ค่าการกลั่นน้ำมัน คืออะไร และ คำนวณอย่างไร พาชำแหละธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ยิ่งค่าการกลั่นน้ำมันเยอะ หมายถึงกำไเยอะ จริงหรอ? เดี๋ยวโอ๋สรุปให้ฟัง
ค่ากลั่นน้ำมัน คืออะไร? เจาะธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน หลังถูกกล่าวหาฟันกำไรเกินควร จากค่ากลั่นปีเดียวพุ่งพรวด แพงกว่าเดิม 10 เท่า จริงไหม?
เดี๋ยวโอ๋สรุปให้ฟัง
น้ำมันแพง ไม่แพง ต้องรู้ก่อนว่า ราคาน้ำมันหน้าปั๊ม 1 ลิตร
ประกอบด้วย ค่าอะไรบ้าง?
1. ค่าต้นทุนเนื้อน้ำมัน คือ
ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ซื้อจากหน้าโรงกลั่น อ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย ซึ่งก็คือตลาดสิงคโปร์
2. ค่าภาษีต่างๆ ได้แก่
ภาษีสรรพสามิต, ภาษีเทศบาล และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
3. ค่าหักเข้ากองทุนต่างๆ
ประกอบไปด้วย กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
4. ค่าการตลาด
คือ ต้นทุน, ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ
โดยส่วนที่เราจะพูดถึงกันวันนี้คือ ค่าการกลั่นน้ำมัน
ซึ่งอยู่ใน ส่วนของผู้ประกอบการโรงกลั่น ที่ขายน้ำมันให้ปั๊ม อยู่ในส่วนแรกตามที่ได้เกริ่นไป
ค่าการกลั่น หมายถึงอะไร?
ตามคำนิยามของ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) “กำไรเบื้องต้นของโรงกลั่นน้ำมันก่อนหักค่าใช้จ่าย" เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าบำรุงรักษาโรงกลั่น เป็นต้น
โดยกำไรของโรงกลั่น จะยึดโยงกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบและราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้” เพราะฉะนั้น ค่าการกลั่น ไม่เท่ากับ กำไรสุทธิ เพราะยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย ตามจริงของโรงกลั่น
ค่าการกลั่น เป็นเพียงตัวบอกกำไรเบื้องต้น ซึ่งคำนวณจาก ราคาเฉลี่ยของน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตได้ ลบกับ ต้นทุนวัตถุดิบ คือ ราคาน้ำมันดิบ รวมค่าขนส่ง รวมค่าประกันภัย รวมค่าเชื้อเพลิง รวมค่าสารเคมี ที่ใช้ในกระบวนการกลั่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ถ้าค่าการกลั่นสูง หมายถึง ผลประกอบการจะดี ใช่หรือไม่?
คำตอบ คือ ไม่เสมอไป เพราะ 3 ปัจจัยต่อไปนี้
1.มีความเสี่ยงจากการขาดทุนสต็อคน้ำมัน
เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ในช่วงต้นปี 2563 สายการบินหยุด การเดินทางในประเทศถูกจำกัด ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปลดลง ช่วงนั้นโรงกลั่น ขาดทุนสต๊อกน้ำมันกว่า 30,000 ล้านบาท
2.โรงกลั่นจำเป็นต้องลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
ให้สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นอื่นๆ ในภูมิภาค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะฉะนั้นโรงกลั่น ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมราคาซื้อ หรือ ขายน้ำมัน
3.ยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาด
เพราะฉะนั้น ผลประกอบการของโรงกลั่น มีโอกาสทั้งกำไร และ ขาดทุน เหมือนธุรกิจอื่นๆ ที่จะดูจากปัจจัยแค่ ค่าการกลั่นน้ำมัน ไม่ได้
แล้ว ค่าการกลั่น ปีเดียวแพงขึ้น 10 เท่า จริงไหม
เข้าใจก่อนว่า ธุรกิจโรงกลั่น ดำเนินการต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ตลอดทั้งปี
การเปรียบเทียบโดยเลือก จุดของเวลา ในแต่ละวัน จึงอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะ
1. น้ำมันดิบ ต้องสั่งซื้อล่วงหน้าจากต่างประเทศ เพราะใช้เวลาขนส่งนาน รวมถึงต้องสั่งปริมาณมากให้เพียงพอกับการใช้งานในคราวเดียว 10 – 15 วัน ดังนั้นการใช้ราคาน้ำมันดิบ และ น้ำมันสำเร็จรูป ณ จุดเวลาเดียวมาลบกัน จึงเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง
ต้องคำนวณในลักษณะเป็นค่าเฉลี่ยของช่วงเวลา เช่น รายไตรมาส หรือ รายปี
2. น้ำมันดิบ 1 ส่วน ไม่สามารถผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จได้ทั้งหมด 100 %
บางส่วนจะหายไประหว่างกระบวนการผลิต
เพราะระเหย การใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในกระบวนการกลั่น หรือ การเผาทิ้งเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ดังนั้นการคำนวณ มันต้องปรับสัดส่วนเปรียบเทียบให้เท่ากันเพื่อความถูกต้อง
3.กระทรวงพลังงานมีระบบในการติดตามความเคลื่อนไหวของราคา รวมทั้งค่าการกลั่นและค่าการตลาดของโรงกลั่นและผู้จัดจำหน่ายตลอดเวลา เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอ แลไม่ให้เป็นภาระต่อผู้บริโภคมากไป อยู่แล้ว
สรุปว่า
1. ค่าการกลั่นน้ำมัน ไม่ใช่กำไรสุทธิ ของโรงกลั่น
เพราะมีค่าใช้จ่ายหลังบ้านอีกหลายอย่างที่ต้องนำมาคำนวณด้วย
2. กำไรของโรงกลั่น ไม่ได้มากมายอ่ย่างที่คิด เพราะการดำเนินธุรกิจ
มีการถ่วงดุลราคาให้เหมาะสมตามกลไกตลาด
และทิศทางราคาน้ำมันของโลก ทั้งยังมีความเสี่ยงที่ต้องแบกรับจากต้นทุนที่มีความผันผวนตลอดเวลา
3. ค่าการกลั่น ไม่สามารถคำนวณ โดยใช้ข้อมูล ณ จุดของเวลาได้
ต้องใช้เป็นค่าเฉลี่ยในแต่ละช่วง และต้อง ปรับสัดส่วนเปรียบเทียบ ของปริมาณน้ำมันดิบ และ น้ำมันสำเร็จรูปเพื่อความถูกต้อง