svasdssvasds

รู้จักปอดอักเสบโควิดให้มากขึ้น!!! Q&A รวมข้อสงสัย ปอดอักเสบจากโควิด-19

รู้จักปอดอักเสบโควิดให้มากขึ้น!!! Q&A รวมข้อสงสัย ปอดอักเสบจากโควิด-19

ในช่วงโควิด-19 ระบาดแบบนี้ หลายคนมีข้อสงสัยหลายประการเกี่ยวกับ ปอดอักเสบจากโควิด ว่าเราจะเช็กอย่างไรเมื่อเชื้อลงปอด การดูแลรักษา ฟื้นฟูปอดทำยังไง และอีกหลายๆ คำถาม

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล แพทย์อายุรศาสตร์ สาขาโรคระบบทางเดินหายใจและวัณโรค จะมาช่วยคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับ ปอดอักเสบจากโควิด ให้เราได้รู้จักกันมากขึ้น

ปอดอักเสบ

Q : ระยะเวลาการเกิดปอดอักเสบใช้เวลานานแค่ไหน?

A : ผู้ป่วยอาจเกิดปอดอักเสบหลายชนิดคาบเกี่ยวกัน โดยเชื้อสายพันธุ์เดลตาทำให้เกิดปอดอักเสบทุกระยะเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์แอลฟา

สัปดาห์แรกของการติดเชื้อ - จะเกิดปอดอักเสบได้ 3-5 วัน อาการคล้ายปอดอักเสบของการติดเชื้อจากการติดเชื้ออื่น

สัปดาห์ที่ 2 – อาจเกิดปอดอักเสบได้อีกครั้งจากภาวะภูมิคุ้มกันมากเกินไป มักมีอาการรุนแรงอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและมีโอกาสเสียชีวิต

สัปดาห์ที่ 3 – อาจเกิดปอดอักเสบอีกแบบหนึ่งจากการที่ร่างกายพยายามฟื้นฟูปอด

รักษาอย่างไร?

ระยะแรก - ให้ยาต้านไวรัส

ระยะรุนแรง - ให้ยารักษาสมดุลภูมิต้านทานของร่างกายร่วมด้วย

ระยะสุดท้าย - ให้ยาต้านการอักเสบร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพปอด

ทั้งนี้ในระหว่างการรักษาทั้ง 3 ระยะ สิ่งสำคัญคือ การให้ออกซิเจนเมื่อมีข้อบ่งชี้

Q : ไวรัสโคโรนา-2019 ต่างจากเชื้อทั่วไปที่เป็นสาเหตุของปอดอักเสบอย่างไร?

A : -เป็นไวรัสที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานอย่างรุนแรง เพื่อต่อต้านการเพิ่มจำนวนของไวรัส

-เป็นเชื้อที่กำจัดออกจากร่างกายยาก ส่งผลให้สูญเสียการทำงานของระบบการหายใจเป็นหลัก และทำให้ระบบร่างกายอื่นๆ ทำงานบกพร่องไปด้วย

-เชื้อแทรกแซงการทำงานของเส้นเลือดขนาดเล็กและใหญ่ ทำให้เลือดแข็งตัวผิดปกติและส่งผลให้อวัยวะสำคัญๆ ขาดเลือดตามมา

Q : สังเกตตัวเองมีอาการปอดอักเสบโควิดหรือไม่?

A : ผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวเองนอกรพ. หรือผู้ที่มีความเสี่ยง หากมีอาการข้อใดข้อหนึ่งแสดงว่าอาจเกิดปอดอักเสบโควิด เช่น  

-ไข้เกิน 38.5 องศา นาน 2 วัน

-หายใจเหนื่อยหรือหายใจเร็ว 22 ครั้ง/นาที  

-เจ็บหน้าอก  เวลาสูดหายใจลึกหรือไอ

เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการปอดอักเสบแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ จากนั้นแพทย์จะประเมินว่าปอดอักเสบมีความรุนแรงและต้องให้ออกซิเจนด้วยหรือไม่ โดยระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนจากจังหวะการเต้นของเส้นเลือด หากมีค่าน้อยกว่า 94% ขณะอยู่นิ่ง จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจนร่วมด้วย

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

Q : ดูแลสุขภาพปอดให้แข็งแรงรับมือโควิดได้อย่างไร?

A : ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจแข็งแรง และถุงลมในส่วนต่างๆ ของปอดจะทนต่อการแลกเปลี่ยนก๊าซที่ผิดปกติได้นานขึ้น

พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารครบ 5 หมู่ ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น ป้องกันสิ่งแปลกปลอมโดยเฉพาะเชื้อโรคที่ผ่านลงไปในหลอดลม และถุงลมปอด

หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ เช่น ควันบุหรี่ ฝุ่น PM 2.5 และก๊าซที่มีฤทธิ์ระคายเคือง เพราะจะทำให้เยื่อบุผิวในของหลอดลมและปอดถูกทำลาย เชื้อโรคเข้าไปในเนื้อเยื่อชั้นลึกได้ง่ายขึ้น

เครื่องวัดออกซิเจน

Q : ผู้ป่วยโควิด ทำไมต้องวัดระดับความอิ่มตัวของออกซิเจน?

A : เมื่อพบว่าเป็นปอดอักเสบโควิดแล้ว แพทย์จะวัดระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในขณะอยู่นิ่ง หากพบว่ามีค่าตั้งแต่ 95% ลงไปหรือมีค่าตั้งแต่ 96% ขึ้นไป แต่ลดลงอย่างน้อย 3% เมื่อออกแรงเดินเร็ว 3 นาที หรือลุกนั่งช้ำๆ ติดต่อกัน 1 นาที แสดงว่าการแลกเปลี่ยนก๊าซของปอดผิดปติมาก จำเป็นต้องให้ยาต้านการอักเสบ หรือยากลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อปรับสมดุลภูมิคุ้มกันตอบสนองของร่างกายให้พอเหมาะ โดยจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์คู่กับสเตียรอยด์นาน 10 วัน

สำหรับผู้ที่มีโรคเบาหวานชนิดควบคุมได้ยาก

หรือมีปัญหาอาเจียนเป็นเลือด เพิ่งหายไม่นาน ต้องแจ้งแพทย์ล่วงหน้าเพราะอาจเกิดอันตรายจากการได้รับยาสเตียรอยด์ เครื่องมือที่ใช้วัดระดับความอิ่มตัวของออกชิเจนมักใช้จับที่ปลายนิ้ว ส่วนใหญ่เป็นนิ้วชี้ นิ้วที่ใช้วัดต้องไม่มีการผิดรูปหรือทาสีเล็บหนามาก ขณะวัดมือและนิ้วต้องอยู่นิ่งไม่แกว่งไปมา เครื่องที่ใช้ควรเป็นชนิดที่โรงพยาบาลจัดส่งให้หรือได้รับการรับรองคุณภาพจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

Q : เมื่อต้องให้ออกซิเจนที่บ้านควรทำอย่างไร?

A : ให้ออกซิเจนตามคำแนะนำของแพทย์

หากให้ออกซิเจนโดยไม่มีคำแนะนำจากแพทย์ อาจทำให้ระดับออกซิเจนในเนื้อเยื่อสูงเกินไป ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อของอวัยวะสำคัญในระยะยาว

วัดระดับความอิ่มตัวของออกชิเจนจากจังหวะการเต้นของเส้นเลือดตามคำแนะนำของแพทย์

โดยเริ่มจากให้ออกซิเจนอัตราไหล 3 ลิตรต่อนาที หลังให้ไปแล้ว 5-10 นาที ควรวัดได้เป้าหมาย 94-96%

-หากได้ค่าน้อยกว่าให้เพิ่มอัตราไหล 1 ลิตรต่อนาที หากได้ค่ามากกว่า ให้ลดอัตราไหล 1 ลิตรต่อนาที และวัดซ้ำอีก 5-10 นาทีถัดไป ปรับจนได้เป้าหมาย

-หากเพิ่มอัตราไหลถึง 5 ลิตรต่อนาที่แล้วยังไม่สามารถวัดได้มากกว่า 92% ให้ลองนอนคว่ำจะทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซดีขึ้น

-หากยังวัดได้น้อยกว่า 92%+ ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่รับผิดชอบหรือนำส่งโรงพยาบาลทันที

ออกซิเจน

Q : อุปกรณ์ที่ใช้ให้ออกซิเจนที่บ้านต้องระวังอย่างไร?

A :  อุปกรณ์ที่ใช้มีสองกลุ่ม คือ

ถังออกซิเจนและเครื่องผลิตออกซิเจนที่ใช้ทางการแพทย์จะมีสีเขียว

ส่วนใหญ่เป็นถังเหล็กบรรจุในรูปออกชิเจนเหลว จะใช้ได้นานกว่าแต่มีราคาแพง หัวถังจะมีวาล์วปรับ และตรวจสอบแรงดัน เวลาใช้ต้องต่อกับอุปกรณ์ ควบคุมอัตราไหลและกระบอกใส่น้ำสะอาด สำหรับให้ความชุ่มชื้นแล้วจึงต่อเข้ากับสาย ให้ออกซิเจนชนิดมีสายเสียบเข้ารูจมูกทั้งสองข้าง และคล้องกับศีรษะหรือคล้องใบหูจนกระชับ มีข้อควรระวังคือไม่ให้มีประกายไฟในบริเวณใกล้เคียงและระวังไม่ให้ถังส้ม เพราะถ้าวาล์วหัวถังหลุดจะเกิดแรงดันให้ถังพุ่งตัวไปอย่างแรง

เครื่องผลิตออกชิเจนโดยใช้ไฟฟ้า

ควรเลือกที่ผ่านการรับรองจาก อย. ใช้ขนาดผลิต ได้อย่างน้อย 5 ลิตรต่อนาที โดยควมคุมกำลังผลิต ขณะเปิดใช้สูงสุดที่ 5 ลิตรต่อนาที ให้ได้ความเข้มข้นของออกซิเจนคงที่ระหว่าง 82-96% และมีสัญญาณเตือน หากค่าลงต่ำกว่า 82% แปลว่าควรนำไปซ่อมบำรุง

 

Cr. รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล แพทย์อายุรศาสตร์ สาขาโรคระบบทางเดินหายใจและวัณโรค / โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์