ใครก็พูดถึง หนัง Gangubai Kathiawadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบใน Netflix โสเภณีผู้ทรงอิทธิพลที่คนอินเดียเคารพ "คังคุไบ" มีตัวตน จริงหรือไม่ เรื่องย่ออันสุดแสนสะเทือนใจในการต่อสู้เพื่อสิทธิทางกฏหมายของโสเภณีในอินเดีย ขอ2นาที เดี๋ยวโอ๋สรุปให้ฟัง
คังคุไบ มีตัวตนจริงหรือไม่? ทำไมใครๆก็พูดถึงเธอ ในเวลานี้
เสาร์ อาทิตย์นี้ ถ้ายังไม่มีเวลาดู Netflix ขอ 2 นาที เดี๋ยวโอ๋สรุปให้ฟัง
คำคมจาก คังคุไบ บทภาพยนตร์ที่โคตรปัง ปลุกพลังผู้หญิง
- อาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คือ โสเภณี
หากสวรรค์ขาดเราไปก็ไม่สมบูรณ์ ช่วยเคารพพวกเราบ้างเถอะ
- พวกเรามีศักดิ์ศรีมากกว่าทุกคนอีก เพราะศักดิ์ของพวกคุณ หายไปครั้งเดียว คือ หายไปตลอดกาล แต่พวกเราขายศักดิ์ศรีอยู่ทุกคืน เหมือนยังไงก็ไม่หมดไปสักที
- เราสนองตัณหาของผู้ชาย ปกป้องศักดิ์ศรีของผู้หญิง
ทุกคนล้วนมีอาชีพ คนที่มีความรู้จะขายสติปัญญา
เราขายร่างกายของเรา ทำงานหนักด้วย แต่ทำไมอาชีพเราที่ถูกมองว่าผิดศีลธรรม...
นี่แค่คำคมสุดจี๊ด ส่วนหนึ่งจากภาพยนตร์เรื่อง
คังคุไบ หญิงแกร่งแห่งมุมไบ ที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ตอนนี้
บอกเลย ฟังยังไงก็ไม่เหมือนดูเอง เรื่องราวที่ทำให้โอ๋ดูจบ
ต้องตั้งคำถามว่า อาชีพโสเภณี ควรเป็นอาชีพสุจริตได้หรือยัง?
แต่แล้ว คังคุไบ มีตัวตนจริงหรือเปล่า?
คังคุไบ แปลว่า แม่เล้าคังคุ มีตัวตนจริง สร้างจากหนังสือ The Mafia Queen of Mumbai โดย ฮุสเซน ไซดี แต่ก็เขียนมาจากเรื่องราวจริง ของ คังคุไบ กฐิยาวาฑี โสเภณีผู้เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีแห่งอินเดีย
เป็นที่เคารพของผู้คนในอินเดีย จนได้ฉายา ราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ หรือ นายหญิงกามธิปุระ เธอเสียชีวิตลงเมื่อปี 1977 ด้วยวัย 69 ปี ไม่มีลูกแท้ๆ แต่มีลูกบุญธรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โดย คังคุไบ ฝันอยากเป็นนักแสดง แต่กลับถูกคนรัก รามนิก
หลอกมาขายให้กับซ่องในเมืองกามธิปุระ ในราคา 223 บาท เท่านั้น ในวัยเพียงแค่ 16 ปี จากนั้นมาชีวิตเธอก็เละ ไม่ต่างจากหญิงสาวในซ่องคนอื่นๆ ถูกหลอกมาแบบไม่เต็มใจ แต่ก็ไม่สามารถขัดขืนได้
เมื่อจำใจขายศักดิ์ศรี ชีวิตก็ไม่มีวันเหมือนเดิม ไม่สามารถใช้ชีวิตในแสงสว่าง ไม่สามารถกลับไปหาครอบครัวได้ ไม่ได้รับการยอมรับ แม้แต่จะเปิดบัญชีธนาคาร ก็ยังไม่สามารถทำได้ เพราะโสเภณีนั้น ต่ำต้อย สกปก ผิดศีลธรรม และไม่ใช่ อาชีพสุจริต
ด้วยการถูกเอาเปรียบสารพัด จากทั้งแม่เล้า แมงดาและลูกค้า
คังคุไบ แม้ตกใจ และเสียใจ ที่ชีวิตพลิกผัน จากลูกทนาย กลายเป็น โสเภณี แต่เธอก็ไม่ย่อท้อ สะสมบารมี จนกลายเป็นแม่เล้าคุมซ่อง เธอไม่เคยบังคับให้ใครขายตัว เธอมักหยิบยื่นโอกาสให้เด็กสาวเสมอ เพราะเธอเข้าใจดีที่สุดว่า การถูกพรากโอกาสในชีวิตไป มันเจ็บปวดแค่ไหน
แต่ด้วยความฉลาดและไหวพริบ ความเจ็บปวดหล่อหลอม
นิสัยกล้าได้ กล้าเสีย ช่างเจรจาว่าความและแรงสนับสนุนของมาเฟีย ผู้มีอิทธิพลที่เธอไปขอความช่วยเหลือ ท้ายที่สุด เธอได้ขึ้นเป็นนักการเมืองท้องถิ่นได้สำเร็จ ดูแลโสเภณีและเด็กๆกว่า 4000 ชีวิตในเมืองกามธิปุระ จนเคยได้เข้าพบกับนายกรัฐมนตรีอินเดีย มาแล้ว
การเคลื่อนไหวของเธอ ถูกพูดถึง เป็นที่จดจำ สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อ โสเภณีในอินเดีย ให้มีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เธอพยายามเรียกร้องสิทธิสตรี โสเภณี ให้ถูกกฎหมาย เพราะต้องการจะบอกว่า ผู้หญิงทุกคนและทุกอาชีพ ต่างมีศักดิ์ศรีในตัวเอง
อาชีพโสเภณี ควรจัดเป็น อาชีพสุจริต ได้แล้วหรือไม่?
แม้เธอจะจากไปนานถึง 45 ปี แต่น่าแปลกที่ สิ่งที่เธอพูด กลับไม่ใช่เรื่องเก่า พวกเรายังคงเถียงกันไม่ตก ว่า อาชีพโสเภณี ควรจัดเป็น อาชีพสุจริต ได้แล้วหรือไม่? เก่าแก่ มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก กระนั้นแล้ว ทำไม พวกเขา หรือ เธอเหล่านี้ ถึงไม่เคยถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ประหนึ่งสุนทรพจน์ ที่คังคุไบ ได้กล่าวที่งานสิทธิสตรี ว่า
“...เราไม่เคยตัดสินใคร เมื่อเขามาอยู่หน้าประตู ไม่เคยถามวรรณะ ศาสนา สีผิว จะรวยหรือจนทุกคนจ่ายราคาเดียว พวกเราไม่เคยเลือกปฏิบัติ แล้วทำไม ทุกคนต้องเลือกปฏิบัติกับเราด้วย”
มันทำให้โอ๋นึกถึงบ้านเรา โอ๋ขอทิ้งคำถามไว้สักนิดนะคะว่า
บ้านเรา เป็นเมืองพุทธ อาชีพขายบริการ นั้นผิดศีลธรรม จริงหรอ?
(ผิดเพราะอะไร ?)
ผิดเพราะอาชีพไม่ดี หรือ ผิดเพราะคนที่ไปใช้บริการนั้นแต่งงาน มีภรรยาอยู่แล้ว? แล้วถ้าคนโสดไปใช้นี่ ผิดศีลธรรมหรือไม่?
จ่ายเงินไป ได้บริการมา อาชีพนี้ทำร้ายใครหรือ?
งั้นทำไมอาชีพโสเภณี ถึงไม่ถูกกฏหมายดูแลเหมือนอาชีพอื่นเสียที...