การเปิดตัวแว่น VR Vision Pro ของ Apple แม้จะสร้างความฮือฮาในเรื่องความล้ำหน้าของเทคโนโลยี แต่ก็เริ่มมีเสียงเตือนว่าอุปกรณ์ตัวนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองและสายตาของผู้ใช้งานได้
รีวิวเกี่ยวกับหูฟัง Apple Vision Pro ได้รับการยอมรับจากสื่อเทคโนโลยีโดยทั่วไป เพราะมันออกแบบดี มีคุณภาพเสียงและภาพที่น่าประทับใจ และมีอินเทอร์เฟซที่คล้ายกับในหนัง "Minority Report" แม้ในตอนแรกจะไม่มีใครแน่ใจว่าใครจะจ่ายเงิน 3,500 ดอลลาร์เพื่อซื้อมันหรือไม่ แต่ในเวลาไม่นาน ก็เริ่มมีคลิปไวรัลคนสวมแว่น VR Vision Pro ขับรถยนต์ หรือเดินไปตามท้องถนน จนมีเสียงเตือนเรื่องความปลอดภัย
แว่น VR Vision Pro ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของเทคโนโลยี เช่นเดียวกับแว่น Quest 3 และ Quest Pro จาก Meta แสดงผลด้วยวิดีโอแบบ "passthrough" โดยมีกล้องและเซ็นเซอร์ที่จับภาพจากโลกภายนอกแล้วแสดงในอุปกรณ์ สร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริง โดยมีแอพต่างๆของ Apple ลอยอยู่ด้านหน้า ซึ่ง Apple และ Meta หวังว่าโลกเสมือนจริงนี้จะมีผู้สนใจใช้งานมันอย่างจริงจัง
แต่ข้อมูลจากการวิจัยพบว่าการใส่แว่น VR Vision Pro ในระยะยาวอาจเปลี่ยนแปลงวิธีที่เรามองโลกที่เราอยู่กันได้จริง แม้ตอนนี้ บริษัทต่างๆ จะโฆษณาว่าคุณสามารถใช้แว่น VR หลายชั่วโมงต่อวัน แต่นักวิจัยมองว่าการใช้งานในระยะยาวจะเปลี่ยนแปลงวิธีการที่เรามองโลกในความเป็นจริง และอาจทำให้เรามีความยากลำบากในการเห็นภาพจริง
แม้แต่การใส่แว่น VR ในระยะสั้นก็อาจทำให้การกะระยะห่างของวัตถุจริงๆมีความคลาดเคลื่อน เพราะสภาพแวดล้อมในโลกเสมือนจริงยังมีความละเอียดต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพเสมือนจริง 3 มิติ ซึ่งปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นหากใช้งานในขณะที่ทำสิ่งต่าง ๆ เช่น ขี่สเก็ตบอร์ดและขับรถ ไปด้วย
นอกจากนี้ ภาพวัตถุที่แสดงในแว่น VR ยังสามารถเปลี่ยนรูปร่างได้อีกด้วย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่าการบิดเบือนของวัตถุ โดยสิ่งของอาจบิดเบือนและเปลี่ยนขนาดหรือรูปร่างหรือสี โดยเฉพาะเมื่อคุณขยับหัว หรือหันไปมาเร็วๆ เพราะวิดีโอเรนเดอร์ไม่สามารถเปรียบเทียบกับความเร็วในการประมวลผลและความคมชัดของตาและสมองของมนุษย์ได้
หากเราใช้เวลาแค่ไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมงเพื่อเล่นเกมส์และดูหนังปัญหานี้ยังเห็นไม่ชัดเจน แต่การใส่แว่นเป็นเวลานาน ปัญหาก็เริ่มเกิดขึ้นอย่างชัดเจน
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford ที่ทดลองเกี่ยวกับการมองเห็น ใส่ Vision Pros และ Quests ทำกิจกรรมในพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นระยะเวลาสองสัปดาห์ โดยพยายามทำตัวปกติ ใช้ชีวิตแบบเดิมๆ และมีผู้ดูแลใกล้ตัวในกรณีที่พวกเขาหกล้มหรือชนกำแพง โดยพวกเขาเคยมีประสบการณ์ใช้ชุดแว่น VR มาแล้วก่อนหน้านี้
ผลปรากฏว่า ผู้ทดลองมีอาการคลื่นไส้, ปวดหัว, หน้ามืด และพวกเขารู้สึกถึงผลกระทบจากระยะทางและการบิดเบือนต่างๆ เช่น คิดว่าปุ่มลิฟต์อยู่ห่างจากนิ้วมือมากขึ้น หรือมีความยากลำบากในการนำอาหารเข้าปาก
แต่ไม่นานนักก็ปรับตัวได้ เมื่อสมองและกล้ามเนื้อเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เหมาะกับมุมมองใหม่ของโลก แต่ก็ต้องปรับตัวอีกครั้งเมื่อถอดแว่นออก ดังนั้น ยิ่งอยู่ในโลกเสมือนจริงนานเท่าไหร่ ผลกระทบกับการมองเห็น ประสาทสัมผัสในโลกจริงก็จะยิ่งมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากการแสดงผลด้วย วิดีโอ passthrough ซึ่งบันทึกภาพแล้วเรนเดอร์ออกมาอีกครั้ง ทำให้ตอนที่ทีมวิจัยพยายามพูดคุยกับผู้คนอื่นๆ ก็เหมือนเขาเข้าไปในห้องประชุม Zoom ขนาดใหญ่และวุ่นวาย เช่นเดียวกับที่หลายๆคนเคยประสบปัญหากับวิดีโอแชท ที่ผู้คนใช้เวลานานเกินไปในการตอบกลับ การสนทนาอาจดูไม่สมจริง คนที่กำลังคุยด้วยเริ่มดูเหมือนไม่มีอยู่จริง นักวิจัยเชื่อว่าการใช้ชุดแว่น VR แบบ passthrough ในระยะยาว อาจทำให้มองคนอื่นเหมือนไม่ใช่มนุษย์
แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด “ชุดแว่น VR เหล่านี้ไม่เพียงแต่สามารถเพิ่มสิ่งต่าง ๆ ให้กับโลกแห่งความเป็นจริงเท่านั้น แต่ยังยังสามารถลบออกได้อีกด้วย” นักวิจัยกล่าวว่า ในขณะที่เล่นเกมบน Quest 3 เขาสังเกตเห็นคุณสมบัติที่แปลกประหลาดของ VR เป็นครั้งแรก กำแพงจริงบางส่วนรอบตัวเขาถูก "ลบออก" และแทนที่ด้วยฉากเสมือนจริง
ลองคิดดูว่าถ้าเราอยู่บนรถบัสที่มีคนเยอะมาก ก็แค่ย้ายทุกคนให้ไปอยู่ในห้องโดยสารชั้นเฟิร์สคลาสของเครื่องบินลำใหญ่แทน หรือถ้าไม่ชอบป้ายโฆษณาที่น่ารำคาญ ก็เปลี่ยนรูปภาพธุรกิจทั้งหมดให้เป็นทิวทัศน์ที่สวยงามตามที่เราต้องการ ซึ่งจะมีผลต่อการรับรู้และอารมณ์ของเราในระยะยาว
นักวิจัยเชื่อว่า การใช้ชุดแว่น VR ในที่สาธารณะนานๆ ภาพแห่งความจริงจะค่อยๆหายไป แม้ผู้คนจะอยู่ในสถานที่เดียวกันในเวลาเดียวกัน แต่พวกเขาจะได้เห็นโลกในรูปแบบที่แตกต่างกัน
ที่มา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง