รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบอนุมัติวงเงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท เพื่อเยียวยากลุ่มลูกจ้างและผู้ประกอบการ ตามมาตรการบรรเทาผลกระทบโควิด-19
โดยการเยียวยาจะเน้นอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดจากเดิม 10 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา
9 กิจการที่ได้รับการเยียวยา มีดังต่อไปนี้
กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรงบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
ดูชัด ๆ มาตรการพักหนี้ 2 เดือน ช่วยลูกหนี้พื้นที่ล็อกดาวน์ มีอะไรบ้าง ?
ตั้งการ์ดเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือวินัย วิธีใช้ชีวิตช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่
ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 33 นอกจากจะได้รับชดเชยเหตุสุดวิสัย 50% แล้ว ผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทย จะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล เพิ่มเติมเป็นเงินอีกคนละ 2,500 บาท โดยโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น ส่วนนายจ้างจะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล ตามจำนวนลูกจ้าง รายละ 3,000 บาท สูงสุดลูกจ้างไม่เกิน 200 คน โดยนายจ้างบุคคลธรรมดา จะได้รับเงินโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเช่นกัน นายจ้างสถานะนิติบุคคล จะโอนเข้าบัญชีธนาคารตามชื่อนิติบุคคลนายจ้าง
มติ ครม.ดังกล่าว จะทำให้กลุ่มแรงงาน และผู้ประกอบการในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้รับการเยียวยา
-นายจ้างประมาณ 160,000 ราย เป็นเงิน 6.4 พันล้านบาท
-ลูกจ้างมีจำนวน 2.8 ล้านราย เป็นเงิน 7.1 พันล้านบาท
โดยลูกจ้างและนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถตรวจสอบสิทธิ์ได้ทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป และคาดว่าลูกจ้างและนายจ้างในพื้นที่ 10 จังหวัด จะได้รับเงินเยียวยาในวันที่ 6 สิงหาคม 2564