เราอาจได้ยินคำว่า แอมเฟตามีน (Amphetamine) ตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์หรือข่าวตามสื่อโซเชียลอยู่บ่อยๆ หลายคนอาจอยากรู้ว่ามันเป็นยาเสพติดหรือใช้เป็นยารักษา เรามาทำความรู้จักกับเจ้ายาตัวนี้กันดีหน่อยดีกว่าว่า มันคืออะไร มีประโยชน์และโทษอย่างไร
ความเป็นมาของ แอมเฟตามีน
แอมเฟตามีน (Amphetamine) มีความเป็นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1887 โดย Edeleno นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ต่อได้มีการสังเคราะห์อนุพันธ์ของแอมเฟตามีนได้อีกตัว คือ Methamphetamine โดยนักวิทยาศาตร์ชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางได้รุนแรงกว่า ในอดีตที่สหรัฐอเมริกา ใช้แอมเฟตามีนเป็นยารักษาโรคหลายชนิด ที่นิยมแพร่หลายเป็นยาดมแก้หวัด คัดจมูก ชื่อ Ben zedrine มีไส้กระดาษชุบด้วยน้ำยาบรรจุไว้ในหลอดเพื่อสูดดม แต่ก็มีคนนำมาใช้ในทางที่ผิดเพื่อกระตุ้นร่างกายและลดความอ้วน โดยนำไส้กระดาษซับมาจุ่มน้ำเพื่อละลายตัวยา แล้วนำมาใช้กินแทน
ต่อมามีการผลิตแอมเฟตามีนให้อยู่มาในรูปแบบยาเม็ดใช้กันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นยาสามัญประจำบ้าน ไม่ต้องมีใบสั่งยา ซึ่งในขณะนั้นมีการโฆษณาสรรพคุณของแอมเฟตามีนว่า สามารถรักษาโรคได้ถึง 39 โรค เช่น โรคซึมเศร้า โรคประสาท ปวดศีรษะ เป็นต้น โดยไม่ได้คำนึงถึงฤทธิ์ของยาที่ทำให้เสพติด และมีคนจำนวนมากที่ใช้ในทางที่ผิด จนในปี ค.ศ. 1939 สำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยาของสหรัฐอเมริกาประกาศให้ยาจำพวกแอมเฟตามีนเป็นยาควบคุมซึ่งต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์จึงจะซื้อได้ ทำให้การใช้ยาชนิดนี้ลดน้อยลงจากท้องตลาด และเริ่มมีการผลิตและจำหน่ายผิดกฎหมายอย่างแพร่หลาย และได้เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยในช่วงปี ค.ศ 1967 ซึ่งปัจจุบันถูกกำหนดให้เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ. 2559 และเป็นยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดยาเสพติด
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
Hyperventilation Syndrome อาการของความเครียดที่หลายคนอาจยังไม่รู้จัก
เจ็บป่วยเล็กน้อย มีไว้ในตู้ยา! เช็กลิสต์ ยาสามัญประจำบ้าน ที่ควรมีติดบ้าน
บทบาทของ แอมเฟตามีน ในการรักษาโรค
แอมเฟตามีน มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขมนิดๆ เป็นสารที่อยู่ในกลุ่มที่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นสมองทำให้รู้สึกสบาย มีอารมณ์เป็นสุข พูดมากขึ้น ทำงานรวดเร็ว ไม่ง่วง ถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ จะทำให้รู้สึกมนงง นอนไม่หลับ ร่างกายไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ ฯลฯ เมื่อยาหมดฤทธิ์ลงร่างกายจะอ่อนเพลีย สมองมึนงง กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ บังคับตัวเองไม่ได้
ยาชนิดนี้มักใช้รักษาโรคสมาธิสั้น หรือผู้ที่มีปัญหาในการนอนประเภท โรคลมหลับ (Narcolepsy เป็นโรคเกี่ยวกับการนอนหลับที่มีอาการง่วงนอนตลอดเวลา และหลับในช่วงเวลาต่างๆ อย่างผิดปกติ ในบางครั้งอาจมีอาการคล้ายหลับ คือมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง คอตก เป็นต้น ขณะที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยมักมีอาการง่วงนอนตลอดเวลาและไม่ว่าจะนอนเท่าไรก็ยังรู้สึกง่วง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงอย่างมาก และยังใช้ในผู้ที่มีอาการซึมเศร้า โรคอ้วน โดยทำให้เบื่ออาหารแต่ถ้าหยุดใช้ยาทำให้อยากกินอาหารอีก ซึ่งการใช้ยาแอมเฟตามีนในการรักษาต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์
เมื่อ แอมเฟตามีน ใช้เป็นสารเสพติด
นอกจากนี้ แอมเฟตามีน ยังมีชื่ออื่นอีก เช่น ยาขยัน, ยาแก้ง่วง, ยาเพิ่มพลัง ยาบำรุงกำลัง ฯลฯ และ แอมเฟตามีน ยังเป็นส่วนประกอบของยาบ้า สามารถเสพเข้าสู่ร่างกายทั้งการรับประทาน ฉีดเข้าเส้นเลือด และสูดดมไอ และการออกฤทธิ์ ความรุนแรงจะแตกต่างกัน
Amphetamine มักถูกใช้ในทางที่ผิด หากใช้มากๆ และเป็นประจำ จะทำให้เกิดอันตรายกับทั้งระบบประสาท ระบบหัวใจ ระบบทางเดินอาหาร รวมถึงร่างกายส่วนอื่นๆ หากใช้เป็นประจำและในปริมาณที่มากจะทำให้เกิดอันตราย เสมือนร่างกายจะถูกใช้งานหนัก ไม่มีเวลาพักผ่อน สุขภาพทรุดโทรม ทำให้เกิดโรคทางกายที่รุนแรงได้ เช่น เส้นเลือดหัวใจอุดตัน หลอดเลือดในสมองแตก และยังส่งผลทำให้เกิดอาการทางจิต พฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางก้าวร้าว หงุดหงิด ขาดเหตุผล ประสาทหลอน ความจำเสื่อม
Cr. Wikipedia / กรมสุขภาพจิต