เรื่องเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่ายในแต่ละปีเป็นอีกหนึ่งข้อที่ก่อนจะซื้อรถยนต์ EV ต้องรู้ ทางสำนักงานคปภ. ได้สำรวจข้อมูลพบว่า วิริยะประกันภัยยินดีให้บริการประกันภัยรถยนต์พลังงานไฟฟ้าภาคสมัครใจ และ พ.ร.บ. ด้วยราคาที่สูงกว่ารถทั่วไป 15-20%
แหล่งข่าวจาก บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เผยว่า บริษัท วิริยะประกันภัยมีบริการประกันภัยรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน 100% Electric Powered Vehicle (EV) นั้น ปราศจากการใช้น้ำมันในการเผาไหม้ จึงทำให้รถยนต์ไฟฟ้า EV มีส่วนช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งขุมกำลังและอัตราเร่ง รวมถึงระบบการทำงานต่าง ๆ ของรถไฟฟ้า EV ไม่ได้ด้อยกว่ารถยนต์ธรรมดาทั่วไป
ที่สำคัญรถยนต์ไฟฟ้า EV ยังมีอัตราการเสียภาษีที่น้อยกว่ารถยนต์ธรรมดาทั่วไป จึงทำให้หลายคนสนใจและหันมาเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV กันมากขึ้น รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่าง ๆ ก็ให้ความสนใจและหันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ออกสู่ท้องตลาดกันมากขึ้นอีกด้วย
ดังนั้นทางวิริยะประกันภัย จึงมีบริการประกันภัยรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ทั้งภาคสมัครใจและ พรบ. (พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์) โดยมีพิกัดอัตราเบี้ยเป็นไปตามประกาศของ คปภ. ในปัจจุบันคงใช้พิกัดอัตราเบี้ยเช่นเดียวกับเครื่องยนต์สันดาปทั่วไป โดยมีอัตราเบี้ยประภันภัยสูงกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปในกลุ่มใกล้เคียงกันประมาณ 15-20%
เนื่องด้วยรถยนต์ EV มีอัตราเร่งและความสามารถในการใช้ความเร็วสูง ได้มากกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ส่งผลให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะมีแนวโน้มของความเสียหายมากกว่ารถยนต์ทั่วไป
อีกทั้งรถยนต์ EV ซึ่งมีส่วนประกอบที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก ทำให้มีข้อจำกัดในการจัดซ่อมแตกต่างจากรถทั่วไป โดยชุดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้า ระบบอิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นต้องเปลี่ยนยกชุด แม้จะมีความเสียหายเพียงเล็กน้อยหรือบางส่วน จึงทำให้การซ่อมแซมมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ารถยนต์พลังงานสันดาป
ทั้งนี้พิกัดอัตราเบี้ยของประกันภัยรถยนต์ เป็นไปตามประกาศของ คปภ. กำหนดดังกล่าวข้างต้น และยังไม่มีส่วนลดพิเศษใด ๆ สำหรับรถยนต์ EV ซึ่งเป็นส่วนที่แตกต่างจากรถเครื่องยนต์สันดาปทั่วไป ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อประกันภัย แบบระบุชื่อผู้ขับขี่ หรือ ประกันภัยที่มีความเสียหายส่วนแรก ฯลฯ เพื่อลดอัตราเบี้ยลงได้ ในปีต่ออายุ รถยนต์ EV ก็ยังมีสิทธิ์ ได้รับส่วนลด/ส่วนเพิ่ม เบี้ยประกันภัย ตามประวัติการเรียกร้องสินไหม ตามข้อกำหนดของ คปภ.
อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้น ก็อาจเป็นไปได้ว่า เบี้ยประกันรถยนต์ของรถไฟฟ้า EV จะมีราคาที่ถูกลงกว่ารถยนต์ธรรมดาทั่วไปได้
นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เผยว่า ขณะนี้ คปภ.อยู่ระหว่างสำรวจข้อมูล ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เพื่อจัดทำกรอบดำเนินการค่าเบี้ยประกันภัยรถอีวีให้เป็นมาตรฐานกลางสำหรับให้บริษัทประกันภัยใช้ในการอ้างอิงเมื่อเกิดเหตุ เพราะรถยนต์สันดาปกับรถอีวีจะไม่เหมือนกัน
ปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถอีวีบ้างแล้ว เช่น บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) แต่เนื่องจากเป็นตลาดใหม่ และมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้บริษัทประกันภัย ยังไม่เข้าไปรุกตลาดนี้กันมากนัก โดยจะอ้างอิงข้อมูลของรถสันดาปมาปรับปรุงใช้กับรถอีวี เช่น กำลังรถ แรงม้า ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งมีหลักเกณฑ์การคำนวณของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ที่ใช้ในการเสียภาษีประจำปีอยู่แล้ว กำหนดเป็นค่าเบี้ยประกันภัยขายให้กับลูกค้าให้เหมาะสมในแต่ละปี
โดยค่าเบี้ยอาจจะสูงกว่ารถทั่วไป ซึ่งก็เป็นไปตามการสะท้อนความเสี่ยงของตลาด เพราะรถอีวีในตลาดยังมีน้อยประมาณ 10,000 คัน และการซ่อมยังมีจำกัดซ่อมเฉพาะห้าง เนื่องจากช่างที่มีความรู้ด้านไฟฟ้าและเครื่องกลก็มีน้อย
“ปัจจุบันมีรถอีวีในท้องถนนประมาณ 10,000 คัน การเกิดอุบัติเหตุโดยประมาณ จะเกิดเพียง 10-20 คัน ถ้าจะออกเบี้ยประกันราคาแพง ๆ ก็ไม่สมเหตุสมผล และรถอีวีก็มีหลายค่าย หลายราคา จึงต้องเก็บข้อมูลให้นิ่งกว่านี้ เช่น ความเสี่ยง การเกิดเหตุ ค่าซ่อม ถึงจะกำหนดออกมาเป็นค่าเบี้ยและความคุ้มครองได้ ซึ่งผลการศึกษาที่เรากำลังทำยังไม่ออกมา จะเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว
เท่าที่สอบถามจากบริษัทประกันภัยที่ทดลองทำตลาด พบว่ารถอีวีเกิดเหตุน้อยกว่ารถทั่วไป แต่การซ่อมคืนสู่สภาพต่อครั้งจะสูงกว่ามาก เพราะอะไหล่ อุปกรณ์หลัก เช่น แบตเตอรี่ลูกละ 100,000 - 300,000 บาท หรือมอเตอร์เกียร์ ซึ่งยังมีไม่มาก เมื่อเกิดเหตุก็ต้องเปลี่ยนยกชุด ส่วนที่มีข่าวว่าค่าเบี้ย 40,000 บาทนั้น น่าจะเป็นราคาที่สะท้อนความเสี่ยงของรถ คงจะไม่ใช่ทุกยี่ห้อและทุกรุ่น” นายอาภากร กล่าว
สำหรับข่าวสารนี้แน่นอว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ตัดสินใจจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าหรือกำลังใช้อยู่และยังไม่ได้ทำประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า ว่าจะต้องเตรียมตัวรับมือกับค่าเบี้ยประกันอย่างไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน มีความจำเป็นต้องทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง เพื่อสนับสนุนโครงการคาร์บอนเป็นศูนย์ซึ่งเป็นข้อบังคับในอนาคตทั่วโลกในเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม