หลังจากกรณีของ LINE IDOL ที่ปิดตัวลง และมีการเช็คเอกสารสัญญาและเงื่อนไขต่างๆ ของไลน์ที่ได้ทำร่วมกับบริษัทสื่อชั้นนำของไทยหลายค่าย ก็ยังพบอีกหนึ่งข้อกังขาของการใช้คอนเทนต์ของสื่อบนช่องทาง LINE TODAY
โดยการทำงานของ LINE กับสื่อถูกแบ่งเป็น 2 ทีม ซึ่ง LINE IDOL เป็นการทำงานร่วมกับฝ่ายการตลาดที่หารายได้เข้าบริษัท ส่วน LINE TODAY นั้น เกิดขึ้นเพื่อหวังเป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทำให้มีการ "คัดกรอง" ข่าว ก่อนแสดงผลขึ้นระบบของ LINE TODAY ในฟีดของทุกคนที่ใช้งานแอปนั่นเอง
เดินเกมส์ผิดหรือเปล่า??
ดังนั้น นโยบายในการเปิดตัว LINE IDOL จึงไม่ใช่การเป็นตัวกลางระหว่างสื่อ อินฟลูเอนเซอร์ ดารา นักร้อง กับฐานแฟนผู้ติดตามเพียงอย่างเดียว
แต่เป็นการคาดหวังรายได้ที่จะมาจากกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะหากดารา-นักร้อง สำนักข่าว อินฟลูเอนเซอร์ "ยอมจ่าย" เพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงฐานผู้ติดตาม นั่นจะกลายเป็นรายได้ที่น่าสนใจของ LINE อีกช่องทางหนึ่ง
โดย LINE อาจจะลืมไปว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีโซเชียลมีเดียที่ใช้งานได้ฟรีในการติดตามอยู่แล้ว การมีช่องทางนี้ขึ้นมาซ้ำซ้อน แถมยังต้องเสียเงินในการเข้าใช้งานอีก แม้จะบอกว่าเป็นช่องทางการโต้ตอบ (Interaction) กับคนดังได้แบบเอ็กซ์คลูซีฟ แต่การสื่อสารแบบเอ็กซ์คลูซีฟ อาจจะไม่ใช่การคุยกันแบบตัวต่อตัวเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ คู่แข่งที่เป็นโซเชียลมีเดีย อาจจะมีลูกเล่นดีกว่าและไม่ต้องเสียเงินด้วย ทำให้เป็นเรื่องยากที่ LINE IDOL จะทำเงินได้เหมือนกลุ่ม SME รายอื่นๆ ที่ใช้ LINE OA เพื่อสื่อสารกับลูกค้าเพื่อสร้างโอกาสทางการขาย
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม
LINE TODAY กับการเป็นตัวกลางในการนำเสนอข่าว
ทางด้านของ LINE TODAY นั้น สร้างขึ้นมาภายใต้นิยามของการเป็นแพลตฟอร์มรวมข่าวสาร บทความ ที่คาดหวังให้ผู้ใช้งานได้รับข่าวสารที่คัดเลือกมาแล้วว่าเป็นข่าวที่ดี ไม่มีโฆษณา ไม่มีข่าวปลอมให้ต้องกังวล มีพาร์ทเนอร์กว่า 120 รายในประเทศไทย
เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2559 มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 32 ล้านคน คิดเป็น 76% ของผู้ใช้งาน LINE มีการคลิกอ่านมากกว่า 1 พันล้านครั้งต่อเดือน สัดส่วนคอนเทนต์ทั้งหมดแบ่งเป็น 95% จากพาร์ทเนอร์ข่าว อีก 5% ทีมงานผลิตขึ้นเอง
แต่เมื่อมีการตรวจสอบเนื้อหาข่าวต่างๆ ที่เผยแพร่ใน LINE TODAY จะพบว่า มีการทำ SEO อย่างชัดเจน เพื่อให้ได้ติดอันดับใน Google หรือ Google News เพิ่มอีกหนึ่งช่องทาง นอกจากการนำเนื้อหาข่าวไปแสดงผลในช่องทางของตนเอง
แสดงให้เห็นว่ารายได้จากการโฆษณาของ LINE TODAY ไม่ได้มาจาก Display Ad (การทำป้ายโฆษณาในรูปแบบของรูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว หรือวิดีโอ ที่ผ่านการซื้อพื้นที่สื่อบนออนไลน์) เพียงอย่างเดียว
แต่มีการทำโฆษณาบน Google ในรูปแบบอื่นๆ ด้วย โดยรูปแบบการอัปข่าวของ LINE TODAY นั้น จะอัปขึ้นทั้งระบบเว็บและแอป เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะรับชมผ่าน LINE บนคอมพิวเตอร์ หรือบนมือถือ เมื่อคลิกลิ้งก์เข้าไปก็จะสามารถรับชมเนื้อหาได้เช่นกัน
เพียงแต่ว่าจะไม่มีการคัดลอกเนื้อหาข่าวออกจากช่องทางของ LINE TODAY แบบตัวอักษรได้
ทาง SPRiNG ได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านระบบไอทีก็พบว่า ในเว็บไซต์ของ LINE TODAY มีการทำ SEO บน Google อย่างแน่นอน แต่ระบบเว็บมีการใส่รหัสโค้ดเอาไว้ ทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่ามี Ads ที่แฝงอยู่ในเว็บมากน้อยแค่ไหน
ส่วนการทำ Ad Network (ตัวแทนรับลงโฆษณา และดูแลโฆษณา ให้ในเว็บต่างๆ และไปหาโฆษณาจากเจ้าของสินค้ามาลงให้) นั้น ถือว่าเป็นช่องทางการใช้งาน Google Ads รูปแบบหนึ่งที่มีชื่อเสียงเป็นวิธีการที่มีคู่แข่งน้อย แต่ได้ผลลัพท์ของการโฆษณาที่สูง
สิ่งที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ของสื่อกับ LINE TODAY ในตอนนี้ คือ เมื่อมีการตรวจสอบสัญญาระหว่าง LINE กับสื่อในเครือเนชั่น ประกอบด้วย กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก ทีนิวส์ และเนชั่นทีวี พบว่า ได้มีการเลือกเซ็นสัญญาในหัวข้อ Non-Exclusive หมายถึงว่า LINE จะ "ไม่มีสิทธิ์" ในการนำข่าวที่สื่อเครือเนชั่นอนุญาตให้ LINE นำไปใช้งาน เผยแพร่ในช่องทางอื่น
แต่ในความเป็นจริงกลับนำเนื้อหาจากข่าวต่างๆ ของสื่อในเครือไปใช้ในช่องทางอื่นๆ แม้จะมีการตรวจสอบกับทาง LINE ไปหลายรอบแล้ว แต่กลับไม่ได้รับความชัดเจน มีแต่คำพูดที่บอกว่า "อยู่ระหว่างการตรวจสอบ, ต้องรอผู้บริหารกลับจากเมืองนอก, ผู้บริหารยังไม่มีคิวที่สะดวกตอบคำถาม"
ทั้งที่มีการติดต่อไปทาง LINE เกี่ยวกับปัญหาทั้ง LINE IDOL และ LINE TODAY ตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่ จนผ่านมาเกือบครึ่งเดือนก็ยังไม่มีข้อมูลการตรวจสอบที่ชัดเจน ต่างจากคำพูดที่บอกว่า "ธุรกิจสตาร์ทอัพ ล้มให้ไวและต้องลุกให้ไว" ปิดตัวทางหน่วยธุรกิจได้ไว แต่ในเรื่องของคำชี้แจงนั้นไม่ได้ตอบกลับไวอย่างที่คาดหวัง
ดังนั้น ข้อสงสัยที่สื่อยังคงรอคำตอบก็ยังคงล่องลอยอยู่ในอากาศ เมื่อเรื่องเงียบไปข้อสงสัยก็คงจะหายไปกับสายลมและคำตอบก็คงไม่มีอีกต่อไป...
ที่มา : The Standard, กรุงเทพธุรกิจ, ลงทุนแมน, เนชั่น, ฐานเศรษฐกิจ