คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเอกฉันท์เลื่อนการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสจากวันที่ 1 ธันวาคมเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนสารไกลโฟเสตให้จำกัดการใช้ เนื่องจากมีผลกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่าตามที่มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้แบน สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม และให้กรมวิชาการเกษตรไปยกร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งขอให้กรมวิชาการเกษตรไปพิจารณาระยะเวลาความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตราย ที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากประกาศผลบังคับใช้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วมาเสนอกรรมการในการพิจารณาประชุมครั้งต่อไปนั้น
การประชุมในวันนี้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการว่าได้มีการประชุมหารือแนวทางในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่ รวมถึงผลกระทบด้านอื่นๆ พบว่ามีข้อจำกัดในการปฏิบัติ หากจะให้การยกเลิกใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการมีผลในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ รวมทั้งผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นซึ่งพบว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยและมีข้อเสนอแนะจำนวนมาก
ทั้งนี้การจัดการสารพิษตกค้างซึ่งมีจำนวน 23,000 ตัน โดยประมาณ หากต้องทำลายจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากและบางส่วนไม่สามารถผลักดันส่งกลับไปได้ อีกทั้งผลกระทบที่เกิดต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่นอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ซึ่งอาจไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากมีสารตกค้างอยู่ในผลผลิตดังกล่าว ในประเด็นนี้ยังไม่มีมาตรการในการจัดการ และยังมีข้อกังวลเรื่องของผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ
มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุม 24 คน จาก 27 คน ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เลื่อนการปรับระดับการควบคุม สารพาราควอตและและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จากวันที่ 1 ธันวาคม เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนสารไกลโฟเสตให้จำกัดการใช้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เหตุผลว่าที่ต้องแยกไกลโฟเสทออกมาเป็นเพียงจำกัดการใช้นั้น เพราะว่าจะกระทบต่อการนำเข้าถั่วเหลือง และข้าวสาลีซึ่งมีผลต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตามที่นายกสมาคมอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ร้องเรียนมา ซึ่งหากไม่สามารถนำเข้าถั่วเหลืองได้ก็จะไม่สามารถผลิตอาหารสัตว์ได้ มีมูลค่าความเสียหายเป็นหมื่นล้านบาท
ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า สำหรับพาราควอต เป็นสารเคมี กำจัดวัชพืช ที่เสมือนเป็นยาสามัญประจำบ้าน เพราะใช้มาเป็นระยะเวลานานในทุกครัวเรือน เมื่อมีการแบนจะต้องมีการหาสารทดแทน และการจัดการแบบผสมผสาน แต่ยอมรับว่าการหาสารทดแทนนั้น ค่อนข้างยาก ทุกหน่วยงานราชการจึงต้องช่วยกันหาแนวทาง ก่อนถึงวันที่ 1 มิถุนายนปีหน้า ที่จะไม่ไปเปลี่ยนแปลงมติในวันนี้อีก
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติในวันนี้ ก็จะประกาศลงราชกิจจานุเบกษา มีผลให้ พาราควอต และคลอไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 วันที่ 1 มิถุนายน มีผลในทางกฎหมาย แต่ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มี สารทดแทนคลอไพลิฟอส ในการกำจัดหนอนทุเรียนได้
ทั้งนี้ สารเคมี พาราควอต และคลอไพริฟอส ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ 23,000 ตัน จะต้องระบายและจัดการให้หมดก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 63 โดย ปัจจุบันไม่มีการนำเข้ามาเพิ่มแล้ว ส่วนไกลโฟเสทยังสามารถนำเข้าได้เพราะ เป็นเพียงจำกัดการใช้