จากข้อมูลที่มีการแชร์ต่อกันว่า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง หรือ Reserve Margin ควรมีแค่ 15-20% ก็พอแล้ว หากมีมากกว่านั้น คือมากเกินความจำเป็น รวมถึงการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้น เรื่องนี้ข้อเท็จจริงเป็นยังไง เดี๋ยวโอ๋สรุปให้ฟัง
การสำรองไฟฟ้า หรือเปิดประมูลรอบใหม่ ไม่ได้ทำให้ค่าไฟแพงขึ้นนะ
ลองนึกภาพ ไฟตก ไฟดับ ในประเทศหลายชั่วโมง คงต้องส่งผลกระทบอย่างมหาศาลกับทุกภาคส่วน ตีเป็นมูลค่าแทบไม่ได้ ตามปกติเพื่อป้องกันการผลิตไฟฟ้าได้ไม่เพียงพอ
กระทรวงพลังงาน จำเป็นต้องมี Reserve Margin หรือ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองตามแผน
ไว้คาดการณ์ กำลังผลิตไฟฟ้าให้เกินความต้องการเพื่อสำรองไว้ โดยวัดจากค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพียงจุดเพียง แต่ปัจจุบันทั่วโลก รวมถึงไทย ใช้ทั้ง RM และ ใช้ LOLE เพื่อวัดความต้องการใช้ไฟฟ้าให้เพียงพอ ต่อความต้องการจริงของคนทั้งประเทศ
แต่ตอนนี้มีข้อมูลว่า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง Reserve Margin ควรมีแค่ 15-20% ก็พอแล้ว เรื่องนี้ จริงหรอ? ไม่เป็นความจริงนะคะ ยกตัวอย่างเช่น ปี 2565 ที่ผ่านมา
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่เป็นไปตามคาด เศรษฐกิจถดถอย นักท่องเที่ยวเข้าไทยลดลง ความต้องการใช้ไฟฟ้าจึงน้อยลง กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เคยคาดไว้ จึงมากกว่าการใช้ไฟฟ้าจริง
ยิ่งประเทศที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเยอะ ยิ่งต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมากขึ้น เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพราะ พลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตได้ช่วงกลางวัน 4-5 ชม./วัน
พลังงานลม ผลิตได้ช่วงหัวค่ำและกลางคืน วันละ 6-7 ชั่วโมง ส่วน พลังงานน้ำ ผลิตได้แค่ในฤดูฝน ยกตัวอย่างเช่น สเปนมี Reserve Margin อยู่ที่ 180% สัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนมีสูงถึง 51.1% ดังนั้นที่บอกว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง ควรมีแค่ 15 - 20 % จึงไม่เป็นความจริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
Reserve Margin ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง? จริงหรอ?
ค่าไฟฟ้าที่ ไม่ได้แปรผันตามปริมาณ Reserve Margin สังเกตุจากช่วงโควิด-19 ปี 2565 ความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยลง ทำให้ Reserve Margin สูงขึ้น แต่ไม่กระทบค่าไฟ ส่วนปี 2558 ที่ปริมาณ Reserve Margin มีเพียง 29% แต่ค่าไฟสูงถึง 3.86 บาท
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟแพง มาจากต้นทุนเชื้อเพลิง การเปลี่ยนผ่านสัมปทาน มีผลต่อกำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทย รวมกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร สูงขึ้น ในปี 2564 ก๊าซมีราคาสูงขึ้น แต่รัฐตรึงค่าไฟฟ้าไว้ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน แต่ก็เป็นมาตรการที่ทำได้ในระยะสั้น
การเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ ไม่มีผลต่อค่าไฟฟ้า ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบ รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT ) ซึ่งมีผลในการดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพราะนักธุรกิจต่างชาติ จะเลือกลงทุนในประเทศที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้เพียงพอ ถ้าไทยมีไม่เพียงพอ จะลดขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ไป
โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เปิดรับซื้อใหม่จะเป็นไฟฟ้าราคาถูก
มีต้นทุนเพียง 2.0724 - 3.1014 บาท/หน่วย และราคาถูกกว่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยประเทศที่ 4.72 บาท/หน่วย ช่วยลดค่า Ft ส่งผลให้ค่าไฟลดลง เพราะลดการพึ่งก๊าซธรรมชาติที่ราคาผันผวน และมีต้นทุน 3.71 บาท/หน่วย ต้นเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพง
ส่วนเรื่องของการประมูลแข่งขันคัดเลือกผู้ลงทุน ต้องดูความพร้อม เช่น ที่ดิน เทคโนโลยี ประสบการณ์ การเงิน และแผนงาน โดยไม่ได้เปิดประมูลราคา เพราะในอดีตมีการประมูลแข่งขันด้านราคา นักลงทุนกลุ่มที่ไม่พร้อม แต่เสนอราคาถูกเกินจริงได้ไป สุดท้ายสร้างโรงไฟฟ้าไม่ได้ และจัดหาไฟฟ้าไม่ได้ตามแผน
ซึ่ง กกพ.จะดำเนินการเปิดประมูลไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รอบที่ 2 3,668 เมกะวัตต์ ให้เสร็จภายในปี 2566 ขณะนี้ได้รวบรวมโรงไฟฟ้าที่ผลิตตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 ไม่ได้ เช่น ไฟฟ้าจากลาวที่เข้าระบบไม่ทันปี 2571 รวมถึงรวบรวมส่วนที่ผลิตเข้าระบบไม่ทันตามแผน PDP และที่ กพช.เห็นชอบให้รับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นในรอบ 2 ต่อไป