จากสถานการณ์โควิด 19 กว่า 2 ปี ทำให้ผู้คนเกิดความเครียดในการใช้ชีวิต ส่งผลภาวะผู้ป่วยซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือ กระทรวงสาธารณสุข คิดค้นนวัตกรรม DMIND Application ตัวช่วยในการคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า เพื่อลดขั้นตอนการวินิจฉัยของแพทย์
DMIND Application ช่วยให้เราสามารถประเมินความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าจากลักษณะการแสดงออกทางหน้าตา น้ำเสียง และข้อความ เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าเบื้องต้นให้บุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างอัตโนมัติ ที่มีความถูกต้องแม่นยำ สามารถลดขั้นตอนในการวินิจฉัยของแพทย์ได้
หากเราสังเกตพฤติกรรมตนเองและคนรอบข้างว่าอาจจะเข้าข่ายภาวะซึมเศร้า นวัตกรรม DMIND Application สามารถช่วยคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าได้ โดยในแอปพลิเคชั่นจะมีหมอ AI คอยสัมภาษณ์อาการ ตัวอย่างเช่น กรณีคนที่เข้ามาปรึกษาผ่านแอปพลิเคชั่น และมีอาการร้องไห้ต่อหน้าหมอ AI ในแอป อันนี้คือ การช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า เพราะได้ระบายความรู้สึกออกมา และรู้สึกว่าสิ่งที่ระบายออกมามีคนเข้าใจแม้จะเป็นระบบ AI ก็ตาม
วิธีการใช้ DMIND Application
ใช้ DMIND Application ผ่านช่องทางการสื่อสารของหมอพร้อม คือ Line Official Account และ Facebook โดยมีขั้นตอน คือ
1. เข้าแอฟพลิเคชั่น Line หมอพร้อม กดลิงค์เพิ่มเพื่อน
2. เลือกเมนู คุยกับหมอพร้อม
3. เลือกเมนู ตรวจสุขภาพใจ
4. เริ่มทำแบบทดสอบ
หลังจากทำแบบทดสอบเสร็จจะมีระบบหมอ AI มาพูดคุยและประเมินความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้า จากลักษณะการแสดงออกทางหน้าตา น้ำเสียงและการตอบคำถามจากข้อความคุณลักษณะเฉพาะ ทำให้เราสามารถเข้าถึงการประเมินด้านสุขภาพจิตและค้นหาผู้ที่มีภาวะอารมณ์ซึมเศร้าได้อย่างรวดเร็ว
โดยภายในแอปพลิเคชั่นจะมีการแสดงผลใน 3 ระดับ คือ
ระดับปกติ สีเขียว
ระดับกลาง สีเหลือง
ระดับรุนแรง สีแดง
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
Psyjai (ใส่ใจ) แชทบอทที่เป็นผู้ช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ทุกข์ เครียด ทักมา!
ประโยคที่ควรพูด & ไม่ควรพูด กับผู้ป่วย โรคซึมเศร้า ที่ควรรู้
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ร่วมกันเปิดตัวนวัตกรรม DMIND Application สำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า
พญ.อัมพร อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุถึงสถานการณ์โรคซึมเศร้าในไทยว่า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 ที่มีการปิดประเทศ ทำให้ประชาชนเกิดความเครียด จากพิษเศรษฐกิจจนทำให้มีผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น แต่หลังจากมีผ่อนคลายมาตรการ ทุกอย่างเริ่มจะคลี่คลาย และค่อยๆ ดีขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการหลายอย่าง ซึ่งผลกระทบที่มีผลต่อเนื่องระยะยาวจะค่อยๆ ปรากฎชัดขึ้น โดยเมื่อเทียบกับในอดีตหลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 พบว่าประมาณ 6 เดือน ป่วยซึมเศร้าและฆ่าตัวตายจะเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยพบผู้ป่วยเยอะสุดหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง 1 ปี จึงทำให้กังวลว่าหลังวิกฤติโควิด-19 เราจะประมาทไม่ได้ ยังคงต้องเฝ้าระวังผู้ป่วยซึมเศร้าและฆ่าตัวตายไปอีกกว่า 1 ปีเป็นอย่างน้อย โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานเป็นกลุ่มที่เจอภาวะซึมเศร้าสูงสุด และสามารถเกิดได้ทุกอาชีพจากความกดดันการทำงาน และข้อจำกัดในการใช้ชีวิต
ด้าน รศ.พญ. โสฬพัทธ์ เหมรัฐชน์โรจน์ ผู้ช่วยคณบดี ด้านนวัตกรรม การศึกษาและสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ตอนนี้มีประชาชนเข้ามาตอบคำถามในแอฟพลิเคชั่นดังกล่าวประมาณ 7,000 คน และมีคนยอมเปิดกล้องคุยกับหมอAI ในแอฟประมาณ 400 กว่าคน โดยในจำนวนนี้มีเคสที่อาการหนัก 82 คน โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการติดตามอาการ พูดคุย และให้มาพบแพทย์ ได้จริง โดยแอฟพอเคชั่นนี้ทุกกลุ่มอายุที่สนใจสามารถเข้ามาคัดกรองภาวะซึมเศร้าได้ และจะมีการส่งข้อมูลผ่านออนไลน์ให้กับกรมสุขภาพจิต
หากได้ระดับสีเขียว ทางแอปพลิเคชั่นจะแนะนำข้อมูลการดูแลสุขภาพจิตโดยทั่วไป ส่วนสีเหลือง ทางศูนย์สุขภาพจิตเขต 1-13 ภายใต้กรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ จะติดตามเคสในพื้นที่
และหากได้สีแดงซึ่งมีความเสี่ยงรุนแรง ทีมสายด่วนสุขภาพจิต 1323 จะรับหน้าที่ติดตามอาการเพื่อประเมินสุขภาพจิต สำรวจปัญหาพิจารณาหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน ทำให้ผู้ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต สามารถเข้าถึงบริการและประเมินด้านสุขภาพจิตได้มากขึ้น เกิดระบบบริการรูปแบบใหม่ในการส่งต่อผู้รับบริการที่มีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้า ให้ได้รับการรักษาแบบ Fast Tack กับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
ทั้งนี้ แอปพลิเคชั่น DMIND มีความแม่นยำในการประเมินอาการภาวะซึมเศร้า 75% โดยความแม่นยำจะลดลงได้หากสัญญาณโทรศัพท์ไม่เสถียร หรือเสียงรอบข้างเสียงดัง เนื่องจากแอปนี้ได้จำลองสถานการณ์การคุยกับนักจิตวิทยาตัวต่อตัวในห้อง