ปัจจุบันเรื่องของ GMOs ในสิ่งมีชีวิตเป็นเรื่องที่นานาชาติส่วนใหญ่ไม่ให้การยอมรับ เพราะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลาสวยงาม อย่าง ปลาเรืองแสง ซึ่งเกิดจากการตัดแต่งพันธุ์กรรม เป็นที่นิยมเลี้ยงกันมาก
ปลาเรืองแสงปลา เป็นปลาที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms หรือ GMOs) ด้วยเทคนิคการนำยีนส์ที่ได้จากแมงกะพรุนหรือดอกไม้ทะเลบางชนิดไปใส่ไว้ใน DNA ที่ควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมของปลา และจะสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเด่นขึ้นมา เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงไฟ Black light จะทำให้ตัวปลาเรืองแสงสะท้อนขึ้นมาเกิดความสวยงามแปลกตา ซึ่งชนิดของสีเรืองแสงที่มีนิยมในปัจจุบัน มี 6 สี ได้แก่ สีเขียว (Electric Green) สีฟ้า (Cosmic Blue) สีแดง (Starfire Red) สีส้ม (Sunburst Orange) สีชมพู (Moonrise Pink) และสีม่วง (Galactic Purple)
ซึ่งจากความนิยมเลี้ยง ปลาเรืองแสงปลา อาจส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับชนิดพันธุ์ที่มีในท้องถิ่น หากเข้าไปแทรกอยู่ในยีนส์แล้ว ยากที่จะเอาออกทำให้สูญเสียความเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมไป ถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่น่ากังวลอาจส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม สร้างความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยของมนุษย์
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
ส่อง 5 แผนงาน “ทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมฯ” ของแบงก์ชาติ
เดินหน้าสู่ผู้นำ EV Charging Station ขยายสถานีชาร์จ EV ในเซ็นทรัลทั่วประเทศ
ลมหายใจเพื่อเมือง ปตท. ปลูกต้นไม้ 100,000 ต้น ทำไมคนกรุงควรมีพื้นที่สีเขียว
ดังนั้น หากประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงปลา GMOs อาจส่งผลกระทบทำให้ถูกกีดกันทางการค้าจากนานาชาติ ทั้งในเรื่องของความเข้มงวดของการนำเข้าปลาสวยงาม หรืออาจร้ายแรงไปจนถึงการห้ามค้าขายปลาสวยงามที่เป็น หรือเสี่ยงที่จะเป็นปลา GMOs
การตรวจสอบสัตว์น้ำตัดต่อพันธุกรรมเรืองแสงในปลาที่เรืองแสงชัดเจน มีขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบโดยละเอียด ด้วยวิธีตรวจสอบจากสารพันธุกรรม (DNA) โดยเทคนิค PCR หรือ Real time PCR ก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายที่สูง ส่วนการตรวจสอบเบื้องต้น สามารถใช้ไฟฉาย UV Black light ส่องดูได้
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีปลาสวยงามหลากหลายชนิด ที่นำมาพัฒนาพันธุ์ด้วยวิธีการตัดต่อพันธุกรรมเป็นปลาเรืองแสง เช่น ปลาเสือเยอรมัน (Tiger Barb) ปลาม้าลาย (Danio) ปลากลุ่มเตตร้า (Longfin Tetra & Tetra) ปลาเทวดา (Angelfish) และปลากาแดง (Redfin Shark) ที่น่ากังวล คือ ปลากัด (Betta) เป็นสัตว์น้ำชนิดใหม่ล่าสุดที่นำมาดัดแปลงพันธุกรรมเรืองแสง กลายเป็น "ปลากัดเรืองแสง" และเริ่มออกขายในตลาดปลาสวยงามกว่า 1 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายต่อวงการปลากัดไทยอย่างมาก
หากไม่ยับยั้ง คาดว่าในอนาคตอาจเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับชนิดพันธุ์ที่มีในท้องถิ่น และก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ต่ออุตสาหกรรมปลาสวยงามของไทยอย่างแน่นอนขณะเดียวกัน ผู้เพาะเลี้ยงยังมีความผิดทางกฎหมาย ตามมาตรา 65 และ มาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 และบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 เพื่อป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ มีโทษทั้งจำคุก ไม่เกิน 1-2 ปี ปรับไม่เกิน 1-2 ล้านบาท