รู้จัก โครงการแลนด์บริดจ์ คืออะไร? ลงตรงไหนของภาคใต้ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน มั่นใจสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว และ ต้องการดันไทยเป็น HUB ขนส่งทางน้ำในระดับภูมิภาค เปิดไทม์ไลน์ ข้อดี-ข้อเสีย และผลกระทบ ที่อาจเกิดกับประเทศไทย เดี๋ยวโอ๋สรุปให้ฟัง
เปิดไทม์ไลน์โครงการแลนด์บริดจ์ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ยืนยันทำแน่ กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว และ ดันไทยเป็น HUB ขนส่งทางน้ำ ในระดับภูมิภาค คำถามคือ สิ่งที่ต้องแลก กับ ความคุ้มค่า คิดดีแล้วหรือไม่ ใครตามไม่ทัน เดี๋ยวโอ๋สรุปให้ฟัง
โครงการ แลนด์บริดจ์ คืออะไร?
รัฐบาลเศรษฐา ลั่นสร้างแน่สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ หรือ สะพานเชื่อมเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมต่อระหว่าง 2 ท่าเรือน้ำลึก ฝั่งอ่าวไทย และ อันดามัน ระหว่าง จ.ชุมพร และ จ.ระนอง โดยการสร้างเป็น ทางหลวง Motorway 6 เลนส์ ควบคู่กับการสร้างทางรถไฟทางคู่ ความยาว 90 กม. หนึ่งในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวระดับ Mega Project ใช้งบสร้าง 1 ล้านล้านบาท หวังผลักดันไทยเป็น ศูนย์กลางขนส่งสินค้าและน้ำมันในอนาคต
เปิดไทม์ไลน์ Mega project โครงการแลนด์บริดจ์
ต.ค. 66 ครม. รับทราบโครงการ
พ.ย. 66 - ม.ค. 67 ดำเนินการรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ ( Road Show )
ม.ค. - ธ.ค. 67 ดำเนินการจัดทำกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ( SEC)
เม.ย. - มิ.ย. 68 คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน
ม.ค. 68 - ธ.ค. 69 ดำเนินการออก พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ก.ค. - ส.ค. 68 เสนอ ครม. อนุมัติลงนามในสัญญา
ก.ย. 68 - ก.ย. 73 เริ่มการก่อสร้างได้
ต.ค.73 เปิดให้บริการได้
ข้อดีของโครงการแลนด์บริดจ์
1. ดันไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและน้ำมันของภูมิภาค สินค้าทางเรือจำนวนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องอ้อมช่องแคบมะละกาที่มีความแออัดสูง
2. ลดระยะเวลาการขนส่งทางน้ำ เชื่อมระหว่าง 2 ฝั่งทะเลไทย จากประเทศแถบตะวันออกไทย ไปยัง เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และ ยุโรป
จาก 9 วัน เหลือ 5 วัน
3. เป็นแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ( SEC) ที่จะเชื่อมกับ EEC คาดช่วยเพิ่ม GDP ภาคใต้ได้ จาก 2% เป็น 10% ต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี
4. เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว ดึงเอกชนเข้ามาลงทุน ทั้งการตั้งโรงงานเป็นฐานการผลิต เกิดเป็นนิคมอุตสาหกรรม โรงงานกลั่นน้ำมัน ทำให้เกิดการจ้างงาน กว่า 2.8 แสนตำแหน่ง ทั้ง จ.ระนอง และ จ.ชุมพร ตามรายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม รวมทั้งเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น ตาม สศช. คาดการณ์จาก 4.0 % เป็น 5.5 % ต่อปี
5. เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมาหาศาล โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งน้ำมัน ทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ทำให้ไทยเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
แต่ ข้อกังวล ก็มีเยอะไม่แพ้กัน เช่น ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
พรรคก้าวไกลโพสต์ Facebook Fanpage โพสต์แสดงความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมไว้ ดังนี้
1. การสร้างท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่ที่กำลังจะขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก เป็นพื้นที่เปราะบาง เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพันธุ์พืชหายาก เสี่ยงถูกทำลาย และมีโอกาสที่ไทยจะไม่ได้รับความช่วยเหลือยูเนสโก
2. เสี่ยงกระทบต่อการท่องเที่ยวที่ต้องเปลี่ยนไป รวมถึงชีวิตชายฝั่ง ทั้งคนและสัตว์
3. ผลกระทบกับธรรมชาติ ฝุ่น เสียง แสงไฟ มลภาวะ กระทบป่าชายเลนซึ่งเป็นระบบนิเวศที่กักเก็บ ก๊าซคาร์บอนได้ดีที่สุด
4. ปัญหาน้ำมันรั่วไหลทางทะเล รัฐบาลได้วางแผนระบบการกำจัดคราบน้ำมันที่มีประสิทธิภาพ และ มาตรการฟื้นฟูไว้หรือยัง? หรือจะมีกองทุนเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือไม่?
5.การขนส่งทางบกและทางรางต้องผ่านพื้นที่ป่า ต้องคำนึงถึงสัตว์ป่าด้วย
รวมถึงข้อกังวลของชาวบ้าน จ.ชุมพร และ ระนอง ที่อยากให้รัฐบาล
รับฟังความคิดเห็น ก่อนเริ่มโครงการ เพราะนอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อม ยังมีเรื่องการเวนคืนที่ดินมาทำโครงการ ซึ่งเป็นที่ดินทำการเกษตร ที่พวกเขาใช้ในการทำมาหากิน ยังไม่รวมผลกระทบการแย่งชิงน้ำ และการขุดเจาะอุโมงค์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลทั้งหมดนี้ ไม่ได้แปลว่า ห้ามรัฐบาลสร้าง เพียงแต่ว่าทุกอย่างมี 2 ด้าน เสมือนเหรียญ เราเห็นข้อดีมากมายจากโครงการนี้ แค่รัฐบาลต้องอย่าลืม คำนึงถึงผลกระทบอีกด้านด้วยว่า คุ้มค่าการลงทุนหรือไม่?
และคุ้มค่ากับทรัพยากรธรรมชาติบางอย่างที่ต้องเสียไปหรือเปล่า? คิดถึงเหตุการณ์และผลกระทบต่างๆให้ รอบคอบ รัดกุม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนในประเทศไทยให้มากที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :