ทราบหรือไม่? เด็กมากกว่า 20% มีโอกาสตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ ขณะที่ประเทศไทยมีรายงานการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์เป็นอันดับ 2 ของโลก และอัตราการเติบโตของเว็บมืดก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 5 เท่า
จากสถิติเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า คนร้าย 1 คน สามารถสร้างความเสียหายต่อเหยื่อที่เป็นเด็กได้ถึง 1,000 คน เด็กถึง 20% มีโอกาสตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ และเมื่อตกเป็นเหยื่อแล้ว พบว่า 56% ของเด็กเลือกที่จะไม่บอกใคร เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและไม่เท่าเทียมทางรายได้จึงส่งผลให้เด็กและเยาวชนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผลิตและเผยแพร่ภาพหรือวิดีโอทางเพศด้วยตัวเอง เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินหรือสิ่งของต่างๆ
dtac ได้ร่วมมือกับ กรุงเทพมหานคร กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ตำรวจไซเบอร์ (TICAC-CCIB) ออนทัวร์ให้ความรู้เด็กนักเรียนสังกัด กทม. หลังข้อมูลชี้เด็กไทยเสี่ยงตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ (Online Child Exploitation) สูงถึง 20% สัดส่วนผู้กระทำผิดสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ความเหลื่อมล้ำซัดเด็กแพร่ภาพของตัวเองแลกเงิน ด้านดีแทคจึงได้ตั้งเป้าพัฒนาความรู้ครอบคลุมนักเรียนประถมปลายทั่วประเทศผ่านโครงการ ดีแทค Safe Internet
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
เตือนภัย Sharenting ถ่ายรูปลูกลงโซเชียล ผิดยังไง อันตรายถึงขั้นโดนลักพาตัว
วางแผน เที่ยววันเด็ก 14-15 ม.ค. พาลูกไปไหนดี ? ตามสไตล์เด็กดิจิทัล
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการดีแทค Safe Internet จึงมุ่งส่งเสริมศักยภาพในการเข้าถึงทรัพยากรการศึกษา การให้ความรู้แก่เด็กเรื่องภัยล่วงละเมิดเด็กทางออนไลน์และครูเกี่ยวกับการความปลอดภัยและการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างมีความรับผิดชอบ
โดยได้ร่วมมือกับสำนักการศึกษากรุงเทพมหาครตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 จัดทำหลักสูตรและกิจกรรมส่งเสริมการตระหนักรู้ในเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์และออฟไลน์ที่มีมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยให้ความร่วมมือและริเริ่มในการหยุดยั้งภัยดังกล่าว รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ต่อสังคมและการมีส่วนร่วมของพลเมืองอินเทอร์เน็ตผ่านแคมเปญการสื่อสาร และจะขยายผลการอบรมให้ครอบคลุมนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นประถมปีที่ 5-6 ทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป
“การเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการรับมือกับปัญหาล่วงละเมิดเด็กทางออนไลน์เท่านั้น เพราะการจบปัญหานี้ยังคงต้องการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ช่วยกันสร้างความตระหนักในสังคม และบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเป็นระบบและตัดตอนได้อย่างทันท่วงที” นางอรอุมา กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผู้กำกับกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ในฐานะผู้ปฏิบัติงานในชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง และเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรงจากการเผยแพร่สื่อที่มีการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์ ถ้าดูจากสถิติที่ได้รับรายงานจาก NCMEC พบว่าตั้งแต่ปี 2562 ประเทศไทยได้รับรายงานการตรวจพบสื่อลามกอนาจารเด็กเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
โดยในปี 2562 พบ 117,213 รายงาน
ในปี 2563 พบ 396,049 รายงาน
ในปี 2564 พบ 586,582 รายงาน
ในปี 2565 พบ 523,169 รายงาน
ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีการจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน พบว่า เว็บมืดซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการหาแสวงผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กในไทยยังมีการเติบโตสูงถึง 5 เท่า
“การสื่อสารออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยให้ผู้กระทำผิดเข้าถึงตัวเด็กได้ง่ายและรวดเร็ว ใช้ประโยชน์จากความเปราะบางของเด็กเพื่อหลอกลวง บีบบังคับ ชักชวน และแสวงหาประโยชน์จากพวกเขา กลไกการคุกคามของอาชญากรถือเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง ทำลายซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรี และความมั่นคงของมนุษย์” พ.ต.อ.รุ่งเลิศ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายไทย ความผิดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วเท่านั้น ตำรวจไม่สามารถแจ้งความผิดต่ออาชญากรได้ในขั้นตอนแสวงหา ไม่ว่าจะเป็นการสอดส่องพฤติกรรมตัวตนและความชอบของเหยื่อ (Cyber Stalking) การสร้างความเป็นมิตร เข้ามาตีสนิทให้เด็กตายใจเพื่อล่วงละเมิดทางเพศในภายหลัง (Child Grooming) รวมถึงบทสนทนาว่าด้วยเรื่องเพศ (Sexting)
ดังนั้น การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันดิจิทัลให้เด็กด้วยองค์ความรู้ รู้จักระแวดระวังและแนวทางการรับมือกับปัญหาล่วงละเมิดเด็กทางออนไลน์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ก่อนที่จะเกิดเหตุบานปลายขึ้น ซึ่งอาชญากรไซเบอร์นั้นจะเก็บภาพเหยื่อไว้บนออนไลน์ (Digital footprint) ซึ่งยากต่อการลบให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนในสังกัด กทม. ทั้งสิ้น 437 โรงเรียน ครอบคลุม 50 เขต นักเรียนทั้งสิ้น 261,160 คน นับตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับ dtac Safe Internet ในการอบรมความรู้ด้านความปลอดภัยในการใช้งานออนไลน์ให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครอายุระหว่าง 11-13 ปี (ป.5-6) จำนวน 50 โรงเรียน กว่า 10,000 คน ผ่านคาบเรียน “BMA x dtac Safe Internet School Tour” เพื่อให้มีองค์ความรู้และภูมิคุ้มกันต่อภัยการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ เข้าใจถึงกระบวนการและสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที
จากการลงพื้นที่อบรมที่ผ่านมาพบว่า นักเรียนราว 3% เคยถูกร้องขอ ข่มขู่หรือกดดันให้ส่งรูปภาพหรือทำพฤติกรรมทางเพศทางออนไลน์ 13% เคยส่งรูปภาพ วิดีโอ หรือข้อมูลส่วนตัวให้คนแปลกหน้า และ 3% เคยได้รับภาพ ข้อความหรือวิดีโอทางเพศ โดยช่องทางที่มิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามา ประกอบไปด้วย ช่องทางโซเชียลมีเดีย เกมส์ออนไลน์ รวมถึงแอปพลิชั่นใหม่ๆ ที่ผู้ใหญ่ยังไม่คุ้นเคย
“ข้อมูลจากทางตำรวจและแบบสำรวจที่ กทม. จัดทำร่วมกับ ดีแทค สะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งในฐานะรองผู้ว่าฯ ที่ดูแลโรงเรียนในสังกัด กทม. พร้อมยกปัญหานี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขผ่านการอบรม ให้ความรู้ สร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล” นายศานนท์ กล่าว