วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ดูเหมือนจะกลับมาเป็นที่สนใจของประชาชนไทยอีกครั้ง หลังจากอนุทิน ชาญวีรกูล บอกว่า ติดต่อผู้ผลิตไม่ได้ ทั้งที่อย.ไทย อนุมัติขึ้นทะเบียน 3 เดือนแล้ว การเจรจา 5 ล้านโดส ก็มีขึ้นนานแล้ว คำถามจากภาคประชาชนที่ทุกคนย่อมอยากรู้ว่า เกิดอะไรขึ้น ?
เกิดอะไรขึ้นกับวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
เกิดอะไรขึ้นกับการนำเข้าวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ทำไมอยู่ดีๆก็หาย...? คำถามนี้ย่อมเกิดขึ้น และเป็นสิ่งคาใจต่อประชาชน เพราะว่าสถานการณ์โควิด-19 ของไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อยอดนิวไฮขึ้นเรื่อยๆ และการนำเข้าวัคซีนต้องมีคำถามที่ชัดเจนจาก ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง อย่าง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ก่อนหน้านี้ อนุทิน ชาญวีรกูล เคยบอกไว้เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2021 ว่า การเจรจาจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมกับ บริษัทแจนเซ่น ซึ่งผลิตวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5 ล้านโดส โดยอยู่ระหว่างรอลงนามบันทึกการสั่งซื้อวัคซีน แต่สุดท้ายวันที่ 30 มิถุนายน กลับเปิดเผยว่า ตอนนี้ไม่สามารถติดต่อบริษัทผู้ผลิตได้ ซึ่งพบว่า เป็นเหมือนกันทั่วโลก ทั้งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. ไทยแล้วก็ตาม
โดย วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นวัคซีน รายที่ 3 ที่อ.ย.ไทย ให้การรับรอง ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม แต่ทว่า ผ่านไปแล้ว 3 เดือนเศษแล้ว สิ่งที่ตามมา จึงมีคำถามมากมายว่า เพราะเหตุใด การเจรจาจากรัฐบาลไทยจึงไม่สามารถนำวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มาฉีดให้คนไทยได้เลย แม้แต่เข็มเดียว จน ณ ปัจจุบัน
สรุปไทม์ไลน์วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันในไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อังกฤษอนุมัติวัคซีนโควิด19 เข็มเดียว "แจนเซ่น" ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
งานวิจัยชี้ วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ป้องกันโควิดกลายพันธุ์ได้
79 ประเทศใช้จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
สำหรับ วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นวัคซีนที่ผลิตแบบเวคเตอร์ วัคซีน (vector vaccines) เช่นเดียวกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนสปุตนิค วี
วัคซีนของ บริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จะเป็นการใช้อนุภาคเทียม (Pseudovirus) หรือการใช้ไวรัสไม่ก่อโรค แล้วฝากส่วนหนึ่งของไวรัสที่ก่อโรคเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตัวไวรัส เพื่อส่งสารพันธุกรรมของโควิด-19 เข้าไปในเซลล์มนุษย์ จนกระทั่งกระตุ้นให้เกิดแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านโรคในที่สุด ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับการผลิตวัคซีนโรคอีโบลา ที่ผ่านการอนุมัติโดยองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency) หรือ EMA
ปัจจุบัน มี 2 ประเทศอย่างเป็นทางการ ที่ใช้วัคซีนจอห์นสันแอนด์ จอห์นสัน แบบเต็มรูปแบบในการกันโควิด-19 นั่นคือ ออสเตรเลีย กับ สวิตเซอร์แลนด์
ขณะที่ อีก 77 ประเทศทั่วโลก ใช้วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แบบวัคซีนฉุกเฉิน อาทิ มาเลเซีย,ฟิลิปปินส์ ,สหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศไทย ด้วยที่มีแนวคิดจะใช้ วัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันเป็นวัคซีนฉุกเฉิน
อย่างไรก็ตาม ณ เข็มนาฬิกาเดินอยู่ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีคนไทยคนไหนได้รับการฉีดวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันเลย ทั้งที่เวลาล่วงเลย มานับตั้งแต่วันที่ อย. รองรับ 3 เดือนแล้ว ก็ตาม
จุดเด่นคือฉีดเข็มเดียว
กลุ่มเป้าหมายของคนที่จะฉีดวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันนั้นคือ ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และอีกหนึ่งจุดเด่นของวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็คือ สามารถฉีดได้ด้วยจำนวนโดสเดียว ขณะที่วัคซีนโควิด-19 ตัวอื่นๆอาจจะต้องใช้การบู้ทภูมิคุ้มกัน 2 โดส และช่วงหลังมีการเปิดเผยว่า อาจจะต้องฉีดถึง 3 โดสในวัคซีนบางประเภท
และ สาเหตุที่ทำให้วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน กำลังได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ นั่นก็เป็นเพราะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโควิด-19 ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้ถึง 85% โดยไม่มีความแตกต่างกันใน 8 ประเทศ 3 ภูมิภาค ในกลุ่มอาสาสมัครทุกวัย รวมถึงไม่พบผู้เสียชีวิต หรือต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หลังได้รับวัคซีนในช่วงระหว่าง 28 วัน ในการพัฒนาภูมิคุ้มกันด้วย
มีประสิทธิภาพประมาณ 66% - ฉีดผู้สูงอายุได้
เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม มีการทดลอง วัคซีนจอห์นสันแอนด์ จอห์นสัน เฟส 3 ในอาสาสมัครประมาณ 44,000 คน ในหลายประเทศ ได้แก่ อาร์เจนติน่า, บราซิล, ชิลี, โคลอมเบีย, เม็กซิโก, เปรู, แอฟริกาใต้ และอเมริกา พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการปานกลางถึงรุนแรงหลังได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 สัปดาห์เท่ากับ 66.9%
นอกจากนี้ ในการทดลองเฟส 3 มีกลุ่มอาสาสมัครที่เป็นผู้สูงอายุ 34.6% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่มากกว่าวัคซีนของ 2 บริษัทแรกที่ได้รับอนุมัติในไทย และถ้าแยกย่อยลงไปอีกจะมีผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปีอยู่ 3.7% ดังนั้นวัคซีนนี้จึงสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้สูงอายุได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังมี งานวิจัยจากศูนย์การแพทย์ในบอสตัน ชี้ วัคซีนต้านเชื้อโควิด19 ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน สามารถป้องกันโควิดกลายพันธุ์ได้เช่นเดียวกับขอวัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนโมเดอร์นา เพียงแต่ได้ผลน้อยกว่าในโควิดเบต้าและโควิดแกมมา