สรุปให้ ลำดับเหตุการณ์ ยกเลิกเกมฟุตบอลแมตช์หยุดโลกระหว่าง บราซิล-อาร์เจนติน่า โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขของบราซิลมองว่า มี 4 นักเตะทีมชาติอาร์เจนติน่า ละเมิดมาตรการควบคุมโควิด-19 ของบราซิล โดยเข้าประเทศมาแล้วไม่ยอมกักตัว
เกมอะไรขึ้นในเกมบราซิล-อาร์เจนติน่า ?
.
เกมฟุตบอลโลก 2022 โซนอเมริกาใต้ ที่แฟนบอลทั่วโลก รอคอย ระหว่าง บราซิล-อาร์เจนติน่า ต้องถูกยกเลิกไป หลังเริ่มเกมไปได้ราว 6-7 นาที นับเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักในโลกฟุตบอล
.
สาเหตุของการยกเลิกแมตช์นี้ ต้นเรื่องมาจาก มีเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขของบราซิลลงมาในสนามในกรุงเซาเปาโล เพื่อพยายามควบคุมตัว 3 นักเตะอาร์เจนตินา ที่เล่นเป็นตัวจริงในเกมนี้ นั่นคือ เอมิเลียโน่ มาร์ติเนซ ผู้รักษาประตู, คริสเตียน โรเมโร่ กองหลัง และ โจวานนี่ โลเซลโซ่ กองกลาง ในข้อหาละเมิดมาตรการควบคุมโควิดของบราซิล โดยเข้าประเทศมาแล้วไม่ยอมกักตัว
ย้อนเรื่องราวที่มาที่ไป
.
เท้าความกลับไปอีกนิด , แรกเริ่มเดิมที สโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ มีมติร่วมกันว่า จะไม่ปล่อยผู้เล่นของตัวเอง กลับไปเล่นให้ทีมชาติ ที่ต้องเล่นในประเทศพื้นที่สีแดงของโควิด-19 ซึ่งนั่นรวมถึงหลายประเทศในอเมริกาใต้ ทั้งบราซิล อาร์เจนติน่า แต่ทว่ามี 4 ผู้เล่นทีมชาติอาร์เจนติน่า ของ 2 สโมสร คือ ทอตแน่ม ฮอตเปอร์ ได้แก่ โจวานนี่ โล เซลโซ่ และ คริสเตียน โรเมโร่ กับ แอสตัน วิลล่า คือ เอมิเลียโน่ มาร์ติเนซ กับ เอมิเลียโน่ บูเอนเดีย ขึ้นเครื่องบินลำเดียวกันเดินทางกลับไปอาร์เจนติน่า เพื่อเตรียมตัวทำศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 3 นัด นั่นคือ วันที่ 2 ก.ย. ไปเยือน เวเนซูเอล่า, วันที่ 5 ก.ย. ไปเยือน บราซิล และ วันที่ 9 ก.ย. เล่นในบ้านพบกับโบลิเวีย
.
อาร์เจนติน่า ลงสนามเกมแรกกับ เวเนเซูเอล่า (ชนะ 3-1) เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ผ่านไปอย่างไม่มีปัญหา แต่มามีปัญหาในนัดต่อมา ที่พวกเขาต้องบินไปเยือนบราซิล คู่รักคู่แค้น เพราะ หน่วยงานรัฐสาธารณสุขบราซิล อ้างว่า 4 นักเตะของอาร์เจนติน่าที่เดินทางมาจากอังกฤษ (ประเทศพื้นที่สีแดงของโควิด-19) ต้องกักตัว 14 วัน ตามกฎของรัฐบาลบราซิล
.
นอกจากนั้น ทางการบราซิลบอกว่า ทั้ง 4 คน ยังปกปิดข้อมูล ทำให้ต้องโดนลงโทษในบราซิลด้วย จึงได้เกิดภาพเหตุการณ์เจ้าหน้าที่บุกลงมากลางสนาม อย่างที่สายตาคนทั่วโลกเห็น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทุกมิติ มุมมอง : คริสเตียโน่ โรนัลโด้ กับการคืนสู่อ้อมกอดแมนยูฯอีกครั้ง
ลีโอเนล เมสซี่ เปิดตัว เปแอสเช ใส่เบอร์ 30 เซ็นสัญญา 2 ปี ปิดฉาก 21ปี บาร์เซโลน่า
ส่วนฝั่งทีมชาติอาร์เจนติน่า โต้แย้งพร้อมยืนยันว่า พวกเขาทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบที่กำหนด ไม่เคยปกปิดข้อมูลใดๆ เพราะ นักเตะ 4 คนที่เป็นปัญหา เดินทางมาจากเวเนซูเอล่า ที่ไปเตะเกมล่าสุดบนแผ่นดินบราซิล พวกเขาไม่ได้มาจากอังกฤษอย่างที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด...อีกทั้ง เวเนซูเอล่า ยังอยู่แต่ใน “บับเบิ้่ล” ของบราซิล ทำให้ไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ
.
นอกจากนี้ ฝั่งทีมชาติอาร์เจนติน่ายังอ้างคำยืนยันจาก สมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้ หรือ คอนเมโบล CONMEBOL ด้วยว่า อนุญาตให้ทั้ง 4 คน ลงสนามได้ เพราะมีการสอบถามไปก่อนหน้านี้แล้ว และฝั่งทีมชาติบราซิลก็รับรู้เรื่องนี้ก่อนแล้ว
.
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้ CONMEBOL เพิ่งได้ออกกฎพิเศษขึ้นมา โดยระบุว่านักเตะจากพรีเมียร์ลีกอังกฤษที่มาแข่งฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก จะได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องกักตัวเหมือนประชาชนทั่วไป โดยนักเตะต้องทำการตรวจโควิด-19 อย่างชัดเจนว่าไม่ติดเชื้อแน่ๆ จากนั้นให้อยู่แต่ภายในกลุ่มนักเตะด้วยกันเองในพื้นที่บับเบิ้ล
รัฐบาลบราซิล คือคนแทรกแซงเกมฟุตบอล
.
เรื่องนี้ สมาคมฟุตบอลอาร์เจนติน่า, สหพันธ์ฟุตบอลบราซิล และ CONMEBOL : ทั้ง 3 ฝ่าย ทุกคนตกลงกันหมดแล้วว่า นักเตะ 4 คนดังกล่าว ลงสนามได้ ไม่มีปัญหา
.
แต่คนที่มองว่า เรื่องนี้ว่าเป็นปัญหาก็คือ ฝ่ายที่ 4 ฝ่ายรัฐบาลบราซิลนั่นเอง ที่ไม่ได้เห็นชอบด้วยกับเรื่องนี้ จึงเข้ามาแทรกแซงสั่งให้เกมหยุดทันที ทั้งที่เริ่มเกมฟุตบอลเริ่มไปไม่ถึง 10 นาที และสุดท้ายต้องยกเลิกไป
.
กรณีนี้ รัฐบาลบราซิลไม่สน กฏพิเศษใดๆของ สมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้ เพราะกฎหมายของประเทศสำคัญกว่านั่นเอง และเหตุการณ์นี้ นับเป็นอีกครั้ง ที่เกมกีฬาถูกแทรกแซงด้วยกฏหมายจากรัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่ง
.
เรื่องราวก็จบลงตรงนี้ อาร์เจนติน่าจะเดินทางออกจากบราซิลทันที เพื่อกลับบูเอโนสไอเรส ไปเล่นเกมฟุตบอลโลกกับโบลิเวีย ในวันที่ 10 ก.ย. ส่วนบราซิลก็จะอยู่ในบ้านต่อ รอเล่นกับเปรู ในวันที่ 10 เช่นกัน
.
ฟีฟ่าหนักแน่นฟุตบอลต้องไม่ถูกแทรกแซงด้วยการเมือง
.
ขณะที่ความเห็นต่อเรื่องนี้ ก็แตกเป็นสองฝ่าย 1.) ฝ่ายแรกก็บอกว่า รัฐบาลบราซิลทำดีแล้ว ที่สร้างความเท่าเทียม และรักษากฎอย่างเคร่งครัดโดยไม่ให้สิทธิพิเศษกับใคร ต่อให้จะเป็นนักฟุตบอล ถ้ามาจากประเทศ ประเทศพื้นที่สีแดงของโควิด-19 ก็ต้องมีบรรทัดฐานเดียวกันคือกักตัว 14 วัน
.
2.) ขณะที่อีกฝั่ง มองว่า รัฐบาลบราซิล แทรกแซงแบบนี้ ทีมชาติบราซิลจะโชคร้าย โดนปรับแพ้ เพราะกฏฟีฟ่ามีระบุไว้ว่า "ห้ามการก้าวก่ายกิจการของหน่วยงานรัฐต่อเกมฟุตบอล" หรือ ฟุตบอลของประเทศใดๆ จะต้องไม่ถูกแทรกแซงโดยการเมือง และเคสแบบนี้ก็ถือว่าอยู่ในลักษณะนี้นั่นเอง
.
ณ เวลานี้ สมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้ CONMEBOL ได้โพสต์ผ่านทวิตเตอร์แอคเคาท์อย่างเป็นทางการว่า เรื่องราวอันเป็นปัญหากำลังจะต้องรอการตัดสินจากทางฟีฟ่า ว่าจะมีบทลงโทษอย่างไร ต่อไป ?
.
สำหรับ กรณีของบราซิลนั้น ไม่ใช่เคสแรกที่เกิดขึ้น เพราะในอดีต ทีมชาติอินโดนีเซีย,กรีซ,อิหร่าน,คูเวต,บรูไน,ไนจีเรีย,แคเมอรูน เคยถูกแทรกแซงจากภาคการเมืองมาแล้ว ซึ่งถือเป็นการขัดกับธรรมนูญของฟีฟ่า และตอนนั้นก็ถูกลงโทษแบนไป โดยแต่ละประเทศก็โดนโทษแบนแบบลดหลั่นกันไป.