svasdssvasds

ธนพันธุ์ ไม่เห็นด้วย ยันไม่ส่งตัวแทนตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเลขาฯ กสทช.

ธนพันธุ์ ไม่เห็นด้วย ยันไม่ส่งตัวแทนตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเลขาฯ กสทช.

“พล.อ.ท. ธนพันธุ์” ยืนยันไม่ส่งตัวแทนเข้าตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเลขาธิการกสทช.ทั้ง 9 คน ตามที่ประธานกสทช.ขอ เหตุไม่เห็นด้วยในกระบวนการสรรหาภายใต้อำนาจประธานกสทช.ตั้งแต่แรก

พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการสรรหาเลขาธิการกสทช. หลังจากมีผู้สมัครเลขาธิการกสทช.เข้ามาจำนวน 9 คน ว่า

เรื่องนี้ต้องถามไปที่ นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. เนื่องจากตนเองและกรรมการกสทช.อีก 2 คน คือ นางสาวพิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ และ นายศุภัช ศุภชลาศัย กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้เห็นด้วยกับอำนาจการสรรหาโดยประธานกสทช.แต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ผ่านคณะกรรมการกสทช.ตั้งแต่แรก และได้มีการออกหนังสือแถลงการณ์ถึงความชัดเจนและเหตุผลที่ไม่สนับสนุนไปก่อนหน้านี้แล้ว

ส่วน นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช.ด้านโทรคมนาคม ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งหลังจากประธานกสทช.ตัดสินใจไปแล้ว ก็ต้องรอดูว่าจะตัดสินใจอย่างไร

ธนพันธุ์ ไม่เห็นด้วย ยันไม่ส่งตัวแทนตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเลขาฯ กสทช.

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

ขณะที่คาดว่ากรรมการที่เหลืออีก 2 คน คือ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการด้านกฎหมาย เห็นด้วยกับประธานและส่งกรรมการเข้าร่วมตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเลขาธิการกสทช.

ดังนั้น เมื่อประธานกสทช.ได้มีการขอให้คณะกรรมการกสทช.ส่งรายชื่อตัวแทนของกรรมการแต่ละท่านเข้ามาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเลขาธิการกสทช.ทั้ง 9 คน ตนเองและกรรมการอีก 2 คน จึงไม่สามารถส่งรายชื่อให้ประธานกสทช.ตามที่ร้องขอได้

หากกรรมการส่งรายชื่อไปให้ ก็เท่ากับเห็นด้วยกับสิ่งที่ประธานทำ เพราะมติการสรรหากสทช.ไม่ได้เกิดจากมติที่ประชุมกรรมการกสทช.แต่เป็นการกระทำโดยประธานกสทช.เพียงท่านเดียว และแม้ว่าจะส่งหรือไม่ส่ง ประธานกสทช.ก็ยืนยันว่าการสรรหาเป็นอำนาจของประธานคนเดียวอยู่แล้ว

พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช. )

สำหรับรายชื่อผู้สมัครเลขาธิการกสทช.จำนวน 9 คน ประกอบด้วย 

  1. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการกสทช. รักษาการเลขาธิการกสทช.
  2. พ.อ.ดร.ธนัทเมศร์ ภัทรณรงค์รัศม์ กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. (ซูเปอร์บอร์ด)
  3. รศ.พิสิฐ บุญศรีเมือง อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  4. นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)
  5. นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
  6. ผศ.(พิเศษ) ดร.นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายเทคโนโลยี ธ.กรุงไทย
  7. นางสุรางคณา วายุภาพ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA
  8. นายพีระกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการด้านโลจิสติกส์ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จํากัด เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด
  9. นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช.สายงานโทรคมนาคม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ประธานกสทช.เคยกล่าวว่า หากได้รายชื่อว่าที่เลขากสทช.เพียง 1 คน แล้ว จะนำเข้าเสนอบอร์ดกสทช.เพื่อรับทราบเท่านั้น

หากกรรมการไม่เห็นด้วยก็ต้องให้เหตุผลว่า ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร เพราะประธานกสทช.มีอำนาจในการสรรหาเลขาธิการกสทช.ตามกฎหมายเฉพาะตามมาตรา 60,61 ระบุว่า

ประธานมีอำนาจในการแต่งตั้งและปลดเลขาธิการกสทช.ได้

การเลือกเลขาฯกสทช.ทำได้ 2 วิธีคือ คือ เลือกเอง หรือ ให้บอร์ดเลือก ดังนั้นเมื่อเลขาฯมีหน้าที่ทำงานใกล้ชิดประธานและประธานต้องดูแลสำนักงานขณะที่บอร์ดที่เหลือไม่ใช่ จึงจำเป็นต้องเลือกคนที่ทำงานกับตนเองได้

จึงต้องจับตาดูว่า การเข้ามานั่งเป็น เลขาธิการกสทช. โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกสทช.จะมีแรงต้านและสามารถทำงานได้หรือไม่

related