เมื่อก้าวเข้าสู่หน้าฝน ควรเตรียมความพร้อมรับมือ ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ที่จัดเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะเป็นช่วงที่อัตราป่วยทำสถิติสูงสุด
ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก โรคระบาดที่มาช่วงหน้าฝน รวมถึงในช่วงนี้ยังต้องระมัดระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่อาจจะกลับมาอีกระลอก เนื่องจากสภาพอากาศที่เริ่มเย็นลง และมีความชื้นสูง เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเป็นอย่างมาก
ในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เรายังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เพื่อร่วมลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด อีกสิ่งที่ต้องไม่ประมาทเลยก็คือ การเฝ้าระวัง โรคระบาด ที่มักจะมาเยี่ยมเยียนตามฤดูกาลด้วย
โรคระบาดตามฤดูกาลนั้นก็คือ ไข้หวัดใหญ่ ที่มาจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา และ ไข้เลือดออก ที่มาจากการเพาะพันธุ์ของยุงลาย ที่เป็นตัวพาหะของโรค โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก หากไม่ระวังให้ดี ยังมีโอกาสการติดโรคทั้งสองอย่างพร้อมกันได้อีกด้วย
แพทย์หญิง นลินรัตน์ รักแดง กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลวิรัชศิลป์ จังหวัดชุมพร โรงพยาบาลในเครือ พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับทั้ง 2 โรคนี้ให้ได้รู้เท่าทัน และเฝ้าระวังโรคอย่างถูกต้อง
โรคไข้หวัดใหญ่ จัดเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) อาการของโรคคือ มีไข้สูง ไอ มีน้ำมูก อ่อนเพลียเฉียบพลัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ เจ็บคอ คอแดง สามารถติดต่อกันได้จากการหายใจ ไอ และจาม
ประเทศไทย มีสถิติการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ค่อนข้างสูง ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคพบว่า เพียง 5 เดือนแรกของปี 2563 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เกือบ 100,000 ราย โดยเด็กอายุ 0-9 ปี นับว่ามีอัตราป่วยสูงสุด
ฉีดวัคซีน ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
แม้ว่าในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เป็นจำนวนมาก แต่โรคนี้มีวัคซีนป้องกัน ซึ่งสามารถลดโอกาสการติดเชื้อได้สูงสุดถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และลดความรุนแรงของอาการ การเกิดภาวะแทรกซ้อน โอกาสในการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และการเสียชีวิตลงได้
นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้อีกด้วย ดังนั้น จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากเชื้อไวรัสมีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์อยู่เสมอ
โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) มียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมักจะไปวางไข่ในที่ที่มีน้ำขังนิ่ง หากเราโดนยุงลายตัวที่มีเชื้อมากัดเข้า เชื้อก็จะเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งอาจทำให้มีอาการไข้เฉียบพลัน และไข้สูงลอยเกินกว่า 2 วัน มีอาการอ่อนเพลีย อาจมีอาการผื่น หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องร่วมด้วย
แม้ว่าผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เคยได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งมาแล้วจะมีภูมิคุ้มกัน แต่หากได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ต่างออกไปจากครั้งแรก ก็ยังสามารถป่วยเป็นโรคนี้ได้เช่นเดิม และโดยทั่วไปอาการของโรคครั้งที่สองมักรุนแรงมากกว่าครั้งแรก
เด็กเล็ก เป็นกลุ่มเสี่ยง ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรระมัดระวังบุตรหลาน และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการตามข้างต้น รีบนำบุตรหลานเข้าพบแพทย์โดยด่วน
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรค ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก หรือเรื่องสุขภาพอื่นๆ สามารถขอคำปรึกษาจาก ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ได้ทั้ง 9 แห่ง ใน 8 จังหวัด
โรงพยาบาลในเครือ ได้แก่ โรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ, โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 จังหวัดนครสวรรค์, โรงพยาบาล พริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จังหวัดนครสวรรค์, โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี, โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก, โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์, โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร จังหวัดพิจิตร, โรงพยาบาลศิริเวชลำพูน จังหวัดลำพูน และ โรงพยาบาลวิรัชศิลป์ จังหวัดชุมพร
สามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่เฟซบุ๊ก: Principal Healthcare Company