พรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่ของประเทศไทย ที่สั่งสมมาด้วยประสบการณ์ อุดมการณ์ เหมือนกำลังเผชิญศึกหลายด้าน ทั้งในและนอก การจัดการภายในพรรคที่จำกัดด้วยเรื่องของเวลาที่ต้องให้ทันการเลือกตั้ง จึงเป็นที่น่าจับตามองยิ่งนัก
ขนาดทำได้แค่ “วอร์ม อัพ” เรียกเหงื่อ ยังไม่ได้กระโดดข้ามเชือกขึ้นเวทีขึ้นชกด้วยซ้ำ พรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ ก็มีการขยับขับเคลื่อน เปิดวิวาทะ และจ้องเตะตัดขา กันแล้ว
ทั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดของไทยในปัจจุบัน ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการต่อสู้ในทางการเมืองมาโชกโชน โดยเฉพาะการต้านเผด็จการทหาร ที่มักเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยเสมอมา
แต่อุปสรรคสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อมองจากคนวงนอก คือค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยม ยึดหลักการเป็นสำคัญ ไม่ทำอะไรแบบปัจจุบันทันด่วน ไม่ทันกับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในยุคสมัยโลกไร้พรมแดน
แม้จะเป็นเอกลักษณ์สำคัญ ช่วยให้การเดินหน้ากิจกรรมของพรรค รวมทั้งการบริหารประเทศชาติในช่วงที่คนจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้นำประเทศ เป็นไปอย่างรอบคอบ ไม่ผลีผลาม ไม่ทำตามกระแสโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยประกอบ อย่าง นโยบายประชานิยม หรือแม้แต่โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ซึ่งประชาธิปัตย์ คัดค้านมาโดยตลอด
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า นำมาซึ่งความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง ทั้ง ส.ส. และระดับท้องถิ่น ที่เชื่อมโยงอยู่กับนักการเมืองระดับชาติ
นับตั้งแต่ปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทย ส่งคนลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. พร้อมชูนโยบายประชานิยม เอาใจประชาชนทุกระดับตั้งแต่รากหญ้าขึ้นมา พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เคยเอาชนะเลือกตั้ง ส.ส.ได้เลย ไม่ว่าจะปี 2544 ปี 2548 ปี 2550 ปี 2554 หรือแม้แต่ต้นปี 2557 ที่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ท่ามกลางเสียงเรียกร้อง ให้มีการปฏิรูปพรรคจากคนภายในหลายรอบ โดยพยายามหยิบยกเหตุผลประกอบถึงความจำเป็น หรือแม้แต่นำโพล์สำรวจในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งในปี 2548 ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เพียง 2 คนจากภาคนี้ แต่ก็ไม่เป็นผล
ขณะที่รองหัวหน้าพรรคดูแลภาคกลางและภาคตะวันออกอย่างนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีต ส.ส.เพชรบุรี และอดีตรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ ต้องลาออกจากพรรค เช่นเดียวกับอดีต ส.ส.ระดับอาวุโสอย่างนายพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่ แต่เหตุผลของเขา ไม่ใช่เรื่องโครงสร้างพรรค แต่เป็นปัญหาที่ตัวบุคคลมากกว่า เขาเคยโพสต์วิจารณ์พรรคหลายครั้ง แต่สุดท้าย นายพิเชษฐ์ก็กลับคืนพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 1 เมษายน 2561
อีกคนคือนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลาออกจากสมาชิกพรรค ด้วยเหตุผลส่วนตัว ซึ่งในจำนวนนี้ อาจรวมทั้งเห็นต่างจากนายอภิสิทธิ์ ที่เขาอ้างว่า ให้คำแนะนำไป แต่หัวหน้าพรรคคนใหม่ ไม่เคยนำไปปฏิบัติหรือเชื่อฟัง อย่างกรณีข้อเสนอให้นำคนเก่ากับคนใหม่ร่วมมือกันเพื่อเอาชนะเลือกตั้ง
อันเป็นผลพวงจากเรื่องในอดีต เมื่อครั้งนายอภิสิทธิ์ แข่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกับนายบัญญัติ บรรทัดฐาน จนเกิดกลุ่มผลัดใบ และกลุ่มทศวรรษใหม่ ขึ้นภายในพรรค
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบัน ภาพลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์ ดูจะมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น แต่เพราะท่าทีและจุดยืนที่เห็นต่างจากรัฐบาลและ คสช.ในหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องหนุน/ไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้าที่คาดหมายว่า จะมีขึ้นในปี 2562 ของนายอภิสิทธิ์ ส่งผลให้เกิดความไม่สบายใจกับสมาชิกพรรคบางส่วน ที่เกรงว่า จะเป็นปมขัดแย้งสำคัญที่อาจส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ตกขบวน ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลชุดหน้า
นำไปสู่กระแสข่าวคลื่นใต้น้ำ ให้มีการเปลี่ยนแปลงในกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปลายปีนี้ โดยเฉพาะตำแหน่งหัวหน้าพรรค เริ่มจากสมาชิกระดับอาวุโสบางคน เสนอให้นายชวน หลีกภัย กลับมานำทัพแทนนายอภิสิทธิ์ แต่ถูกนายชวนปฏิเสธ
ตามด้วยเรื่องเตรียมยึดพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อหวังให้เป็นสาขาหนึ่งของกลุ่ม กปปส.ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำคนสำคัญ เพื่อใช้เป็นฐานสนับสนุน”บิ๊กตู่”สู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในฐานะพรรคพันธมิตรกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือ รปช.
สอดคล้องกับที่นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ปชป. ที่ออกโรงแฉล่าสุด ระบุว่ามีการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจใน คสช. จะส่งนอมินีเข้าไปเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แทนนายอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งยังเปรียบเปรยบางคนว่า แม้แต่ภารโรงพรรคยังเป็นไม่ได้ และเล่นแรงถึงขั้นระบุไปเชลียร์คณะรัฐประหาร จนได้ตำแหน่ง แล้วยังมีหน้าจะขอกลับไปเป็นหัวหน้าพรรคอีก
ร้อนถึงนายอลงกรณ์ ต้องออกมาตอบโต้และปฏิเสธเรื่องเป็นนอมินี แต่ยอมรับว่าได้รับการทาบทามให้กลับไปชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคจริง แต่คนที่ทาบทามคือคนในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ คสช. ทั้งยังฝากกลับไปยังนายอภิสิทธิ์ อย่าปล่อยให้ลูกพรรคกล่าวหาดิสเครดิตทำลาชื่อเสียงกีดกันคนอื่นตั้งแต่ไก่โห่
แต่ไม่ว่าใครจะทาบทามชักชวน คำพูดของนายอลงกรณ์ สะท้อนให้เห็นว่า มีความพยายามจากบางคนบางกลุ่ม หวังให้มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคจริง ทำให้ในพรรคต้องเตรียมการรับมือครั้งใหญ่ โดยเฉพาะที่นายอภิสิทธิ์ พูดถึงเรื่องการแก้ไขข้อบังคับพรรคใหม่หลายเรื่อง รวมทั้งคุณสมบัติผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค กรณีคนนอก ต้องใช้เสียง ส.ส.รับรองถึง 40 คน ซึ่งหากไม่ใช่คนที่ทางพรรคเชื้อเชิญเข้ามา ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นได้ รวมทั้งนายอลงกรณ์
โดยสรุปแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ด้านหนึ่งต้องเผชิญกับคู่แข่งภายนอก ในเวทีการเมืองที่ยังไม่ชัดเจนว่า จะมีกฎ กติกา หรืออะไรสอดแทรกเข้ามาเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมอีก และไม่รู้จะยังพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งอีกต่อไปหรือไม่
ขณะเดียวกัน ก็ต้องเตรียมรับมือศึกภายในที่ยังคุกรุ่น แม้นว่า จะเป็นเพียงแค่เปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค หรือความพยายามเรื่อง”การปฏิรูปพรรค” ก็ตามที