svasdssvasds

PwC ชี้หนึ่งในสี่ของเงินทุนธุรกิจร่วมลงทุนอยู่ใน Climate Tech

PwC ชี้หนึ่งในสี่ของเงินทุนธุรกิจร่วมลงทุนอยู่ใน Climate Tech

PwC เผยเทรนด์ Climate Tech เป็นกระแสโลกที่น่าจับตาหลังรายงานพบเทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศ คิดเป็นมากกว่า 25% ของเงินทุนธุรกิจร่วมลงทุนในปี 2565

โดยเงินระดมทุนส่วนใหญ่ เน้นลงทุนในเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการจัดเก็บคาร์บอน ความท้าทายยังอยู่ที่จำนวนของสตาร์ทอัพที่มีคุณภาพในตลาด และแนวโน้มการลงทุนที่ลดลงของการระดมทุนในระยะเริ่มต้น

PwC จัดทำรายงาน State of Climate Tech 2022 พบว่า เงินระดมทุนสำหรับเทคโนโลยีที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology) มีสัดส่วนคิดเป็นมากกว่าหนึ่งในสี่ของเงินที่ลงทุนในปี 2565 โดยอยู่ในระดับ 20-30% ที่สังเกตได้ตั้งแต่ต้นปี 2561

ทั้งนี้ การลงทุนใน Climate Tech อยู่ที่ระดับ 1.5 ถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อไตรมาส หรือราว 5.2 ถึง 6.9 แสนล้านบาท  สอดคล้องกับช่วงครึ่งแรกของปี 2564

โดยมีเงินระดมทุนรวมตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมาที่ 260 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่า 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

 

การปรับปรุงการกำหนดเป้าหมายของเงินทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซมลพิษได้มากที่สุด

โดยในปี 2564 สตาร์ทอัพที่มีโซลูชันที่กำหนดเป้าหมายไปยังภาคอุตสาหกรรมที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซมลพิษที่ 85% ดึงดูดการลงทุนได้เพียง 39% แต่ในปีนี้ สตาร์ทอัพในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว กลับสามารถดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศได้ถึง 52%

ทั้งนี้ ความคึกคักของการลงทุนในเทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของธุรกิจร่วมลงทุนนั้น ยังคงตามมาด้วยแนวโน้มที่ไม่สดใสนักสามประการ ได้แก่

  • จำนวนและมูลค่ารวมของดีลที่ต่ำกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งโดยปกติแล้ว จะอยู่ในช่วงแรกสุดของการระดมทุน (early-stage funding) ได้ลดลงตั้งแต่ต้นปี 2564

แนวโน้มการลงทุนที่ลดลงของการระดมทุนในระยะเริ่มต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงจำนวนของสตาร์อัพคุณภาพสูง ที่สามารถก้าวสู่การระดมทุนในระยะถัด ๆ ไปที่อ่อนแอ ซึ่งนี่ยังถือเป็นปัจจัยที่ขัดขวางนักลงทุนจากการลงทุนในระดับสูงในปีถัด ๆ ไปในตลาด Climate Tech แม้ว่าจะมีเงินรอลงทุนในระดับสูงก็ตาม

PwC ชี้หนึ่งในสี่ของเงินทุนธุรกิจร่วมลงทุนอยู่ใน Climate Tech

  • ในขณะที่ส่วนแบ่งการใช้จ่ายของธุรกิจร่วมทุนนั้น คงความแข็งแกร่ง แต่เงินร่วมลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศที่ถูกใช้กลับลดลงโดยรวม

ซึ่งการระดมทุนในรูปเงินสดในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2565 ลดลง 30% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 เป็นผลมาจากการใช้เงินทุนของบริษัทที่ไม่มีการประกอบธุรกิจเป็นของตนเอง

แต่สร้างขึ้นมาเพื่อระดมเงินทุนไปซื้อบริษัทอื่นที่ไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Special Purpose Acquisition Company: SPAC) ที่มีมูลค่าสูงถึง 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ซึ่งถือเป็นความไม่ปกติเป็นวัฏจักร

  • ในขณะที่ความสอดคล้องกันของเงินลงทุนและศักยภาพของผลกระทบได้ปรับตัวดีขึ้น แต่ตลาดยังขาดประสิทธิภาพในการบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ

โดยโซลูชันในการแก้ปัญหา เช่น เทคโนโลยีลดเศษขยะจากอาหารและเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ (ซึ่งมีศักยภาพสูงสุดในการลดการปล่อยก๊าซมลพิษในบรรดาเทคโนโลยีที่ทำการวิเคราะห์) ยังคงได้รับเงินทุนในระดับที่ค่อนข้างน้อยเกินไป (underfunded)

แนวโน้มในระดับมหภาคจากภาครัฐและภาคเอกชน ชี้ให้เห็นถึงมุมมองเชิงบวกและความต้องการเทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะต้องใช้เวลาสักระยะสำหรับความต้องการนี้ในการผลักดันแนวโน้มการลงทุนที่เพิ่มขึ้น

แต่ก็รู้สึกได้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วทั่วทั้งภาคอุตสาหกรรมและโซลูชันต่าง ๆ ยกตัวอย่าง เช่น การดักจับคาร์บอน การกำจัด การใช้ประโยชน์ และการจัดเก็บ ที่เห็นการลงทุนที่เพิ่มขึ้น หลังจากการลงทุนและการเติบโตพอประมาณมาเป็นเวลาหลายปี

การระดมทุนโดยรวมในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2565 นั้น ได้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าของปี 2564 แม้ว่าจะมีจำนวนดีลน้อยกว่าในปี 2565 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ดีลร่วมทุนในระยะหลังกำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ และขนาดของดีลโดยเฉลี่ยก็ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดยังคงมีขนาดเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับศักยภาพของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยรวม และการคาดการณ์โดยนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปริมาณการกำจัดก๊าซคาร์บอนที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)

ด้านนาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย การลงทุนด้าน Climate Tech ส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปในลักษณะของเงินร่วมลงทุนใหม่ในเครื่องจักร อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทางอ้อม

มากกว่าการลงทุนในโซลูชันที่จะช่วยขับเคลื่อนการกำจัดคาร์บอนทางตรง เช่น การลงทุนในเครื่องจักรใหม่ของภาคการผลิต เช่น เทคโนโลยีที่ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า หรือลดการปล่อยของเสีย และการจัดตั้งอาคารสำนักงานประหยัดพลังงาน เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี เราเห็นสัญญาณที่ดีจากภาครัฐที่มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล และปิโตรเคมี ได้มีการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น

ในอนาคตเชื่อว่า น่าจะเห็นภาคเอกชนทั้งบริษัทขนาดเล็กและขนาดใหญ่ หันมาลงทุนใน Climate Tech ทั้งในส่วนของเทคโนโลยีเกิดใหม่และเทคโนโลยีปลายน้ำในวงกว้างมากขึ้น

ซึ่งในปัจจุบัน จะเห็นว่า มีบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง มีโครงการศึกษาเทคโนโลยี CCUS หรือ carbon capture, utilisation and storage กันบ้างแล้ว เพราะในระยะต่อไปความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศ จะเป็นสิ่งที่ธุรกิจไหนในโลกก็มองข้ามไม่ได้”   
 

related