svasdssvasds

เครื่องผลิตออกซิเจน ตัวช่วยช่วงระหว่างกักตัวหรือ Home Isolation

เครื่องผลิตออกซิเจน ตัวช่วยช่วงระหว่างกักตัวหรือ Home Isolation

จากที่มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 และ Home Isolation หรือการแยกกักตัวที่บ้านก็เป็นอีกทางในการแบ่งปัญหาจำนวนผู้ป่วยเกินกำลังบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบกับสถานการณ์เตียงและออกซิเจนอาจไม่เพียงพอต่อผู้ป่วย

เครื่องช่วยหายใจ

และจากที่ก่อนหน้านี้เราได้ยินข่าวว่าเกี่ยวกับภาวะขาดแคลนออกซิเจนในประเทศอินเดีย ซึ่งออกซิเจนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีภาวะการขาดออกซิเจนในเลือดอย่างรุนแรง เมื่อระดับออกซิเจนในเลือดต่ำเกินไป ซึ่งสถานการณ์ในบ้านเราก็กำลังต้องการใช้ออกซิเจนเพิ่มขึ้นในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งหลายคนคงสงสัยว่าเครื่องผลิตออกซิเจนที่ใช้ที่บ้านกับที่โรงพยาบาลเหมือนหรือต่างกันอย่างไร? ติดตามข้อมูลได้เลย

เครื่องผลิตออกซิเจน หรืออีกชื่อคือ เครื่องเพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจน เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศโดยแยกเอาไนโตรเจนออก เพื่อให้ได้อากาศที่มีความเข้มข้นของออกซิเจนสูงกว่าปกติ เพื่อใช้บำบัดผู้ป่วยที่ต้องการออกซิเจน ส่วนใหญ่แพทย์มักจะให้ผู้ป่วยใช้เครื่องผลิตออกซิเจนควบคู่กับเครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้ได้รับออกซิเจนในปริมาณที่เพียงพอ ส่วนกลไกการทำงานของเครื่องผลิตออกซิเจนมี 2 กลไกหลัก คือ Pressure swing adsorption หรือการดูดซับโดยอาศัยความต่างของความดัน และการแยกก๊าซผ่านเยื่อ (Membrane gas separation) ซึ่งใช้  Zeolite เพื่อดูดซับไนโตรเจนออกจากอากาศที่ความดันสูง โดยไนโตรเจนจะยึดตัวติดกับผิวของซีโอไลท์ เมื่อความดันต่ำไนโตรเจนก็จะถูกปล่อยออกมาพร้อมกับออกซิเจนที่มีความบริสุทธิ์

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

 

เครื่องผลิตออกซิเจน

เครื่องผลิตออกซิเจนมี  2 ประเภท คือ

Continuous Flow Portable Oxygen Concentrators

เครื่องผลิตออกซิเจนชนิดนี้มีความสะดวกในการเคลื่อนย้ายและพกพา สามารถเก็บและผลิตปริมาณออกซิเจนได้เพียงพอและเหมาะสม ผลิตออกซิเจนได้ประมาณ 3-5 ลิตรต่อนาที เครื่องผลิตออกซิเจนแบบนี้สามารถใช้ได้ที่บ้านหรือพกพาไปใช้นอกสถานที่ได้ด้วย

Pulse Dose Portable Concentrators

เครื่องผลิตออกซิเจนชนิดนี้ค่อยๆ ลำเลียงออกซิเจนออกมาให้ใช้งานเมื่อผู้ป่วยหายใจเข้า โดยเครื่อง Pulse Dose สามารถผลิตออกซิเจนได้ประมาณ 450 – 1,250 มิลลิลิตรต่อนาที เหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องการออกซิเจนเล็กน้อยถึงปานกลางไปจนถึงประมาณ 2 ลิตรต่อนาที

ข้อดีของเครื่องผลิตออกซิเจน มีดังนี้

-เครื่องผลิตออกซิเจนสามารถใช้งานได้สะดวกสบาย ไม่เหมือนกับถังออกซิเจนที่ต้องเติมก๊าซออกซิเจน ซึ่งตัวเครื่องผลิตออกซิเจนจะมีที่บรรจุสารสำหรับผลิตและกรองออกซิเจน การใช้ก็ง่ายแค่เสียบปลั๊กแล้วเปิดเครื่อง ตัวเครื่องก็จะสามารถผลิตออกซิเจนออกมา

-เครื่องผลิตออกซิเจนประหยัดเวลา เพราะไม่ต้องเติมออกซิเจนบ่อยๆ เหมือนถังออกซิเจน แต่ตัวเครื่องผลิตออกซิเจนจะมีราคาสูงกว่า

 

ส่วนข้อเสียของเครื่องผลิตออกซิเจน คือ

-หากไฟดับเครื่องผลิตออกซิเจนจะไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากเครื่องผลิตออกซิเจนใช้ไฟบ้านจึงจำเป็นต้องมีถังออกซิเจนสำรองไว้ด้วย

Home Isolation

ส่วนแนวทางการการแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation  พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ กล่าวว่า Home isolation เป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ใช้กับผู้ป่วย 2 กรณี คือ

1.ผู้ป่วยที่วินิจฉัยใหม่ตามเกณฑ์ ระหว่างรอแอดมิทในโรงพยาบาล แพทย์เห็นว่าสามารถดูแลรักษาที่้บ้านเพื่อรอเตียงได้

 2.ผู้ป่วยที่ Step Down หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 10 วันจนอาการดีขึ้น และจำหน่ายกลับบ้านเพื่อรักษาต่อเนื่องที่บ้านอย่างเคร่งครัดอีก 4 วัน โดยจะมีหมอและพยาบาลติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้กล่าวว่า “สำหรับเกณฑ์พิจารณาผู้ป่วย Home Isolation จะต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อายุไม่เกิน 60 ปี อยู่คนเดียว หรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน ไม่มีภาวะอ้วน ไม่มีโรคร่วม เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง โดยสถานพยาบาลจะประเมินผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์ ลงทะเบียน แนะนำการปฏิบัติตัว ติดตามประเมินอาการ และรับส่งผู้ป่วยมารักษาในสถานพยาบาลหากมีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มทำแล้วที่โรงพยาบาลราชวิถี จำนวน 20 ราย ได้ผลดี ทุกรายอาการดีขึ้น”

 “ขณะนี้ มีผู้ขึ้นทะเบียน Home Isolation ที่ รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน และรพ.นพรัตน์ราชธานี 200 กว่าราย และขึ้นทะเบียน Community Isolation อีกกว่า 200 ราย และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมแล้วประมาณ 400-600 ราย เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว ซึ่ง สปสช.สนับสนุนงบประมาณค่าอาหารให้กับผู้ป่วยทุกราย สำหรับผู้ติดเชื้อที่ต้องการร่วมโครงการ ติดต่อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1330”

Cr. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข / www.hfocus.org / www.th.wikipedia.org