สิทธิและเสรีภาพในการใช้ชีวิตมีหลายด้าน แต่ในรัฐอิสลามนั้น ผู้หญิงมีเสรีภาพในชีวิตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และเกิดเหตุสลดบ่อยครั้ง เช่นล่าสุดที่มีการประท้วงเพื่อหญิงอิหร่านที่เสียชีวิต ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประชาชนโดนปิดกั้นการใช้งาน Instagram และ WhatsApp
เหตุจาก มาห์ซา อามินี (Mahsa Amini) หญิงอิหร่านอายุ 22 ปี ถูกตำรวจด้านศีลธรรมในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน จับกุมด้วยข้อหาแต่งกายไม่เหมาะสม (ไม่สวมฮิญาบ) ต่อมากลับเกิดเหตุร้ายกับมาห์ซา โดย 3 วันหลังจากถูกจับ มาห์ซาเสียชีวิต คาดว่าเพราะถูกทำร้ายร่างกาย แต่ทางรัฐบาลบอกว่า เธอจากไปเพราะหัวใจวาย ไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด
ศึกแห่งเสรีภาพในโลกออฟไลน์
ประเด็นดังกล่าวปลุกหญิงอิหร่านให้ลุกฮือขึ้นมาต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการดำรงชีวิต ด้วยการตัดผมประท้วง ชุมนุมประท้วงอย่างสันติ แต่กลับกลายเป็นว่า สถานการณ์รุนแรงขึ้นและขยายวงออกไปมากกว่า 50 อำเภอ ทั้งยังมีการเผาสถานีตำรวจ รถสายตรวจ นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า ตำรวจใช้อาวุธหนักในการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง ในข่าวระบุด้วยว่า พบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 26 ราย
ในโลกออฟไลน์ สถานการณ์ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีชาวอิหร่านอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตุรกี เนเธอร์แลนด์ กรีซ ออกมาร่วมชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องเสรีภาพ ขณะเดียวกัน ประเทศคู่อริอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ออกมาประกาศคว่ำบาตรตำรวจด้านศีลธรรมของอิหร่าน โดยกล่าวหาว่า มีการละเมิดและใช้ความรุนแรงกับหญิงอิหร่าน และละเมิดสิทธิการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ
ศึกแห่งเสรีภาพบนโลกออนไลน์
มาที่โลกออนไลน์ NetBlocks เว็บตรวจจับการถูกปิดกั้นการใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตของอังกฤษ ตรวจพบปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตในอิหร่าน โดยระบุว่า
ระบบสื่อสารและโทรคมนาคมระดับภูมิภาคทั้งในเมือง Sanandaj จังหวัดเคอร์ดิสถาน และบริเวณรอบๆ ขัดข้อง สืบเนื่องมาจากบริการอินเทอร์เน็ตบางส่วนในกรุงเตหะรานและส่วนอื่นๆ ของประเทศหยุดชะงักตั้งแต่วันศุกร์ที่เริ่มมีการประท้วง
..........................................................................................
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
..........................................................................................
การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในประเทศอิหร่านมีปัญหา สัมพันธ์กับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของผู้ประท้วงผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งการโพสต์ภาพ โพสต์คลิป ซึ่งต่อมาเซิร์ฟเวอร์ของ WhatsApp ก็ถูกรบกวน ตามมาด้วยการบล็อก Instagram และสุดท้าย ทั้งสองแพลตฟอร์มต่างแดนที่เหลืออยู่ในอิหร่านก็ถูกจำกัดการใช้งานทั่วประเทศตั้งแต่วันพุธที่ 21 กันยายน 2565
ตั้งแต่วันจันทร์ ระบบของ NetBlocks ตรวจพบการหยุดให้บริการอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งหมดใน เคอร์ดิสถาน (Kurdistan) จังหวัดหนึ่งซึ่งอยู่ทางตะวันตกของอิหร่าน ขณะที่เมืองหลวงเตหะรานและส่วนอื่นๆ ของประเทศ ก็เผชิญปัญหาระบบอินเทอร์เน็ตหยุดชะงักตั้งแต่วันศุกร์ที่เริ่มมีการประท้วง
ในบางพื้นที่ของประเทศที่ปกครองแบบสาธารณรัฐอิสลาม มีการควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตเข้มงวดมากที่สุด และบล็อกโซเชียลมีเดียเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็น TikTok, YouTube, Twitter และ Facebook
ถามว่า ปิดกั้นการใช้แอปแล้วยังแอบใช้งานได้ไหม?
คำตอบคือ ได้ กลุ่ม Tech savvy หรือคนที่เชี่ยวชาญหรือสนใจเทคโนโลยีมากๆ สามารถเข้าใช้งานได้ผ่าน VPN (Virtual Private Network) หรือ เครือข่ายเสมือนส่วนตัว ซึ่งเป็นบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบเข้ารหัส 2 ชั้น รับส่งไฟล์ได้โดยซ่อน IP Address เอาไว้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน
กล่าวคือ VPN เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยระหว่างการใช้อินเทอร์เน็ตและปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้กับอุปกรณ์ที่เราใช้กัน เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต รวมถึงอุปกรณ์ IoT รุ่นใหม่ๆ ที่ส่วนใหญ่สามารถเชื่อมต่อ VPN ได้
..........................................................................................
ที่มา