผิดได้ ดั่งคำกล่าว "อาชญากร ทิ้งร่องรอยเสมอ" 

ด้วยพลังพิเศษของ Blockchain ข้อนี้ ที่ยังไม่มี technology อื่นทำได้ เหมาะกับ use case การตรวจสอบย้อนกลับข้อมูล ที่เรา 'ไม่เชื่อผู้ดูแลระบบ ไม่เชื่อใจตัวกลาง ว่าจะไม่แอบลบ แอบแก้ข้อมูล" มากครับ

ดร. มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)

นอกจากนี้ ดร. มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ก็ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ โครงการ Digital Wallet แจกเงินดิจิทัล 10000 บาท ไว้บนเฟซบุ๊ก Monsak ว่า

มีคนถามผมมาว่าที่ #พรรคเพื่อไทย มีนโยบายแจกเงิน 1 หมื่นบาท เข้าในกระเป๋าเงินดิจิทัล และใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการบันทึกกข้อมูลเพื่อความโปร่งใสนั้น ดี หรือไม่ดี อย่างไร เทียบกับเงินบาทธรรมดา แจกเข้า App ธรรมดาทั่วไป (เช่น เป๋าตังค์) 
ผมยังมีคำถาม (เชิงบริหารจัดการ) อีกหลายคำถาม ที่สงสัย แต่คงไม่ถามตรงนี้มากนัก เพราะใน Social เห็นถามกันเยอะแล้ว 

ต่อไปนี้จะลองวิเคราะห์ ในมุมยุทธศาสตร์ข้อมูล (Data Strategy) และ Blockchain และ Digital Disruption และ รัฐบาลดิจิทัล

  • เงื่อนไขให้ใช้จ่ายในรัศมี 4 กม. 

แสดงว่าต้องติดตามตำแหน่งที่มีการใช้จ่าย แล้วเทียบตำแหน่งที่อยู่จริงทำให้ได้ข้อมูลขั้นต้น

  1. ตำแหน่งที่อยู๋จริงของประชาชน (ผ่านการขอความยินยอม)
  2. ตำแหน่งที่อยู่จริงของร้านค้าในพื้นที่ 
  3. ปริมาณยอดขายของร้านค้าในพื้นที่ 

แต่ลองมาวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์กันดู

A. เป็นการสร้างปริมาณ transaction ขนาดใหญ่ และ ทำให้ประชาชนเข้าสู่ระบบพร้อมกันทีเดียวในปริมาณมาก ถ้ามองแบบธุรกิจ คือ เป็นการสร้างฐานลูกค้า มีลูกค้าและ transaction เยอะ มันเอาไปต่อรอง ต่อยอดทำอะไรต่อได้เยอะ 

B. การใช้ Blockchain แปลว่าต้องมีการลงทุนพัฒนาโครสร้างพื้นฐานรองรับ หากทำแล้ว คิดให้ยาว ก็คือ เอาระบบหรือบริการภาครัฐอื่น ๆ มาใช้งานวิ่งบนโครงสร้างพื้นฐานนี้เสียเลย

C. หากระบบบริการรัฐ (พวก eService ต่าง ๆ)  หรือ สวัสดิการรัฐ (การจ่ายเงินช่วยเหลือตต่าง ๆ)  มาวิ่งบนนี้จะคุ้มค่ากว่าไปทำโครงการ Blockchain แยกเป็นเบี้ยหัวแตกมาก 

หากทำได้จริง ระบบ Blockchain นี้ก็จะยิ่งเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ และ ความโปร่งใสที่เคลมไว้ ก็จะยิ่งมากขึ้นได้เรื่อย ตามปริมาณ eService และ สวัสดิการที่ย้ายมาทำงานบนนี้ 

ก็คือ ยิ่งมีข้อมูล ข้อมูล และ ข้อมูล มากขึ้นไปอีกเยอะเลยสามารถไปต่อยอดขับเคลื่อน หรือ ติดตามนโยบายอื่น ๆ ได้แบบ Real-time แถมยังสร้างภาพความโปร่งใสได้อีกด้วย  (ทั้งในเชิงการใช้จ่าย และ ในเชิงการจัดลำดับความสำคัญนโยบาย) สอดรับกับอีกนโยบายที่บอกว่าจะยกระดับประเทศไทยเป็น Blockchain Hub แห่งอาเซียน 

ซึ่งถ้าทำได้ตามที่ผมวิเคราะห์ข้างบนก็สมศักดิ์ศรี (ในแง่ปริมาณการใช้งาน) ที่จะเคลมเมื่อมีการใช้งานมาก โดยหลายบริการรัฐ หลายสวัสดิการ ย่อมแปลว่าจะเกิดการลงทุนพัฒนาระบบมาเชื่อมต่อใช้งานบนโครงสร้างพื้นฐานนี้เกิดการหมุนเวียนเงินจากการใช้จ่ายของรัฐและเอกชนก็ได้รับเงินกระตุ้น ให้ได้ฝึกคิดฝึกทำ สร้างความเข้มแข็งให้เอกชนและการลงทุนด้านนี้ของไทย

นอกจากนี้ หากเปิดให้เอกชนพัฒนาประยุกต์ใช้ต่อยอกทำงานบนโครงสร้าง Blockchain นี้ได้ด้วยก็เท่ากับ

  1. ลดต้นทุนการทำธุรกิจให้เอกชน
  2. เกิดการหมุนเวียนเงินลงทุน และ ได้ฝึกคิดฝึกทำมากยิ่งขึ้นอีก
  3. เกิดการใช้งาน Blockchain จริงมากขึ้นอีก เสริมกับเคลมที่ว่า "Blockchain Hub แห่งอาเซียน" เท่ากับเงินก่อนแรก  (1 หมื่นบาท ต่อหัวที่แจก) สร้างผลกระทบการขยายการลงทุน (ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ) การพัฒนาความสามารถของคน (ได้ฝึกคิดฝึกทำ) และการจ้างงานออกไปอีกหลายเท่าตัวส่งผลให้ได้เงินภาษีจะกลับมาได้หลายเท่า 

ปล. ที่เขียนมา คือ วิเคราะห์ส่วนตัว ไม่มีข้อมูลวงใน และเลือกมองแง่ดี หากขับเคลื่อนได้แบบนี้จริง ก็จะเป็นคุณูปการต่อระบบเศรษฐกิจ ได้นกหลายตัวมาก ๆ 

ส่วนเชิง Digital Disruption ก็คือเป็นการเอาเงินแจก 1 หมื่นบาท สร้างแรงจูงใจ ให้ประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน ในการเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่อง Blockchain และการนำมาประยุกต์ใช้งาน 
มนุษย์ เป็นสัตว์ที่เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา เพียงแต่ต้องมีแรงจูงใจที่เหมาะสม

related