แชร์ติดต่อมาหลายปี ต่อกันเป็นทอดๆ ถึงวันนี้เรื่อง “ดื่มน้ำเย็น” โดยเฉพาะในฤดูร้อนแล้ง อากาศระอุ เป็นต้นเหตุให้เส้นเลือดแตก จากเหตุหลอดเลือดตีบ ....ล้วนเป็นเรื่องเท็จ ไม่ใช่ความจริงเลย
สารพัดความเชื่อเรื่อง “การดื่มน้ำเย็น” ที่ไม่ถูกต้อง ตั้งแต่.....
ดื่มน้ำเย็น ทำให้เป็น”โรคหัวใจ”
ดื่มน้ำเย็นหลังมื้ออาหาร จะทำให้ไขมันเกาะตัว
รวมไปถึงดื่มน้ำอุ่นช่วยรักษาโรคเบาหวานความดันโลหิตสูงโรคมะเร็ง
เรื่องจริงให้ฟัง นพ.กรภัค หวังธนภัทร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีคำตอบให้ว่า ไม่จริง เพราะร่างกายคนเรามีการปรับสมดุลให้อุณหภูมิคงที่ เพื่อให้ระบบต่างๆ ทำงานได้เป็นปกติ น้ำเย็นเมื่อดื่มเข้าไป ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกเย็นขึ้นที่เยื่อบุทางเดินทางอาหาร แต่ไม่ได้จะไปทำให้หลอดเลือดแตกหรือระเบิด การเอาน้ำเย็นมาล้างเท้า ก็แค่ทำให้ผิวหนังเรารู้สึกเย็น ไม่ได้จะทำให้ตาบอดได้
คุณหมอกรภัค อธิบายอีกว่า ขณะที่คนเราอยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ร่างกายของเราไม่ได้จะมีอุณหภูมิ 40 องศาเท่ากับภายนอกไปด้วย ดังนั้น การกินกินน้ำเย็นในเวลานั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการกินน้ำเย็นในเวลาธรรมดาที่อุณหภูมิไม่ถึง 40 องศา ส่วนที่บอกว่าคนเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อาบน้ำเย็นแล้วจะขยับขากรรไกรไม่ได้ ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น จริงๆ แล้ว คนที่เป็นหลอดเลือดสมองอยู่ในห้องเย็นๆ แล้วไปตากแดดนานๆ กลับจะส่งผลกระทบมากกว่า ... ควรระวังเรื่องลมแดด หรือฮีทสโตรก มากกว่าด้วยซ้ำ
น.ส.สุทัตตา สุรัสสนันท์ นักโภชนาการ โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล แนะว่า ไม่ควรดื่มน้ำเย็นจัด ในขณะที่ร่างกายมีอุณหภูมิภายนอกสูงอยู่ ส่งผลให้อวัยวะภายในบิดตัวอย่างรุนแรง การดื่มอาหารเย็นจัด หลังเพิ่งออกแดด จะทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทัน ดึงพลังงานจากร่างกายมาใช้เยอะ เพื้่อเปลี่ยนความเย็นของน้ำให้เท่ากับอุณหภูมิของร่างกาย อาจเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดท้องได้ พยายามค่อยๆจิบน้ำทีละน้อย เวลาออกแดด เพื่อไม่ให้กระหายจนน้ำมากทีเดียว
นายสง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ ก็ตอบคำถามการดื่มน้ำเย็นจัดในหน้าร้อนว่า เสี่ยงทำให้เกิดอาการเกร็งตามร่างกาย เป็นตะคริว กระเพาะลำไส้เกร็ง เหตุสูญเสียเหงื่อ แต่ไม่ถึงเส้นเลือดแตก