“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” เชื่อ หลังโควิด-19 เศรษฐกิจไทยฟื้นแน่ แต่รัฐบาลต้องช่วยด้วย เปลี่ยนจากผู้คุมกฎ มาเป็นผู้สนับสนุนและสนับสนุนให้มากกว่าเดิม พร้อมขอภาครัฐถ้าบังคับใช้กฎหมายขอให้ใช้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ระบุภายในงานสัมมนา Go Thailand : Recession or Resurrection ถดถอย VS พลิกฟื้น จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ ว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของคนเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งถือเป็นการก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่ที่เราไม่รู้ตัว
“ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลง ที่ใกล้ตัวที่สุด คือ การทำงานที่บ้าน ในอดีตมีแต่คนปฏิเสธเพราะการทำงานต้องมาทำงานที่ออฟฟิศ แต่ปัจจุบันการให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศถือเป็นความท้าทายหนึ่งเช่นกัน” นายสมชัย ระบุ
“ผมฟันธงครับว่าเศรษฐกิจและของประเทศไทยในปีหน้าจะฟลิกฟื้น ด้วยมือของพวกเราทุกคน ที่ผ่านมา โควิด-19 ทำให้ทุกคนต้องกลับมาเริ่มก้าวเดินใหม่พร้อมกัน ดังนั้นประเทศไทยก็จะมีโอกาสพลิกฟื้นพร้อมกับประเทศอื่น ๆ และที่สำคัญ คือ ประเทศไทยมีโอกาสทางภูมิศาสตร์ที่ดีกว่าประเทศอื่น ๆ ด้วย”
ไทยและองค์กรจะพลิกฟื้นต้องทำอย่างไร ?
Organization Effectiveness : นายสมชัย มองว่า เรื่องแรกก็คือการทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ได้ควบรวมแค่เฉพาะภาคเอกชน แต่ภาครัฐเองก็จะต้องทำให้หน่วยงานต่าง ๆ มีประสิทธิภาพให้ได้ ด้วยการทำ Digital Transformation หรือการปรับตัวองค์กรให้เข้ากับโลกดิจิทัล
People : นายสมชัย ระบุต่ออีกว่า ขณะเดียวกันการรีสกิลหรือการฝึกทักษะใหม่ๆก็จำเป็นที่จะต้องมีการทำให้ภาคการศึกษาพัฒนาบุคลากรให้ก้าวทันต่อโลกด้วย ซึ่งการเข้ามาของโควิด ทำให้เราสามารถก้าวข้ามโลกดิจิทัลได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งโอกาสหนึ่งที่ประเทศไทยมีโอกาสมากกว่าประเทศอื่นคือเราได้มีการใช้เทคโนโลยี 5g ที่ดีและแข็งแรงกว่าหลายประเทศในโลก ซึ่งไทยเป็นรองอยู่แค่จีน เกาหลีและญี่ปุ่นเท่านั้น
“ถ้าเราอยากพลิกฟื้นประเทศจริง ๆ เราจะต้องพัฒนาทรัพยากรบุคคลอย่างจริงจังและต้องทำให้ได้”
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
นายสมชัย ระบุว่า วิธีการพัฒนาบุคคลให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยี เราจำเป็นที่จะต้องยอมรับว่า หากเราไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีเราก็จำเป็นที่จะต้องนำเข้าบุคลากรที่มีความรู้เหล่านี้ เข้ามาอบรมนักศึกษาข้อมูลเพื่อสอนคนไทยที่มีอยู่ ให้สามารถมีขีดความสามารถให้เทียบเท่ากับเขา ซึ่งหากพัฒนาและสอนบุคลากรของเราแล้วยังไม่สามารถทำได้ตามที่คาดไว้ ก็ให้จ้างบุคลากรจากต่างประเทศมาให้สามารถพัฒนาองค์กรต่อได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัจจัยบวกต่อการพัฒนาบุคลากรไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม
รัฐ เอกชน ประชาชน ต้องช่วยกัน
ขณะเดียวกันการพัฒนาพลังของประเทศไทยให้สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ ก็จำเป็นต้องประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ภาคประชาชน ภาคเอกชนและภาครัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนมีความพร้อมและเข้มแข็งมากพอแล้ว แต่ส่วนตัวอยากเพิ่มเติมในส่วนตัวของรัฐบาล ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้กำหนดกฎหมาย แต่จะต้องเป็นผู้สนับสนุนองค์กรและภาคีต่างๆ
“นอกจากนี้ภาครัฐบาลเอง ก็จำเป็นต้องกำหนดใช้ตัวบทกฎหมายอย่างเป็นธรรมด้วย ส่วนภาคเอกชนก็จำเป็นที่ต้องทำธุรกิจแบบแบ่งปันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ดีต่อภาคอื่น ๆ ของสังคมด้วย”
ผู้คุมกฎก็ต้องเป็นผู้สนับสนุนที่ดีมากกว่าเก็บเงินประมูลคลื่นความถี่
สิ่งที่ต้องยอมรับ คือ ภาคเอกชน อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เป็นจำนวนมากไม่เป็นเฉพาะแค่ AIS แต่รวมถึง True และ Dtac ด้วย ดังนั้นการลงทุนเหล่านี้จะทำให้รัฐบาลประหยัดค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลเอง ก็จำเป็นที่จะต้องผลักดันให้ภาคเอกชนอื่น ๆ ใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ภาคโทรคมนาคมลงทุนไปให้เป็นประโยชน์ด้วย
นายสมชัย มองว่า สำหรับอุปสรรคของประเทศไทยในส่วนของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ภาคของธุรกิจ คือการเติบโตด้านการใช้งานที่เพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น หลัก 20-30% ซึ่งการใช้งานที่มากขึ้นก็จำเป็นที่จะต้องลงทุนมากยิ่งขึ้น แต่กำไรเติบโตเป็นเปอร์เซ็นต์เพียงหลักหน่วยเท่านั้น เพราะภาคเอกชนมองว่าจำเป็นต้องดึงกลุ่มรากหญ้าขึ้นมาให้ไปพร้อมกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป
ขณะเดียวกันอีกอุปสรรคหนึ่งนั่น คือ เรื่องของผู้คุมกฎหมายอย่าง กสทช. ในอดีตการประมูลคลื่นความถี่ ผมต้องคอยกดประมูล ซึ่งในต่างประเทศ ผู้คุมกฎหมายแทบจะให้คลื่นกับผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมฟรี เพราะสิ่งเหล่านี้นับเป็นต้นทุนในการให้บริการทั้งสิ้น ดังนั้นผู้คุมกฎหมายควรเป็นผู้สนับสนุนช่วยลดต้นทุนในการบริหารงานและสร้างโอกาสการเข้าถึงเครือข่ายให้แก่ประชาชนมากกว่านี้