svasdssvasds

นิ้วล็อก ปัญหาเล็ก เรื่องใหญ่ของคนยุคดิจิทัล

นิ้วล็อก ปัญหาเล็ก เรื่องใหญ่ของคนยุคดิจิทัล

นิ้วล็อก เป็นอีกหนึ่งโรคฮิตใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย และดูเหมือนว่าจะมีจำนวนเพิ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานที่ต้องพิมพ์งานเป็นเวลานานๆ หรือใช้ข้อมือขยับเมาส์ทำงานเกือบทั้งวัน อีกทั้งยังต้องใช้อุปกรณ์สื่อสาร จึงอาจทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกได้

นิ้วล็อก

อาการ นิ้วล็อก เป็นอาการที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอที่บริเวณฝ่ามือตรงโคนนิ้ว มักมีอาการปวด ขยับนิ้วได้ไม่สะดวก งอนิ้วมือแล้วไม่สามารถเหยียดกลับคืนได้เหมือนกับถูกล็อกไว้ ซึ่งสาเหตุก็มาจากการใช้มือหรือนิ้วมือมากๆ เป็นเวลานานจนทำให้เกิดการอักเสบ เช่น เล่นมือถือหลายชั่วโมงต้องใช้มือในการถือ, พิมพ์งานทั้งวัน, เล่นกีฬาจับอุปกรณ์แน่น, ถือของหนัก, ซักผ้าบิดผ้า ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้สามารถทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกได้ ถึงแม้นิ้วล็อกจะเป็นโรคที่ไม่ได้อันตรายถึงชีวิตแต่ก็รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเราได้ โดยความรุนแรงจะแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ

ระยะที่ 1 – มีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วเวลาขยับ แต่ยังไม่สะดุดระหว่างขยับนิ้ว

ระยะที่ 2 – เริ่มสะดุดเวลาขยับนิ้ว แต่ยังสามารถขยับได้อยู่

ระยะที่ 3 – เวลางอนิ้วลงจะมีอาการล็อก ต้องใช้มืออีกข้างช่วยแกะ

ระยะที่ 4 – นิ้วติดไม่สามารถขยับได้ มีอาการอักเสบและบวม

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

ทำอย่างไรจึงจะลดความเสี่ยงในการเกิดนิ้วล็อก?

-ควรมีช่วงพักในการทำงาน หากมีอาการเมื่อยล้าควรหยุดเพื่อผ่อนคลาย

-ไม่ควรถือของหนักเกินไป ถ้าจะเป็นควรใช้วิธีประคอง ถือให้น้ำหนักอยู่ที่ฝ่ามือ หรือใช้รถเข็น

-ไม่หักนิ้วหรือดีดนิ้วเล่น

-หลีกเลี่ยงการซักผ้าด้วยมือ บิดผ้าให้แห้งมากๆ หรือกิจกรรมที่ใช้ข้อมือเพื่อให้กำมือแน่นๆ

-ควรสวมถุงมือเมื่อใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ เช่น เลื่อย ค้อน ฯลฯ

-ควรออกกำลังกายยืดเส้นกล้ามเนื้อมือบ้าง

-เมื่อมีอาการนิ้วล็อกควรเอามือจุ่มน้ำอุ่น นวดบริเวณโคนนิ้วเบาๆ ค่อยๆ เหยียดนิ้วออกในขณะที่อยู่ในน้ำอุ่น

Cr. อ. นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล / โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณย์