AI หรือ ChatGPT นั้นตอบทั้งคำถามและพูดคุยได้คล้ายกับมนุษย์ และในอนาคตแชทบอทจะพัฒนามากขึ้นไปอีก สิ่งที่น่าคิดคือ จะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้า AI จะมีความรัก เพราะยิ่ง AI เรียนรู้และฉลาดขึ้นทุกๆวัน
คุณชัชวาล สังคีตตระการนักวิจัย กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (NECTEC) มองว่า มนุษย์จำนวนหนึ่ง นิยามเดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนแห่งความรัก เพียงได้ยินชื่อเดือนกุมภาพันธ์ หรือ คำว่า "14 กุมภา" … ก็จะเกิดความรู้สึก ความคิดระลึกถึง "ความรัก" และ "วาเลนไทน์" ซึ่งเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ นั่นเพราะว่า มนุษย์กลุ่มดังกล่าว มีภาพจำ ความทรงจำและประสบการณ์ที่เชื่อมโยงผูกพันกัน ระหว่างคำว่า กุมภาพันธ์-วาเลนไทน์-ความรัก
นักวิจัย NECTEC เชื่อว่า หากเรารู้ข้อมูลพื้นฐานทางความคิดบางส่วนของมนุษย์กลุ่มนั้นได้ ก็น่าจะคาดเดาข้อมูลส่วนที่เหลือได้เช่นกัน และด้วยแนวคิดนี้ เราสามารถพัฒนาความฉลาดให้คอมพิวเตอร์ ในการวิเคราะห์ข้อมูลบางส่วนเพื่อทำนายข้อมูลส่วนที่ขาดหายไปได้ และความฉลาดนี้ ก็จะถูกประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์มากมาย และดูเหมือนว่า ระบบอัตโนมัติที่สามารถทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลและทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ จะเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง ในยุคสมัยที่ข้อมูลเกิดขึ้นมากมายมหาศาล ไม่เลือกเวลา สถานที่และวิธีการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
การเปลี่ยนผ่านของโลกอินเทอร์เน็ตเข้าสู่เว็บ 3.0
นับตั้งแต่โลกอินเทอร์เน็ต เข้าสู่ยุค เว็บ 2.0 หรือยุคแห่งสังคมออนไลน์ ยุคที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสามารถสร้างเนื้อหาออนไลน์ได้เองอย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์สถานะหรือการแสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ปริมาณข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตจึงเพิ่มสูงขึ้นมหาศาลในห้วงเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดสภาวะ Big Data ขึ้นมาเป็นโจทย์อันท้าทายต่อการประมวลผลข้อมูล ว่ามนุษย์เราจะสามารถทำความเข้าใจข้อมูลที่เกิดขึ้นให้ทันทั้งหมดได้อย่างไร
เนื่องด้วยข้อมูลเหล่านี้ ไม่ได้มีเพียงองค์ความรู้ แต่กำลังเต็มไปด้วย ความคิด ความเห็น อารมณ์ ความรู้สึก ที่แสดงออกถึงสิ่งรอบตัว ซึ่งรวมไปถึงสินค้าและบริการที่ผู้คนต่างเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงไม่แปลกอะไร ที่จะมีระบบที่คอยติดตามกระแสออนไลน์อัตโนมัติ คอยรวบรวมข้อมูล สรุปผลและแจ้งเตือนให้กับเจ้าของสินค้า บริการ เจ้าของกิจการ ธุรกิจ รวมไปถึงหน่วยงาน องค์กร ที่ต่างก็ต้องการทราบถึงปฏิกิริยา ท่าที ความรู้สึกของผู้คนในสังคมที่มีต่อ สินค้า บริการและองค์กรของตน
ทำความรู้จักระบบ Social Media Monitoring
Social Media Monitoring ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงการรวบรวมข้อมูล สรุปผล ติดตามความเคลื่อนไหว แต่ยังมีความสามารถที่สำคัญคือการวิเคราะห์อารมณ์ความรู้สึก หรือ Sentiment Analysis เพื่อทำความเข้าใจทัศนคติของผู้คนที่ได้แสดงออกบนสังคมออนไลน์ ทั้งนี้เพื่อจะได้บริหารจัดการ ตัดสินใจและตอบสนองต่อทัศนคติเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที เช่น หากมีลูกค้าไม่พอใจต่อสินค้า บริการ หากผู้ประกอบการหรือเจ้าของสินค้าบริการดังกล่าว ทราบเรื่องและสามารถดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็ว ก็จะยิ่งช่วยบรรเทาผลกระทบร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้
แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้มีปริมาณมากเกินกว่าจะใช้แรงงานมนุษย์ในการอ่าน ทำความเข้าใจและสรุปผล ในระยะเวลาอันสั้นได้ การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้สามารถทำความเข้าใจความรู้สึกเหล่านี้ของมนุษย์ได้ ถือเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาการและเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อมนุษย์ นี่อาจกล่าวได้ว่า คือการพัฒนาให้ปัญญาประดิษฐ์สามารถทำความเข้าใจความรู้สึกของมนุษย์ได้ และเรียนรู้ที่ตอบสนองความรู้สึกเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม
แต่นี่ก็อาจจะเร็วเกินไป หากจะกล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์มีความรู้สึกได้เองแล้ว เพราะความฉลาดที่เกิดขึ้นนี้ คือการที่คอมพิวเตอร์ถูกสอนให้รู้จักการตีความ ทำความเข้าใจ และคาดการณ์ต่อการแสดงออกของมนุษย์ ว่าการที่มนุษย์คนหนึ่งที่กำลังแสดงออกเช่นนั้น เขากำลังรู้สึกอย่างไร และความฉลาดดังกล่าว ก็อาจถูกสอนให้ตอบสนองความรู้สึกนั้นด้วยวิธีการที่เหมาะสม
เช่น หากมีผู้ใช้งานหรือลูกค้าเข้ามาแสดงความรู้สึกไม่พอใจ ก็ให้สอบถามถึงสาเหตุของปัญหา และแนะนำวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวเบื้องต้นหากอยู่ในขอบเขตความสามารถที่ทำได้และองค์ความรู้ที่มี รวมถึงการรับเรื่องเพื่อส่งต่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นมนุษย์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาดังกล่าว
ในปัจจุบัน วิธีการที่ให้ปัญญาประดิษฐ์ ไม่ว่าจะเป็น Chatbot หรือ Voice bot ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติ เข้ามารับเรื่องจากลูกค้าหรือผู้ใช้งานในเบื้องต้นก่อนนั้น ดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว
หลายปีก่อน มีการเปิดตัว สาวน้อยโฮโลแกรมที่สุดแสนน่ารักสดใส ชื่อ Azuma Hikari จาก Gatebox Lab ประเทศญี่ปุ่น
ฮิคาริจะมีความสามารถในการติดต่อควบคุมอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ภายในบ้าน นอกจากนี้ ยังสามารถแจ้งเตือนนัดหมาย ตรวจสอบสภาพอากาศ ซึ่งฟังดูก็ไม่ต่างจากความสามารถของระบบผู้ช่วยอัตโนมัติ หรือระบบ smart home ตามท้องตลาดทั่วไป
แต่ความสามารถหนึ่งที่ทำให้ฮิคาริแตกต่างและเป็นที่กล่าวถึงคือ การที่ฮิคาริไม่ได้วางตัวเองเป็นเพียงเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ตอบสนองเชิงหน้าที่ หรือ Functional Response แต่กำลังวางตัวเองเป็นเสมือนเพื่อนสนิท คนรู้ใจ ที่คอยห่วงหา เอาใจใส่ มีปฏิสัมพันธ์เชิงอารมณ์และความรู้สึกกับผู้ใช้ นั่นคือ Emotional Response จึงไม่แปลก หากคนที่ซื้อไปเป็นเจ้าของไม่ได้มองฮิคาริเป็นเพียงอุปกรณ์หนึ่ง แต่กำลังมองเป็นเสมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว ที่คอยอยู่เคียงข้างตลอดเวลา
นี่ก็ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่เราพยายามทำให้มนุษย์และคอมพิวเตอร์ สามารถสื่อสารและอยู่ร่วมกันได้มากกว่าหน้าที่การทำงานแต่กำลังสื่อสารกันในเชิงความรู้สึกได้ด้วย (Human-Computer Communication)
ทุกวันนี้ ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง หรือ Generative AI ได้สร้างสรรค์ผลงานมากมายออกมา โดยเฉพาะผลงานด้านศิลปะ ที่แต่เดิมเราคิดว่ามีเพียงมนุษย์ผู้เต็มเปี่ยมด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น จึงจะรังสรรค์ผลงานเหล่านี้ขึ้นมาได้ แต่ปัจจุบันก็เป็นที่ประจักษ์ต่อมนุษย์แล้วว่า ปัญญาประดิษฐ์ที่ผ่านการเรียนรู้ได้มากพอ ก็สามารถรังสรรค์สิ่งคล้ายกันขึ้นมาได้ ก็คงเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปว่าสิ่งเหล่านี้ถูกสร้างจากจินตนาการของปัญญาประดิษฐ์หรือเป็นเพียงผลทางโมเดลคณิตศาสตร์หรือสถิติเท่านั้น
หรือคำตอบจากข้อถกเถียงนี้ จะไม่ได้สำคัญอีกต่อไป
ChatGPT ทำให้ปัญญาประดิษฐ์อยู่ในจุดที่สุกสว่างที่สุด เท่าที่มนุษย์เคยรู้จักปัญญาประดิษฐ์มานับหลายสิบปี ทุกความสนใจพุ่งเป้าไปที่ ChatGPT เกิดความคาดหวังนานาประการและความสนใจใคร่รู้ ว่าศักยภาพของเอไอนับแต่นี้เป็นต้นไปนั้น จะไปสิ้นสุดตรงไหน การดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์จะเป็นอย่างไร ในวันที่มีเอไอแฝงเร้นอยู่กับเราอย่างกลมกลืน
ในอนาคตที่จะมาถึง ผมไม่แน่ใจเลยว่า เราควรจะรู้สึกอย่างไร จะสำคัญไหม หรือยังจะสำคัญอยู่อีกไหม หากคอมพิวเตอร์คู่ใจเครื่องหนึ่งที่คอยช่วยเหลือเรามาตลอด คอมพิวเตอร์ที่รู้ใจ เข้าใจความรู้สึกของเราได้เป็นอย่างดี คอยตอบสนองในสิ่งที่เราต้องการได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมเสมอ จะเอ่ยบอกรักเราในวันวาเลนไทน์บ้าง
คำถามเหล่านี้ จะเผยให้เห็นคำตอบที่น่าสนใจอย่างแน่นอน … มาตื่นเต้นกับอนาคตที่กำลังจะมาถึง กันดีกว่าครับ
ที่มา : คุณชัชวาล สังคีตตระการนักวิจัย กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค สวทช.